11.24.2552


ปลาปอมปาดัวร์ หรือจะเรียกว่าปลาดิสคัสก็ได้นะคะ มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Symphysodon ชื่อสามัญก็คือ Discus อยู่ในครอบครัว Cichlidae รูปร่างลักษณะจะมีรูปทรงกลม ลำตัวแบน มีความกว้างของลำตัวมาก จนมีลักษณะคล้ายรูปจาน ครีบหลังและครีบท้องเรียงเป็นแถวยาวตลอดจนถึงโคนครีบหาง มีลวดลายและสีสันบนลำตัวหลายสีตามชนิดและสายพันธุ์ ปลาปอมปาดัวร์นี้เป็นที่นิยมเลี้ยงของเหล่านักเลี้ยงปลาสวยงามเพราะมีราคาดี ตลาดมีความต้องการมากทั้งในและต่างประเทศ แต่เนื่องจากเป็นปลาที่เลี้ยงค่อนข้างยาก ผู้เลี้ยงมือใหม่จึงมักจะไม่ค่อยประสบผลสำเร็จในการเลี้ยงกันนัก ดังนั้นเรามาเริ่มต้นดูแลเอาใจใส่เจ้าปอมปาดัวร์กันดีกว่า เริ่มต้นเมื่อเราต้องการเลี้ยงปลาปอมปาดัวร์ สิ่งแรกที่ต้องคำนึงถึงก่อนคือ บ้านของพวกมันนั่นเอง ควรที่จะมีการเตรียมพร้อมก่อนที่จะนำปลามาเลี้ยง
1.ตู้ปลา เป็นตู้กระจก ขนาดที่ใช้ในการเลี้ยงก็ขึ้นอยู่กับความต้องการของแต่ละคนว่าต้องการขนาดใหญ่หรือเล็ก และความสะดวกของสถานที่ในการเลี้ยง ส่วนสถานที่วางตู้ควรวางในสถานที่ที่ไม่พลุกพล่านมากนัก เนื่องจากปลาปอมปาดัวร์เป็นปลาที่ตื่นตกใจง่าย
2.ระบบกรองน้ำ ซึ่งจะช่วยลดการเปลี่ยนถ่ายน้ำ และระบบการให้อากาศ เพื่อช่วยเพิ่มปริมาณออกซิเจนในน้ำให้กับปลา และ Heater เพื่อช่วยปรับอุณหภูมิของน้ำด้วย
3.น้ำ ต้องแน่ใจว่าในน้ำไม่มีคลอรีนตกค้างอยู่ ควรมีการพักน้ำก่อนที่จะนำมาใช้ คุณภาพน้ำที่ใช้ในการเลี้ยงปลาปอมปาดัวร์ต้องเป็นน้ำที่สะอาด หากสภาพน้ำไม่เหมาะสมจะทำให้ปลาเกิดความเครียด มีอาการลำตัวดำคล้ำ สีไม่สดใส ดังนั้นควรดูแลใส่ใจคุณภาพน้ำเป็นพิเศษ คุณภาพน้ำที่เหมาะสมคือ มีค่า pH 6.4-7.5 อุณหภูมิ 25-32 องศาเซลเซียส ควรมีการถ่ายน้ำ 10-20% ทุกวันหรือวันเว้นวัน
4.อาหาร ให้อาหารวันละ 2 ครั้ง หรือตามความต้องการในปริมาณที่เหมาะสม เนื่องจากถ้าหากอาหารเหลือจะทำให้น้ำเสียง่าย อาหารที่ใช้อาจเป็นอาหารสด เช่น ไรแดง ทะเล หนอนแดง หรืออาหารสำเร็จรูปก็ได้
เมื่อรู้ขั้นตอนการเตรียมพร้อมที่จะเลี้ยงแล้ว จากนั้นก็เริ่มมองหาปลาปอมปาดัวร์สายพันธุ์ที่เราชอบมาเลี้ยง ซึ่งสายพันธุ์ที่นิยมเลี้ยงและมีการประกวดในงานปลาสวยงามต่างๆได้แก่ Brown Discus, Red Discus, Blue Diamon, Snake Skin, Striped Pigeon Blood, Solid Pigeon Blood, Cobolt Blue, San Merah และหลังจากที่เราซื้อปลามาแล้ว ก็นำถุงที่บรรจุปลามาลอยในน้ำเพื่อให้ปลามีการปรับสภาพตัวเอง แล้วก็ค่อยปล่อยปลาลงเลี้ยงในตู้
ทั้งหมดนั้นเป็นความต้องการของเจ้าปลาปอมปาดัวร์ ซึ่งถ้ามีการดูแลเอาใจใส่เป็นอย่างดีแล้ว เพียงแค่นี้เจ้าปอมปาดัวร์จะต้องอยากมีชีวิตอยู่กับเราไปอีกนานแสนนานอย่างแน่นอน

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

Custom Search

บทความที่ได้รับความนิยม