11.24.2552

จากกระแสการพัฒนาของมนุษยชาติก่อให้เกิดผลกระทบต่อความหลากหลายทางชีวภาพต่างๆ บนโลก เริ่มจะทวีความรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ นับตั้งแต่เกิดการปฏิวัติอุตสาหกรรม จนกระทั่งหลังจากสงครามโลกครั้งที่สองสิ้นสุดลง นานาประเทศเริ่มรู้สึกตระหนักในปัญหาสิ่งแวดล้อมระหว่างประเทศมากขึ้น จวบจนกระทั่ง ใน ปี พ.ศ.2515 องค์การสหประชาชาติจึงได้จัดประชุมว่าด้วยเรื่องสิ่งแวดล้อมของมนุษย์ขึ้นที่กรุงสตอร์กโฮล์ม ประเทศสวีเดน โดยมีผู้แทนของรัฐบาลจาก 113 ประเทศเข้าร่วมการประชุมและที่ประชุมได้มีการพิจารณาปัญหาสิ่งแวดล้อมอย่างกว้างขวาง ผลจากการประชุมก่อให้เกิด โครงการสิ่งแวดล้อมของสหประชาชาติ (UNEP - United Nations Environment Programme) ขึ้นในระบบงานสหประชาชาติ เพื่อทำหน้าที่ในการปฏิบัติตามนโยบายและข้อเสนอแนะตามที่ปรากฏในประกาศหลักการและแผนปฏิบัติการกรุงสตอร์กโฮล์ม รวมทั้งการประสานงานด้านสิ่งแวดล้อมทั้งปวงของสหประชาชาติ ซึ่งนับเป็นจุดเริ่มต้นในการก่อให้เกิดอนุสัญญาระหว่างประเทศขึ้นมาหลายฉบับที่มีวัตถุประสงค์ในเรื่องการคุ้มครองสภาวะแวดล้อมของโลก
กำเนิดอนุสัญญาไซเตส
อนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศ ซึ่งชนิดของสัตว์ป่าและพืชป่าที่ใกล้จะสูญพันธุ์ หรือที่เรารู้จักกันดีในนามของอนุสัญญาไซเตส (CITES - Convention on International Trade in Endangered Species of Wild Fauna and Flora) เป็นผลพวงจากการประชุมดังกล่าวและโดยการริเริ่มของ
- โครงการสิ่งแวดล้อมของสหประชาชาติ (UNEP - United Nations Environment Programme)
- สหภาพระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (IUCN - International Union for the Conservation of Nature and Natural Resources)
- กองทุนสัตว์ป่าโลก (WWF - World Wide Fund for Nature)
- สมาคมขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศ (IATA - International Air Transportation Association)
จุดมุ่งหมายของอนุสัญญาไซเตส เพื่อคุ้มครองพันธุ์สัตว์ป่า(รวมสัตว์น้ำ)และพืชป่าที่หายากหรือชนิดที่อยู่ในภาวะถูกคุกคามมิให้มีการสูญพันธุ์ไป อันเนื่องมาจากการค้าระหว่างประเทศ โดยได้มีการกำหนดมาตรการและเงื่อนไขในการควบคุมการค้าสัตว์และพืชดังกล่าวไว้ ซึ่งองค์การตำรวจสากลได้ประเมินการลักลอบค้าสัตว์ป่าและพืชป่าผิดกฎหมายระหว่างประเทศในปี2544 ว่ามีมูลค่าเป็นลำดับที่สอง รองจากการค้ายาเสพติด
สำหรับประเทศไทยได้เป็นสมาชิกร่วมลงนามในอนุสัญญาดังกล่าวเมื่อปี พ.ศ.2518 และให้สัตยาบันเมื่อวันที่ 21 มกราคม 2526
อนุสัญญาไซเตสได้สร้างเครือข่าย ซึ่งประกอบด้วยประเทศต่างๆที่เป็นสมาชิกทั่วโลกซึ่งปัจจุบันมีประเทศภาคี จำนวน 157 ประเทศ เพื่อควบคุมการค้าสัตว์ป่าระหว่างประเทศภายใต้เงื่อนไขที่ประเทศสมาชิกกำหนดขึ้น โดยแบ่งความเข้มงวดในการค้าสัตว์ป่าระหว่างประเทศออกเป็น 3 ระดับ ตามหลักการดังนี้
ชนิดพันธุ์ในบัญชีหมายเลข 1 (Appendix I) เป็นชนิดพันธุ์ของสัตว์ป่าและพืชป่าที่ห้ามค้าโดยเด็ดขาด เนื่องจากใกล้จะสูญพันธุ์ ยกเว้นเพื่อการศึกษา วิจัย หรือเพาะพันธุ์ ซึ่งก็ต้องได้รับความยินยอมจากประเทศที่จะนำเข้าเสียก่อน ประเทศส่งออกจึงจะออกใบอนุญาตส่งออกได้ ทั้งนี้ต้องคำนึงถึงความอยู่รอดของชนิดพันธุ์นั้นๆ ด้วย
ชนิดพันธุ์ในบัญชีหมายเลข 2 (Appendix II) เป็นชนิดพันธุ์ของสัตว์ป่าและพืชป่าที่ยังไม่ถึงกับใกล้จะสูญพันธุ์ จึงยังอนุญาตให้ค้าได้ แต่ต้องมีการควบคุมไม่ให้เกิดความเสียหาย หรือลดปริมาณลงอย่างรวดเร็วจนถึงจุดใกล้จะสูญพันธุ์ โดยประเทศที่จะส่งออกต้องออกหนังสืออนุญาตให้ส่งออกและรับรองว่าการส่งออกแต่ละครั้ง จะไม่กระทบกระเทือนต่อการดำรงอยู่ของชนิดพันธุ์นั้นๆ ในธรรมชาติ
ชนิดพันธุ์ในบัญชีหมายเลข 3 (Appendix III) เป็นชนิดพันธุ์ที่ได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายของประเทศใดประเทศหนึ่งแล้วขอความร่วมมือประเทศภาคีสมาชิกให้ช่วยดูแลการนำเข้า คือจะต้องมีหนังสือรับรองการส่งออกจากประเทศถิ่นกำเนิด
ผู้ที่ได้รับอนุญาตให้นำเข้า ส่งออก หรือนำผ่าน ต้องแสดงใบอนุญาตนำเข้า (Import Permit) ใบอนุญาตส่งออก (Export Permit) หรือใบอนุญาตนำผ่าน (Transit Permit) ให้เจ้าหน้าที่ประจำด่านตรวจสอบทุกครั้ง
"อนุสัญญาไซเตสไม่ได้มีผลควบคุมการค้าภายในประเทศสำหรับชนิดพันธุ์ใดๆ ที่เป็นของท้องถิ่น"

ประเทศไทยถูกสั่งห้ามทำการค้าขายสัตว์ป่าและพืชป่ากับประเทศสมาชิก
หลังจากที่ประเทศไทยได้เป็นสมาชิกอนุสัญญาไซเตสในปี2526 แล้ว ไม่สามารถนำเงื่อนไขบางข้อมาปฏิบัติตามดังที่ได้ลงนามผูกพันไว้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การไม่มีกฎหมายบังคับใช้ในเรื่องเกี่ยวกับการควบคุมการนำเข้า ส่งออก หรือนำผ่าน สัตว์ป่าและพืชป่าระหว่างประเทศ ไม่มีด่านตรวจสัตว์ป่าคอยตรวจสอบการนำเข้า ส่งออก หรือนำผ่านดังกล่าว ดังนั้น ในปี2534 เมื่อครั้งที่มีการประชุมใหญ่ภาคีสมาชิก ประเทศไทยถูกลงมติสั่งห้ามทำการค้าขายสัตว์ป่าและพืชป่ากับประเทศสมาชิก มีผลทำให้อุตสาหกรรมการส่งออกกล้วยไม้ ผลิตภัณฑ์เครื่องหนังจระเข้ รวมทั้งสัตว์ป่า พืชป่า และผลิตภัณฑ์ดังกล่าวไม่สามารถส่งไปจำหน่ายยังประเทศสมาชิกซึ่งมีมากกว่าร้อยประเทศได้ ส่งผลเสียหายคิดเป็นมูลค่าประมาณสองพันล้านบาท
ต่อมา ในปี2535 สมัยที่นายอานันท์ ปันยารชุน เป็นนายกรัฐมนตรี ได้ดำเนินการแก้ไขปรับปรุงพระราชบัญญัติพันธุ์พืช พ.ศ.2518 และพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2503 ให้มีมาตรการใช้บังคับที่สอดคล้องกับมาตรการตามอนุสัญญาไซเตส โดยเสนอผ่านสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาในสามวาระรวด เป็นพระราชบัญญัติพันธุ์พืช(ฉบับที่2) พ.ศ.2535 และพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2535 อย่างรวดเร็ว มีผลทำให้ประเทศไทยสามารถกลับมาทำการค้าสัตว์ป่าและพืชป่าระหว่างประเทศได้ดังเดิม ภายหลังจากนั้น ก็มีประเทศสมาชิกถูกลงโทษดังเช่นที่ประเทศไทยอยู่เนืองๆ และล่าสุดในต้นปี2545 ประเทศเวียดนามก็ไม่พ้นชะตากรรมเช่นกัน
พระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2535
พรบ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2535 เป็นกฎหมายหลักในการอนุรักษ์ทรัพยากรสัตว์ป่าหายากใกล้จะสูญพันธุ์ของไทย รวมทั้งสัตว์ป่าของต่างประเทศด้วย ซึ่งกฎหมายดังกล่าวครอบคลุมถึงสัตว์น้ำและผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำที่ใกล้จะสูญพันธุ์ด้วย โดยกรมประมงทำหน้าที่ในการดูแลในส่วนที่เป็นสัตว์น้ำ ส่วนกรมป่าไม้ดูแลในส่วนที่เป็นสัตว์ป่า ดังนั้น ในการกล่าวถึงสัตว์ป่าตามกฎหมายนี้จะหมายความรวมถึงสัตว์น้ำด้วย ต่อมาในปี2545 ได้มีการปฏิรูประบบราชการมีผลทำให้งานเกี่ยวกับการสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่าในส่วนที่กรมป่าไม้ดูแลไปอยู่กับกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช
เหตุผลที่ประกาศใช้
1. เพื่อสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่าให้มีประสิทธิภาพ
2. เพื่อเร่งรัดการขยายพันธุ์สัตว์ป่าควบคู่ไปกับการสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า
3. เพื่อความร่วมมือตามความตกลงระหว่างประเทศในการสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่าเป็นไปอย่างเหมาะสม
ชนิดปลาที่ได้รับการคุ้มครองจากอนุสัญญาไซเตส
1. ปลาปอดออสเตรเลีย ( Neoceratodu forsteri )
2. ปลาซีลาแคนท์ ( Latimeria chalumnae ) และ ( L. menadoensis )
3. ปลาสเตอร์เจียนจมูกสั้น ( Acipenser brevirostrum )
4. ปลาสเตอร์เจียน ( Acipenser strurio )
5. ปลาสเตอร์เจียนแอตแลนติค (Acipenser oxyrhynchus )
6. ปลาฉลามปากเป็ด ( Polyodon spathula )
7. ปลาตะพัด หรืออะโรวาน่า ( Scleropages formosus )
8. ปลาช่อนยักษ์ ( Arapaima gigas )
9. ปลายี่สก ( Probarbus jullieni )
10. ปลาตะเพียนตาบอดอาฟริกา ( Caecobarbus geertsi )
11. ปลาตะเพียนติดหินน้ำจืด ( Chasmistes cujas )
12. ปลาบึก ( Pangasianodon gigas )
13. ปลาจวดแมคโดนัล ( Cynocion macdonaldi )
ปลาชนิดดังกล่าว ได้ถูกควบคุมในการนำเข้า ส่งออก หรือนำผ่านระหว่างประเทศ ผู้ที่สามารถจะทำได้ต้องได้รับใบอนุญาตทั้งจากประเทศต้นทางและประเทศปลายทาง ซึ่งปลาบางชนิดเป็นปลาที่อยู่ในบัญชี1 ซึ่งถูกเข้มงวดมาก ดังเช่น ปลาบึกและปลายี่สก ซึ่งเป็นปลาที่มีถิ่นกำเนิดในประเทศไทย กรมประมงไม่สามารถออกใบอนุญาตให้ส่งจำหน่ายไปยังต่างประเทศได้ แต่ถ้าหากมีฟาร์มที่สามารถเพาะพันธุ์ปลาดังกล่าวในเชิงธุรกิจได้ และได้ดำเนินกระบวนการรับรองฟาร์มจากกรมประมงและอนุสัญญาไซเตส ชื่อของฟาร์มเพาะพันธุ์ดังกล่าวก็จะได้รับการเผยแพร่ไปยังประเทศสมาชิก 157 ประเทศ โดยฟาร์มดังกล่าวก็จะสามารถส่งปลาบึกหรือปลายี่สกออกไปจำหน่ายยังต่างประเทศได้ ดังเช่น ฟาร์มเพาะพันธุ์ปลาตะพัดในประเทศอินโดนีเซียจำนวน 16 ฟาร์ม ในประเทศมาเลเซีย จำนวน 5 ฟาร์ม และในประเทศสิงคโปร์ จำนวน 5 ฟาร์ม ที่มีมูลค่าการส่งปลาตะพัดจำหน่ายไปยังประเทศต่างๆทั่วโลกปีละหลายพันล้านบาท สร้างรายได้เข้าสู่ประเทศของตนเองมาหลายปีแล้ว ในขณะที่ฟาร์มเพาะพันธุ์ปลาตะพัดของประเทศไทยยังไม่มีฟาร์มใดที่ผ่านการรับรองจากอนุสัญญาฯเลย แม้แต่ฟาร์มเดียว อาจจะเป็นเพราะว่าเราเพิ่งจะเริ่มมีการจดทะเบียนฟาร์มเพาะพันธุ์กันเมื่อ 1-2 ปีที่ผ่านมา ทำให้เทคนิคด้านการเพาะพันธุ์ยังไม่ก้าวหน้าเท่าที่ควร แต่เชื่อได้เลยว่าอีกไม่นานเกินรอ ผลสำเร็จคงจะมาถึง

3 ความคิดเห็น:

ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

อ่านไม่ออก

ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

ตัวหนังสือเล็กจัง

ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

เพิ่มความรู้ได้ดี

แสดงความคิดเห็น

Custom Search

บทความที่ได้รับความนิยม