11.24.2552

ปักเป้า


ปลาปักเป้าน้ำจืดในประเทศไทยนั้นมีอยู่ 3 สกุล 12 ชนิด หากยังไม่ทราบสามารถอ่านรายละเอียดที่ผมนำมาฝากได้เลยครับเริ่มจาก
สกุล Carinotetraodon
ปลาปักเป้ามีลักษณะเด่นอยู่ที่ว่า เพศผู้และเพศเมียจะมีความแตกต่างกันมากในเรื่องรูปร่างและสีสัน เพศผู้จะมีลำตัวใหญ่กว่า ลำตัวแบนข้างมากกว่า และมีสีสันสวยงามกว่าเพศเมีย นอกจากนี้ในการแสดงความก้าวร้าวเพศผู้สามารถกางผิวหนังบนส่วนหัวและท้องได้ ปักเป้าสกุลนี้มีขนาดค่อนข้างเล็กกว่าสกุลอื่น ที่สำคัญยังมีปักเป้าขนาดเล็กที่สุดในโลกอย่าง เจ้าปักเป้าสีเหลืองตัวจ้อย Yellow Puffer (C. tarvancoricus) ร่วมเป็นสมาชิกด้วยครับ
ปลาปักเป้าสมพงษ์ (ปลาสวยงาม) , ปักเป้าตาแดง (ฝั่งธนบุรี) Carinotetraodon lorteti ปลาสกุลนี้น่าจะพบในประเทศไทย 2 ชนิด โดยทั่วไปจะรู้จักเพียงชนิดเดียวและเรียกกันโดยทั่วไปว่า “ปักเป้าสมพงษ์” ปักเป้าสมพงษ์ถูกค้นพบโดยคนไทยชื่อ นายสมพงษ์ เล็กอารีย์ จัดอยู่ในวงศ์ (Tetraodontidae) มีลำตัวสีเทาอมเขียว ใต้ท้องสีขาว มีลวดลายสีเทาเข้มขนาดใหญ่พาดบนแผ่นหลังและข้างลำตัว สามารถปรับเปลี่ยนสีลำตัวให้เข้มหรือจางได้ตามสภาพแวดล้อม ตามีสีแดงสามารถกลอกกลิ้งไปมาได้ ตัวผู้และตัวเมียแตกต่างกันอย่างชัดเจน กล่าวคือ ตัวผู้จะมีลำตัวใหญ่กว่าตัวเมีย มีตัวสีแดง ขณะที่ตัวเมียมีขนาดเล็ก ลำตัวมีสีเขียว มีขนาดโตเต็มที่ประมาณ 3 นิ้ว พบกระจายอยู่ทั่วไปตามแม่น้ำลำคลอง โดยมักหลบอยู่ใต้กอผักตบชวา ปลาชนิดนี้จับง่ายเนื่องจากเป็นปลาที่เคลื่อนที่ได้ช้า พบว่าในการช้อนตักแต่ละครั้งจะได้ปักเป้าประมาณ 3-4 ตัว/กอผักตบชวาหนึ่งกอ





ปลาปักเป้าสมพงษ์ Carinotetraodon lorteti
ในปัจจุบันปลาปักเป้าสมพงษ์สามารถเพาะขยายพันธุ์ได้แล้วในตู้เลี้ยง นิยมให้หนอนแดงและไรทะเลเป็นอาหาร ส่วนที่อาศัยอยู่ตามธรรมชาติจะกินกุ้งตัวเล็ก ๆ ที่อยู่ตามกอผักตบชวา
ปักเป้า Carinotetraodon cf. salivator
พบในเขตภาคใต้แถบแม่น้ำโกลกและแม่น้ำตาปี นอกจากนี้ยังมีรายงานการแพร่กระจายในคาบสมุทรมาเลย์และทางตอนเหนือของกาลิมันตันอีกด้วย
สกุล Chonerhius
ปักเป้าสกุลนี้มีลักษณะเด่นกว่ากลุ่มอื่นตรงที่มีลำตัวค่อนข้างแบนข้าง มีครีบหลังและครีบก้นค่อนข้างใหญ่ ว่ายน้ำได้เร็วกว่าปักเป้าน้ำจืดกลุ่มอื่น พองตัวได้น้อยกว่าปักเป้ากลุ่มอื่นและจัดเป็นปักเป้าที่มีความอันตรายต่อความเป็นชายมากกว่ากลุ่มอื่นในประเทศไทยพบเพียงสองชนิดครับ
ปักเป้าทอง Chonerhinus modestus
ปักเป้าทองจัดอยู่ในวงศ์ (Familty Tetraocloncidac) มีลักษณะเด่น คือ มีฟัน 4 ซี่ รูปร่างแบนข้างมากกว่าปลาปักเป้าทั่วไป สีลำตัวเป็นสีเขียวทองสดใสด้านท้องสีขาว มีครีบหลังและครีบทวารค่อนข้างใหญ่ ทำให้ว่ายน้ำเร็วกว่าปลาปักเป้าชนิดอื่นๆ ในธรรมชาติปลาชนิดนี้มักจะกัดกินกุ้ง หอย ปู ปลาโดยใช้กระดูกขากรรไกรที่มีการพัฒนาเป็นพิเศษให้มีขอบแข็งจึงใช้แทนฟันได้ดี ทำให้ลูกปลาปักเป้าทองขนาดเล็กเป็นที่นิยมเลี้ยงเพื่อควบคุมและกำจัดหอยในตู้พรรณไม้น้ำ
เนื่องจากเป็นปลาน้ำจืดแท้และไม่กินพรรณไม้น้ำ ข้อเสียของปลาชนิดนี้คือ ไม่สามารถเลี้ยงรวมกับปลาชนิดอื่นได้ ปลาปักเป้าทองจะอาศัยอยู่ในเขตน้ำขึ้นลงของแม่น้ำสายใหญ่ ปลาชนิดนี้จะอยู่รวมกันเป็นฝูงและจะกัดทำร้ายคนที่ลงไปในน้ำ เป็นปลาที่เด็กๆและชาวริมน้ำกลัวและเกลียดมากที่สุดชนิดหนึ่ง
ปักเป้าทอง Chonerhinus nefastus
เป็นปักเป้าทองที่พบบ่อยในแม่น้ำโขง และลำน้ำสาขา มีขนาดโตเต็มที่ค่อนข้างเล็ก มีลำตัวที่เพรียวยาวกว่า C. modestus อย่างเห็นได้ชัด






ปักเป้าทอง Chonerhinus modestus ปักเป้าทอง Chonerhinus nefastus

สกุล Tetraodon
เป็นตัวแทนของวงศ์ Tetraodontidae ที่มีจำนวนสมาชิกมากที่สุดทั้งในน้ำจืดและน้ำเค็ม ส่วนมากปลาปักเป้าในสกุลนี้มักมีนิสัยชอบซุ่มโจมตีเหยื่อ มากกว่าที่จะออกแรงว่ายน้ำไล่ โดยส่วนมากปักเป้าในสกุลนี้ในขณะที่พองจะสามารถขยายขนาดได้มากกว่าสองสกุลแรกข้างต้น
ปักเป้าหางวงเดือน Tetraodon cutcutia
บางครั้งมีชื่อเรียกอื่น ๆ ว่า “ปักเป้าแคระ” หรือ “ปักเป้าเขียวจุด”เนื่องจากเป็นปลาปักเป้าที่มีขนาดเล็กเหมือนปักเป้าสมพงษ์ ลำตัวแบนข้างเล็กน้อย ครีบเล็ก ลำตัวสีคล้ำหรือเขียวขี้ม้า มีจุดประสีเหลืองหรือสีจางทั่วตัว หลังมีลายพาดสีคล้ำ ข้างลำตัวมีดวงสีดำใหญ่ ตาสีแดง ครีบหางมีขอบสีแดงหรือชมพู เป็นปักเป้าที่มีผิวบางที่สุดในบรรดาปักเป้าที่พบในบ้านเราและที่สำคัญมันไม่มีหนามขนาดเล็กๆ ที่ผิวลำตัว ทำให้ผิวมันวาวสวยงาม ปลาปักเป้าหางวงเดือนจะมีขนาดประมาณ 4-5 เซนติเมตร ปักเป้าชนิดนี้มีการกระจายพันธุ์จากอินเดีย พม่า มาจนถึงประเทศไทย บริเวณชายฝั่งทะเลตอนบน มักชอบอยู่ตามลำธารและแม่น้ำในภาคใต้ โดยหลบซ่อนอยู่ตามซอกหินหรือใบไม้ใต้น้ำ ชอบกินลูกปลา ปู หอย และกุ้งขนาดเล็กเป็นอาหาร





ปักเป้าหางวงเดือน Tetraodon cutcutia
ปลาปักเป้าขน Tetraodon baileyi
จัดเป็นสุดยอดของปลาปักเป้าในเรื่องของการพรางตัวและน่าจะเป็นปักเป้าเพียงชนิดเดียวที่มีการแปลงกายที่น่าตื่นตาตื่นใจ ปักเป้าขนจะมีลักษณะหัวโต ตาเล็กกว่าปักเป้าชนิดอื่น ๆ หัวและลำตัวมีติ่งหนังสั้น ๆ ที่แตกปลายตลอดคล้ายขน จนเป็นที่มาของชื่อปักเป้าขนนั่นเอง ลำตัวมีสีน้ำตาลแดงหรือกากีคล้ำ มีจุดประสีจาง ครีบหางมีสีน้ำตาลอมเหลืองและมีประสีคล้ำ สภาพแวดล้อมที่ ปักเป้าขนอาศัยมีลักษณะเป็นพลาญหิน (แผ่นหินที่แผ่กว้าง มีหลุมหรือร่องกระจายทั่วไป) ปักเป้าขนเป็นปลาที่ก้าวร้าวอีกชนิดหนึ่งและเป็นปลาที่พบในแม่น้ำโขงบริเวณที่เป็นแก่งหิน ปักเป้าขน เป็นปลาที่พบน้อย อยู่ในสภาวะใกล้สูญพันธุ์ แต่เป็นที่นิยมของนักเลี้ยงปลาสวยงาม และจัดเป็นปลาที่มีราคาแพง


ปลาปักเป้าขน Tetraodon baileyi

ปลาปักเป้าควาย ปักเป้าสุวัติ Tetraodon suvatti
เป็นปักเป้าอีกชนิดหนึ่งที่มีความโดดเด่น ปักเป้าชนิดนี้มีปากเรียวยาวปากงอนขึ้นด้าน บน และยังมีลายลักษณะคล้ายหัวลูกศรที่บริเวณด้านบนระหว่างตาทั้งสองข้าง ปักเป้าควาย บางตัวอาจมีสีส้มแดง อย่างไรก็ดีเมื่อนำมาเลี้ยงจะเปลี่ยนเป็นสีปกติ ปักเป้าชนิดนี้เป็นปักเป้าที่ พบเฉพาะแม่น้ำโขงอีกเช่นกัน ในที่เลี้ยงปลาชนิดนี้ไม่ค่อยก้าวร้าวเท่าปลาปักเป้าชนิดอื่น ถ้าพื้น เป็นทรายหรือกรวดขนาดเล็กปลาจะฝังตัวโผล่แต่ตาและริมฝีปากล่างที่มีลักษณะคล้ายติ่งเนื้อยื่นออกมา





ปลาปักเป้าควาย ปักเป้าสุวัติ Tetraodon suvatti
ปักเป้าจุดส้ม Tetraodon abei
เป็นปลาปักเป้าที่พบทั้งในภาคกลางและลุ่มน้ำโขง มีปากค่อนข้างใหญ่ และมีจุดส้ม กระจายทั่วตัว นอกจากนี้บริเวณข้างลำตัวในแนวระหว่างครีบหลังและครีบก้นจะไม่มีจุดกลมแดง ลำตัวยาวประมาณ 10-11 เซนติเมตร





ปักเป้าจุดส้ม Tetraodon abei
ปักเป้าตาแดง Tetraodon leiurus
เป็นพระเอกของเหล่าสมัชชาปลาปักเป้าน้ำจืด ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ปลาชนิดนี้มี การกระจายพันธุ์กว้างที่สุด จะงอยปากค่อนข้างสั้น และมีจุดแดงในแนวระหว่างครีบหลังและครีบ ก้นเด่นชัด เราสามารถพบปักเป้าชนิดนี้ได้ตามริมน้ำ หนอง บึง เขื่อน เกือบทั่วประเทศ ในเรื่องชื่อ วิทยาศาสตร์ Tetraodon leiurus มีชื่อพ้องหลายชื่อเช่น T. cochinchinensis,
T. cambodgiensis, T. fangi







ปักเป้าตาแดง Tetraodon leiurus
ปักเป้าปากยาว Tetraodon cambodgiensis
ลักษณะโดยทั่วไปจะคล้ายกับปลาปักเป้าตาแดงมาก แต่จะมีจงอยปากยาวกว่าอย่างเห็นได้ชัด นอกจากนี้แต้มสีที่บริเวณข้างลำตัวยังเป็นแต้มสีแดงขนาดใหญ่มากและมีวงสีขาว และแต้ม สีคล้ำกระจายรอบ ปักเป้าชนิดนี้ก้าวร้าวมาก พบทั้งในภาคกลางและภาคใต้




ปักเป้าปากยาว Tetraodon cambodgiensis
ปักเป้าปากยาวโขง Tetraodon barbatus
เป็นปักเป้าที่ปากยาวเหมือนกัน แต่มีลักษณะเด่นที่ริมฝีปากล่างจะมีแต้มสีดำ และส่วนท้องจะขาว ไม่มีลายปลาชนิดนี้พบในแม่น้ำโขง





ปักเป้าปากยาวโขง Tetraodon barbatus
ปักเป้าท้องตาข่าย Tetraodon palembangensis
เป็นปลาที่พบเฉพาะทางใต้ โดยมีรายงานจากทะเลสาบสงขลา เป็นปักเป้าที่พบชุกชุมใน บางฤดูกาลบริเวณลำคลองรอบๆ พรุโต๊ะแดง ที่นราธิวาส ปักเป้าชนิดนี้มีลักษณะเด่นที่หนังหนา หนามค่อนข้างใหญ่ และมีตาโตมาก นอกจากนี้เวลาพองจะพองได้กลมเหมือนลูกบอลเลยทีเดียว ปลาปักเป้าชนิดนี้ก็เป็นอีกชนิดหนึ่งที่ค่อนข้างเรียบร้อย









ปักเป้าท้องตาข่าย Tetraodon palembangensis
ปลาปักเป้าที่ผมได้กล่าวมาข้างต้นนั้นคือ ปลาปักเป้าน้ำจืดทั้งหมด และบางชนิดก็ใกล้จะสูญพันธุ์ แต่ที่จะกล่าวถึงอีกสองชนิดนี้ค่อนข้างไปทางน้ำกร่อย แต่เป็นปลาที่พบได้บ่อยในตลาดปลาสวยงามได้แก่
ปักเป้าเขียวจุด Tetraodon nigroviridis
ปลาชนิดพบเป็นจำนวนมากบริเวณป่าชายเลน ปรับตัวได้ดีมากทั้งในน้ำจืดและน้ำเค็ม ลำตัวมีความยาวประมาณ 6-15 เซนติเมตร กินอาหารจำพวกแมลงน้ำ ตัวอ่อนของแมลง หอยและกุ้งฝอย เป็นต้น






ปักเป้าเขียวจุด Tetraodon nigroviridis

ปักเป้าซีลอน ปักเป้าเลขแปด Tetraodon biocellatus
เป็นปลาปักเป้าที่พบมากตามแม่น้ำในภาคตะวันออก โดยเฉพาะแม่น้ำบางปะกง ปลาชนิดนี้จะพบเข้ามาในเขตน้ำจืดมากขึ้นกว่าปักเป้าเขียวจุด มีลักษณะเด่นที่ลายด้านบนส่วนหลังมีลักษณะคล้ายเลขแปด






ปักเป้าซีลอน ปักเป้าเลขแปด Tetraodon biocellatus
พิษของปลาปักเป้า
ปลาปักเป้าพบทั้งในน้ำจืดและน้ำทะเลมีประมาณ 100 ชนิด แต่ที่ทำให้เกิดพิษมีประมาณ 50 ชนิด และพบในบ้านเราประมาณ 20 ชนิด เนื้อของปลาปักเป้าไม่มีพิษ หรือมีพิษน้อย พิษของปลาปักเป้ามีมากที่ไข่ ตับ กระเพาะ ลำไส้ ผิวหนัง และพิษของปลาจะเพิ่มมากขึ้นในฤดูวางไข่
นักวิทยาศาสตร์ชาวญี่ปุ่น ได้วิจัยแยกพิษของปลาปักเป้าได้สาร 2 ชนิด คือ Tetrodonine และ Tetrodonic acid (ได้กล่าวถึงสารพิษที่สกัดจากปลาปักเป้าว่า มีลักษณะเป็นผงสีขาว ไม่มีรส ประกอบด้วย Sulfur และ Amino groupsและอาจมีสารจำพวก Dextrose อยู่ด้วย) เมื่อนำมาผ่านกรรมวิธีแยกต่างๆ แล้วได้สารชื่อ Tetrodotoxin ซึ่งมีฤทธิ์ต่อกล้ามเนื้อ ทำให้เกิดอัมพาตต่อระบบหายใจ ระบบไหลเวียนของโลหิต เมื่อรับประทานปลาประมาณ 30 นาที ถึงหลายชั่วโมง ขึ้นอยู่กับปริมาณที่รับประทานเข้าไป อาการพิษจะแบ่งเป็น 4 ขั้นคือ
ระยะแรก ผู้ป่วยจะเริ่มมีอาการชาที่ริมฝีปาก ลิ้น บริเวณใบหน้า ปลายนิ้วมือ คลื่นไส้ อาเจียน
ระยะที่สอง มีอาการชามากขึ้น อ่อนเพลีย แขนขาไม่มีแรง จนเดินหรือยืนไม่ได้ reflex ยังดีอยู่
ระยะที่สาม มีกล้ามเนื้อกระตุกคล้ายกับชัก มีอาการ ataxia พูดลำบาก ตะกุกตะกักจนพูดไม่ได้ เนื่องจากสายกล่องเสียงเป็นอัมพาต ระยะนี้ผู้ป่วยยังรู้สึกตัวดี
ระยะที่สี่ กล้ามเนื้อเป็นอัมพาตทั่วไป หายใจไม่ออก หมดสติ รูม่านตาโตเต็มที่ไม่มีปฏิกิริยาต่อแสง ถ้าไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้องผู้ป่วยจะเสียชีวิตในเวลาอันรวดเร็ว
การรักษา
เนื่องจากยังไม่มียาแก้พิษจึงรักษาตามอาการ และเนื่องจากพิษจะถูกขับออกทางปัสสาวะ ดังนั้นการให้ยาขับปัสสาวะจะช่วยให้พิษถูกขับออกได้เร็วขึ้น
อีกประการหนึ่ง สารพิษนี้จะทนต่อความร้อนที่สูงกว่า 200 °C การต้ม ทอด ย่าง จะไม่สามารถทำลายสารพิษนี้ได้ นอกจากนี้ยังพบว่าในสภาพที่เป็นกรดพิษจะอยู่ได้นานและจะสลายตัวได้เร็วในสภาวะที่กรดเจือจาง
กล่าวโดยสรุป ปลาปักเป้าในประเทศไทยมีอยู่ 3 สกุล 12 ชนิด และปลาปักเป้าบางชนิดก็ใกล้จะสูญพันธุ์แล้ว สารพิษที่มีอยู่ในตัวปักเป้ามี 2 ชนิดคือ Tetrodonine และ Tetrodonic acid ปลาปักเป้าบางชนิดเราสามารถนำมาเลี้ยงเป็นปลาสวยงามได้ และบางชนิดก็สามารถนำมาประกอบอาหารได้ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นเราจะต้องรู้จักกรรมวิธีในการทำเพื่อความปลอดภัยของตัวเราเอง

1 ความคิดเห็น:

ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

I used to be recommended this blog via my cousin. I'm no longer positive whether or not this post is written via him as nobody else realize such precise about my problem. You're amazing!

Thanks!
my web site - santa monica apartment

แสดงความคิดเห็น

Custom Search

บทความที่ได้รับความนิยม