11.24.2552


ปลาออสการ์เป็นพันธุ์พื้นเมืองของลุ่มแม่น้ำ Orinoco, อะเมซอน และ La Plata ในทวีป อเมริกาใต้ แต่เดิมพบในลำคลองแถบ ไมอามี่ และ Dade country ที่ฟลอริด้า มีการเลี้ยงในฟาร์มปลาเพื่อเป็นอาหารและกีฬา ต่อมาได้มีการนำเข้ามาเพื่อเลี้ยงเป็นปลาสวยงาม โดยกระจายอยู่ทั่วไปแถบทวีปอเมริกา แอฟริกา และเอเซีย ปลาออสการ์ (Astronotus ocellatus) เดิมมีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Lobotes ocellatus ชื่อสามัญว่า Oscar, Red Belvet, Velvet Cichlid, Marbled Cichlid, Peacock-Eyed Cichilld, Tiger Oscar, Peacock Cichilld อยู่ในครอบครัว Cichlidae มีนิสัยค่อนข้างดุ โตเต็มวัยมีความยาวขนาด 12 - 14 นิ้ว ชอบกินอาหารที่มีชีวิต สามารถฝึกให้กินอาหารเม็ดได้ มีผู้เคยทำการศึกษาโดยการตรวจดูอาหารที่อยู่ในท้องของปลาจากธรรมชาติพบว่ามี แมลง ปลา สัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำ พืชน้ำ และเมล็ดพืชอื่น ๆ เป็นปลาอาศัยอยู่ได้ทั้งบนผิวน้ำ กลางน้ำและท้องน้ำ เป็นที่นิยมเลี้ยงมาก และถ้าเลี้ยงดูอย่างดีสามารถมีชีวิตอยู่ได้เป็น 10 ปี ปลาออสการ์สามารถแบ่งออกเป็นประเภทต่าง ๆ ได้ 5 ชนิด ออสการ์สีพื้น ลายเสือ สีแดง สีเผือก หางยาว อาจจะพบประเภทอื่น ๆ อีก ได้แก่ เผือกตาแดง สีฟ้า (อาจจะมาจากการย้อม) และลายหินอ่อน นอกจากนั้นยังมี เผือกทอง เผือกเสือแดง หรือมีตั้งแต่สีขาว น้ำตาลจนกระทั่งสีดำ มีลายสีแถบแดงที่ด้านข้างลำตัว สีของปลาขนาดเล็กพบว่ามีสีแดงสลับกับสีดำ เมื่อโตขึ้นสีจะเปลี่ยนไปเป็นสีเทาและสีส้มแดง ส่วนครีบมีสีดำหรือทองมีรูปร่างแบนปากใหญ่ ปากล่างยาวกว่าปากบน เติบโตเร็วมาก ดังนั้นจึงต้องการตู้ขนาดใหญ่ เลี้ยงง่ายควรจะต้องมีที่กรองน้ำให้ด้วย มีนิสัยดุร้าย ดังนั้นควรที่จะเลือกปลาที่เลี้ยงในตู้เดียวกันให้มีขนาดไล่เลี่ยกันสามารถที่จะปล่อยร่วมกับปลาอื่น ๆ ได้เช่น หมอเท็กซัส หมอไฟร์เมาท์ เปกู ชอบขุดคุ้ยก้อนหิน ต้นไม้และกรวดทรายในตู้ บางครั้งทำลายอุปกรณ์ในตู้ปลาได้ ควรที่จะเลี้ยงในตู้ปลาที่มีขนาดใหญ่เพื่อให้ปลาสามารถเจริญเติบโตได้เต็มที่ แต่เพื่อให้ง่ายในการดูแลบางครั้งมักที่จะเลี้ยงในตู้ที่ไม่ใส่ทรายหรือกรวดเลย ขณะเดียวกันอุณหภูมิไม่เหมาะสม ให้อาหารมากเกินไป คุณภาพน้ำไม่ดีก็อาจทำให้ปลาตาย
* อาหาร
ปลาออสการ์เป็นปลาที่กินอาหารได้ทุกอย่างและตลอดเวลาไม่มีความจำเป็นที่จะต้องให้อาหารที่มีชีวิตอาจจะให้อาหารแช่แข็งที่ทำมาจาก ไรแดง หนอนแดง อาหารเม็ดปลาดุก ไม่ควรที่จะให้อาหารแห้งตลอดไปควรจะมีการสลับกันระหว่างอาหารสดหรืออาหารแห้ง เนื่องจากออสการ์เหมือนปลาอื่น ๆ มักจะเล่นอาหารที่กินโดยที่กินเข้าไปแล้วคายออกมาทำให้น้ำเน่าเสียได้ ดังนั้นควรที่จะให้อาหารกินพอดี ๆ จากสาเหตุนี้ทำให้จำเป็นที่จะต้องมีแผ่นกรองในตู้ปลาเพื่อกรองของเสีย และควรทำความสะอาดตู้ปลาเมื่อเห็นว่าตู้ปลาสกปรกมากแล้ว การให้อาหารที่เหมาะสมคือให้ทีละน้อยและให้กินจนหมด
* การผสมพันธุ์
การแยกเพศของปลาออสการ์คล้ายกับตระกูลปลาหมอทั่วไป คือ จะแยกค่อนข้างยากโดยที่เพศผู้นั้นตามปกติจะมีสีสันมากกว่าเพศเมีย มีตัวใหญ่มากกว่า ช่องเปิดของอวัยวะเพศจะยื่นออกมาส่วนเพศเมียจะกลม เพศผู้จะมีครีบหลังใหญ่กว่าเพศเมียในขณะที่เพศเมียครีบหลังค่อนข้างกลม เนื่องจากเพศที่แยกยากนี้ทำให้การเลี้ยงปลาออสการ์ส่วนใหญ่เมื่อถึงฤดูผสมพันธุ์มักจะปล่อยรวมกันหลาย ๆ ตัวบางครั้งอาจจะมากกว่า 6 ตัว ในบ่อที่มีขนาดใหญ่ มีการกั้นหินเป็นห้อง ๆ เพื่อที่จะให้พ่อแม่ปลาที่พร้อมจะวางไข่นั้นจับคู่กันเอง และเป็นการหลบภัยจากปลาตัวอื่นอีกด้วย ควรจะมีกระดานพาดอยู่ในรังด้วยเพื่อให้ปลาวางไข่ที่กระดาน เมื่อปลาพร้อมวางไข่ก็จะมีการสร้างรังปลาตัวอื่นที่ไม่ใช่คู่ของมันจะถูกไล่ออกไป คุณสมบัติน้ำที่เหมาะสมในช่วงฤดูผสมพันธุ์ สำหรับปลาตระกูล Cichlid ได้แก่ ปลาหมอสี ปลาปอมปาดัวร์ น้ำควรมีความเป็นกรด น้ำอ่อน ดังนั้นในช่วงนี้เมื่อรู้ว่าปลาพร้อมที่จะมีการปรับน้ำให้เหมาะสม โดยการเปลี่ยนคุณสมบัติของน้ำทีละเล็กทีละน้อย ความเป็นกรดและด่าง ควรให้ลดมาอยู่ที่ 6 - 7 ความกระด้างของน้ำควรให้ต่ำกว่า 160 พีพีเอ็ม อุณหภูมิของน้ำควรอยู่ที่ 30 องศาเซลเซียส
* ข้อควรระวัง เมื่ออุณหภูมิของน้ำสูงทำให้โอกาสเป็นโรคจากเชื้อราได้ง่าย และทำความสะอาดน้ำเพื่อให้สะอาด การเปลี่ยนถ่ายน้ำควรทำประมาณ 25% ต่อสัปดาห์ให้อาหารตามปกติ จะเห็นปลาเริ่มวางไข่ ลักษณะของไข่ออสการ์เป็นไข่ติด รูปร่างจะไม่เหมือนกับไข่ปลาอื่น ๆ กล่าวคือ จะมีลักษณะทรงกรวยหรือเหมือนขนาดโดนัท มีความยาวประมาณ 2.0 มิลลิเมตรและยาวมากกว่าความกว้าง จากนั้นก็ย้ายไข่ที่ติดที่กระดานออกมาฟักในภาชนะอื่นที่มีการถ่ายเทน้ำไข่ที่เสียจะเป็นไข่ที่มีสีขาวขุ่น ในขณะที่ไข่ที่ดีจะใสและเริ่มมีการแบ่งตัวของเซลล์ ลูกปลาจะฟักในระยะเวลา 2 - 3 วัน เจริญต่อไปจนได้ลูกปลาและว่ายน้ำขึ้นมาที่ผิวน้ำช้อนลูกปลาไปอนุบาล สำหรับการอนุบาลลูกปลานั้นส่วนใหญ่จะให้ไรแดงเป็นอาหารตลอด อาจจะมีการเสริมอาหารลูกปลาวัยอ่อนหรือไข่ตุ๋นก็ได้แต่ต้องระวังเรื่องน้ำเสีย
*โรคและการรักษา
โรคและการรักษา หลักการเลี้ยงปลาทั่ว ๆ ไปมีหลักการสำคัญอยู่อย่างหนึ่ง ควรที่จะป้องกันโรคดีกว่าที่ปล่อยให้เป็นโรคแล้วจึงมารักษา ดังนั้นการสังเกตการกินอาหารของปลา การเคลื่อนไหวในแต่ละวัน การสังเกตความผิดปกติของตา ครีบ ลำตัว อยู่สม่ำเสมอจะเป็นการดีที่สุด สำหรับโรคปลามีอยู่ 2 ประเภทคือ โรคที่เกิดจากการติดเชื้อสังเกตได้ง่าย เมื่อพบว่าปลาเป็นโรค 1 - 2 ตัวแล้วจะมีการลุกลามต่อไปยังปลาตัวอื่น ๆ ในช่วงระยะเวลาหนึ่ง โรคเหล่านี้ได้แก่ โรคเกิดจากเชื้อรา แบคทีเรียและปรสิต ส่วนใหญ่เกิดจากน้ำที่มีคุณสมบัติไม่ดี โรคที่ไม่เกิดจากการติดเชื้อมีสาเหตุของการเกิดโรคจากปัจจัยหลักได้แก่ คุณสมบัติน้ำไม่เหมาะสม สภาพสิ่งแวดล้อมไม่อำนวย การผสมพันธุ์ที่เกิดจากเลือดชิดกันมาก หรือการขาดธาตุอาหาร ซึ่งเมื่อเป็นโรคเหล่านี้แล้วสามารถที่จะแพร่ขยายต่อไปจนกระทั่งกลายเป็นโรคติดเชื้อได้
การป้องกัน ปลาที่เพิ่งได้มาใหม่ ควรจะแยกไว้ต่างหากเพื่อดูอาการผิดปกติประมาณ 2 สัปดาห์ เมื่อสังเกตว่าปลามีการกินอาหารที่ดีแล้วไม่มีอาการผิดปกติ จึงควรที่จะปล่อยรวมกันได้ในกรณีที่เห็นว่ามีอาการที่ผิดสังเกตจำเป็นต้องแยกอุปกรณ์ที่ใช้ร่วมกันออกต่างหาก
* โรคต่าง ๆที่พบได้แก่
- HITH (Hexamita)เป็นโรคโปรโตซัวที่พบทั่วไปในปลาออสการ์ ปอมปาดัวร์และหมอสี สังเกตเห็นได้ง่ายที่บริเวณรอบ ๆ หัวเป็นเหมือนแผลลึกลงไปและลามไปถึงส่วนด้านหน้าหัว หรือยาวขนาดไปกับเส้นข้างลำตัว สามารถทำให้ถึงตายได้ ปลาจะไม่ค่อยแสดงอาการเจ็บปวดหรือคัน และมักพบว่ามีโปรโตซัวที่มีชื่อ Hexamita อยู่ในแผล โดยปกติโปรโตซัวตัวนี้มักพบเป็นปกติในลำไส้แต่ไม่เป็นอันตรายจนกระทั่งปลามีอาการอ่อนแออันเนื่องมาจากสาเหตุของโรคนี้เกิดจากอาหารที่ขาดวิตามินซี น้ำมีไนเทรตสูงมาก เครียด และคุณสมบัติน้ำที่ไม่เหมาะสม โรคนี้สามารถติดต่อได้ง่ายจากการให้อาหารที่มีชีวิต เพราะเป็นแหล่งของพยาธิยาที่ใช้ในการรักษาเป็นยา Fiagyl หรือ Metronidazole
- โรคจุดขาว White Spot (Ich, Ichthyophthirius)
เป็นโรคที่เกิดจากปรสิต ซึ่งสามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่าได้ เป็นโรคที่พบทั่วไป พบเป็นจุดขาวตามลำตัว มีขนาด 1 มิลลิเมตรเกาะอยู่ตามผิวของตัว ปลาจะแสดงอาการคันมากและจะถูกกับก้อนหิน การรักษาเมื่อปรากฏเห็นเป็นจุดสีขาว ๆ โดยสังเกตได้จากจุดขาวเมื่อโตเต็มที่จะหลุดลงไปที่ก้นบ่อ โดยที่มีวุ้นหุ้มอยู่ เมื่อสภาวะแวดล้อมภายนอกเหมาะสมเกราะหุ้มจะแตกออกมาตัวอ่อนพยาธิจะว่ายออกมาเป็นอิสระเพื่อที่จะหาที่เกาะกับปลาอื่นต่อไปใหม่ วงจรชีวิตการเจริญเติบโตของโรคนี้เป็นระยะเวลา 5 วัน ดังนั้นการใช้ยาควรจะใช้อย่างต่อเนื่องเป็นระยะเวลา 10 วัน
ส่วนใหญ่ยาที่ใช้สามารถหาซื้อได้ตามท้องตลาด หรือใช้ฟอร์มาลิน 150 - 200 มิลลิลิตรต่อน้ำ 1,000 ลิตร สำหรับปลาขนาดใหญ่หรือ 25 - 50 มิลลิลิตรต่อน้ำ 1,000 ลิตร นาน 24 ชั่วโมงสำหรับปลาเล็ก
- โรคพยาธิเห็บระฆัง
พยาธิเกาะที่ผิวตัวและเหงือก มีการเคลื่อนไหวที่รวดเร็วมากจากที่หนึ่งไปยังอีกที่หนึ่ง สีปลาจะซีด หนังจะแดง คันจะเกาะอย่างรุนแรงใช้ฟอร์มาลิน 150 - 200 มิลลิลิตรต่อน้ำ 1,000 ลิตร แช่ไว้นาน 1 ชั่วโมง หรือ 25 - 50 มิลลิลิตร ต่อน้ำ 1,000 ลิตร นาน 24 ชั่วโมง
- โรคเกล็ดตั้ง
บางครั้งพบอาการตาโปนออกมาและเกล็ดตั้ง จากความผิดปกติของไต อาจจะเกิดจากที่มีการใช้ยามากเกินไปหรือโรคที่เกี่ยวข้องการรักษาควรแยกปลาออกมา ล้างบ่อ ฆ่าเชื้อในบ่อเลี้ยงโดยการตากบ่อให้แห้งและสาดสารละลายด่างทับทิม 1 กรัมต่อน้ำ 1 ลิตร
- โรคโอโอดิเนียม
อาการเหมือนกับผิวหนังถูกคลุมด้วยกระดาษทราย มีแผลตกเลือด รอยด่างสีน้ำตาล หรือเหลืองคล้ายสีน้ำตาลตามลำตัว โรคนี้แพร่หลายเร็วมาก ถ้าไม่ได้รับการรักษาทำให้ปลาตายเร็วมาก ในการรักษาควรจะคลุมถังให้มืด ใช้ฟอร์มาลิน 30 - 40 มิลลิลิตรต่อน้ำ 1,000 ลิตร นาน 24 ชั่วโมง ถ้ายังไม่ดีควรเปลี่ยนถ่ายน้ำแล้วให้ยาใหม่
- โรคตาโปน
อาการตาโปนยื่นออกมาจากกระบอกตา ใช้ยาฆ่าเชื้อราและกำจัดเชื้อรา จะช่วยรักษาได้และไม่เป็นอันตรายมากซึ่งไม่เป็นโรคแพร่หลายมาก
โรคเกิดจากเชื้อรา
โรคที่เกิดร่วมกับโรคอื่น ๆ หลังจากเป็นแผลเรื้อรัง มีเชื้อราเกิดเป็นปุยฝ้ายขาว ติดเชื้อจากกระชอนที่ใช้ร่วมกัน ควรจะมีการแช่กระชอนด้วยคลอรีน กำจัดด้วยยาฆ่าเชื้อราโดยใช้ยามาลาไคท์กรีนจำนวน 0.1-0.15 กรัมต่อน้ำ 1,000 ลิตร แช่นาน 24 ชั่วโมง


ปลาอะโรวาน่าชนิดนี้พบครั้งแรกในปี ค.ศ. 1844 ในประเทศอินโดนีเซีย ปลาชนิดนี้ถือได้ว่าเป็นปลาที่อยู่ในตระกูลโบราณที่หายาก ปลาอะโรวาน่าเป็นปลาที่ชอบอาศัยอยู่ตามแหล่งน้ำที่เงียบสงบ เป็นปลาที่ได้รับความนิยมมาก ในกลุ่มผู้เลี้ยงปลาสวยงามในยุคปัจจุบัน แต่เนื่องจากในปัจจุบันมีการจับปลาอะโรวาน่ามาเลี้ยงมากขึ้น จึงทำให้ปลาลดน้อยลงไป ทำให้ออกกฎหมายคุ้มครองปลาอะโรวาน่าเกิดขึ้น

ถิ่นกำเนิด
อย่างที่ทราบกัน ปลาอะโรวาน่ามีถิ่นกำเนิดที่แตกต่างกันออกไปตามสายพันธุ์ ปลาอะโรวาน่าจะอาศัยอยู่ตามแม่น้ำและแหล่งน้ำขนาดใหญ่ เท่าที่ผมรู้ในประเทศไทยจะพบปลาอะโรวาน่าอาศัยอยู่ทางภาคใต้และภาคตะวันออก ภาคใต้จะพบที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี สตูล ส่วนทางภาคตะวันออกจะพบที่จังหวัดจันทบุรี และตราด เป็นต้น นอกจากนี้ปลาอะโรวาน่ายังมีถิ่นกำเนิดอยู่ในประเทศ มาเลเซีย อินโดนีเซีย ออสเตรเลีย แถบอัฟริกาและอเมริกาใต้ ปลาอะโรวาน่าเราจะแบ่งตามถิ่นที่อยู่อาศัยได้ 5 ชนิด



1. ปลาอะโรวาน่าเอเซีย (Asian Arowana)

ชื่อวิทยาศาตร์ Scleropages formosus
ปลาชนิดนี้เป็นปลาที่ได้เลี้ยงมากที่สุดในประเทศของเรา อย่างที่ทราบโดยเฉพาะหมู่คนจีน เนื่องจากคนจีนเชื่อกันว่า ถ้าเลี้ยงปลาชนิดนี้แล้ว จะประสบโชคดีมีลาภ ปลาปลาอะโรวาน่าที่นิยมเลี้ยงในบ้านเรามีอยู่ 3 ชนิด ขนาดโตเต็มที่ประมาณ 90 เซนติเมตร


2. ปลาอะโรวาน่าเงิน (Silver Arowana)

ชื่อวิทยาศาสตร์ Osteoglossum bicirrhosum
ปลาอะโรวาน่าเงินจะมีแหล่งกำเนิดในลุ่มน้ำอะเมซอนในทวีปอเมริกาใต้ ปลาอะโรวาน่าเงินจะสังเกตุง่าย ๆ บริเวณลำตัวจะมีสีเงินแวว จะมีขายมากกันในบ้านเรา ขนาดโตเต็มที่ประมาณ 120 เซนติเมตร


3. ปลาอะโรวาน่าอัฟริกา (Afica Arowana หรือ Nile Arowana)

ชื่อวิทยาศาตร์ Heterotis niloticus
ปลาอะโรวาน่านี้จะพบในอัฟริกันชนิดเดียวเท่านั้น จะอาศัยตอนบนของแม่น้ำไนล์ สีของลำตัวด้านหลังและด้านข้างมีสีน้ำเงินอมดำหรือน้ำตาลอมเทา จะสังเกตุได้ว่าปลาชนิดนี้จะมีรูปร่างที่แปลกและมีราคาค่อนข้างแพงมาก จึงไม่นิยมเลี้ยง


4. ปลาอะโรวาน่าดำ (Black Arowana, South America Arowana)

ชื่อวิทยาศาสตร์ Osteoglossum ferreirai
ปลาอะโรวาน่าชนิดนี้จะอาศัยบริเวณ แม่น้ำริโอมิโกร ในประเทศบราซิล ทวีปอเมริกาใต้ ลักษณะทั่วไปจะคล้ายกับปลาอะโรวาน่าเงิน ปลาอะโรวาน่าดำจะมีสีคล้ำกว่าอะโรวาน่าเงิน จะมีครีบหลังและครีบก้นเป็นสีดำ


5. ปลาอะโรวาน่าออสเตรเลีย (Australia Arowana)

ชื่อวิทยาศาสตร์ Scleropages leichardti
ปลาชนิดนี้จะมีถิ่นอาศัยอยู่ในประเทศออสเตรเลีย ลักษณะลำตัวจะเรียวยาว สีของลำตัวจะมีสีน้ำตาลหรือน้ำตาลอมเขียว ปลาชนิดนี้มีการเลี้ยงกันน้อยและมีราคาสูงมาก ในประเทศออสเตรเลียได้มีกฎหมายคุ้มครองห้ามนำปลาออกนอกประเทศที่เป็นแหล่งกำเนิดอย่างเคร่งครัด อะโรวาน่าออสเตรเลียมี 2 ชนิด


ลักษณะทั่วไป
อย่างที่ทราบกันนะครับ ปลาอะโรวาน่าจะมีลักษณะเด่นตรงที่เกล็ดขนาดใหญ่เรียงกันอย่างงดงามปลาชนิดนี้จะมีสีสันแตกต่างกันออกไปขึ้นอยู่แต่ละชนิดและถิ่นที่อยู่อาศัย ปลาอะโรวาน่าจะมีลักษณะแบนด้านข้างลำตัวยาว ปากกว้างเฉียงเชิดขึ้น ฟันคมแหลม บริเวณริมฝีปากล่างจะมีหนวดสั้นอยู่ 2 หนวด

อุปนิสัย
โดยธรรมชาติแล้วปลาชนิดนี้จะอาศัยอยู่บริเวณน้ำไหลเอื่อย บริเวณก้อนหินและมีพื้นดินปนทราย ปลาชนิดนี้ชอบว่ายน้ำบริเวณผิวน้ำ โดยทั่วไปแล้วอะโรวาน่า เมื่อเห็นเหยื่อก็สามารถดีดตัวจับเหยื่อได้ ปลาอะโรวาน่าจัดเป็นปลากินเนื้อและมีนิสัยก้าวร้าวและดุร้าย

ขนาด
ปลาชนิดนี้เมื่อเจริญเติบโตได้เร็วมากและเมื่อโตเต็มที่ปลาชนิดนี้จะมีความยาวถึง 1 เมตร
ปลาชนิดนี้เมื่อโตเต็มที่ตัวเมียจะมีขนาดใหญ่กว่าตัวผู้

การเพาะพันธุ์
ประวัติการผสมพันธุ์ปลาอะโรวาน่า ผสมพันธุ์ปลาอะโรวาน่าในตู้ปลาประสบผลสำเร็จครั้งแรกในเดือน ก.ย. 1996 ที่ Long Beach California ส่วนในประเทศไทยเพาะพันธุ์ได้ในบ่อดินสำเร็จเดือน พ.ย. 2531 โดยศูนย์พัฒนาประมงน้ำจืด สุราษฎร์ธานี ต.ท่าข้าม อ.พุนพิน จ.สุราษฎร์ธานี pH ที่เหมาะสมในการเพาะพันธุ์ปลาอะโรวาน่าควรอยู่ในช่วง 6.5 – 8.5 โดยนำปลาเพศผู้และเพศเมียใส่ลงในบ่อ โดยพื้นที่เพาะพันธุ์จะต้องเลียนแบบธรรมชาติให้มากที่สุด ช่วงแรกเราจะสังเกตุปลาอะโรวาน่าจะจับคู่ใกล้ชิดกัน ถูตัวซึ่งกันและกันจะเห็นได้ว่าจะว่ายคู่กันอย่างนี้บ่อยครั้ง ตัวผู้จะใช้ครีบท้องของตนทำให้เสียงดังเป็นระยะ ๆ ตัวเมียจะทำเหมือนกัน แต่ไม่บ่อยเหมือนตัวผู้นี้คือพฤติกรรมก่อนตัวเมียวางไข่ เมื่อถึงเวลาที่จะวางไข่ปลาก็จะหาที่สงบ ๆ อยู่ตามลำพังช่วงนี้เราไม่ควรรบกวนหรือทำให้ตกใจและอาจจะทำให้ปลากินไข่ของตัวเองได้ ปลาอะโรวาน่าจะใช้เวลา 60 วันในการฟักไข่ ปลาชนิดนี้จะวางไข่ปีละ 2 ครั้ง อยู่ในช่วงเดือน พ.ค. – ม.ย. และช่วงที่ 2 เดือน ต.ค. – ธ.ค.

การอนุบาลลูกปลา
ควรนำลูกปลาอะโรวาน่าอนุบาลไว้ในตู้เพื่อความสะดวกในการดูแลและเมื่อลูกปลาออกมาใหม่จะไม่กินอาหารเพราะลูกปลาจะมีถุงไข่แดงติดอยู่ และเมื่อถุงไข่แดงยุบหายไปเราก็จะเริ่มให้อาหารที่มีขนาดเล็ก เช่นไข่มด ไรแดง เป็นต้น

การเลี้ยง
การเลี้ยงปลาอะโรวาน่า เราควรศึกษาให้ดีก่อน ก่อนทำการเลี้ยง ปลาชนิดนี้เราสามารถเลี้ยงได้ทั้งในตู้กระจกหรือในบ่อ โดยทั่วไปแล้วเรานิยมเลี้ยงในตู้กระจกเพื่อความสวยงาม ปลาชนิดนี้ไม่นิยมเลี้ยงในตู้เดียวกันหลายตัว เพราะทำให้ปลากัดกันเอง ผู้เลี้ยงส่วนใหญ่จะเลี้ยงไว้ในตู้กระจกขนาดใหญ่ไว้ในบ้าน ภายในตู้ต้องมีระบบกรองน้ำ แสงสว่างและระบบให้อากาศอยู่ตลอดเวลา ปลาอะโรวาน่าเป็นปลาที่เลี้ยงง่ายโตเร็ว กินอาหารได้หลายอย่าง

อาหารการกินของอะโรวาน่า
อย่างที่รู้กัน ปลาอะโรวาน่าเป็นปลาที่กินสิ่งมีชีวิตอื่น ๆ เป็นอาหาร เหยื่อที่กิน เช่น ลูกปลา กุ้ง กบ และแมลงต่าง ๆ เป็นต้น บางท่านอาจจะให้อาหารเม็ดก็ได้ เช่น Hikari tetra และ Azoo เป็นต้น อาหารจำพวกนี้ทำมาเพื่อปลาชนิดนี้โดยเฉพาะ แต่การให้อาหารเม็ดควรทำการฝึกให้กันตั้งแต่เล็กผสมกับอาหารจำพวกเนื้อ

การแยกเพศ
การแยกเพศปลาชนิดนี้ โดยการสังเกตจากรูปลักษณะภายนอกในระยะแรกยังหาข้อสรุปไม่ได้ เนื่องจากปลาเพศเมียและเพศผู้มีลักษณะคล้ายกันมาก แต่ทางศูนย์พัฒนาการประมงน้ำจืด สุราษฎร์ธานีได้ทำการผ่าพิสูจน์ปลาที่ดองไว้ ทำให้สามารถดูลักษณะภายนอกได้ โดยครีบหูและระยะห่างระหว่างปลายครีบหูและระยะห่างระหว่างปลาครีบหูกับฐานครีบท้อง กล่าวคือ ในปลาอะโรวาน่าเพศผู้ครีบหูหนาใหญ่ โค้งหุ้มและยาวจรดฐานครีบท้อง ส่วนปลาตัวเมีย ครีบหูบางสั้น ระยะห่างจากปลายครีบหูถึงฐานครีบท้อง จึงกว้างกว่าปลาเพศผู้ นอกจากนี้ปลาเพศเมียจะมีส่วนกว้างของลำตัวมากกว่าปลาเพศผู้

การเลือกซื้อปลาอะโรวาน่า
ในการเลือกซื้อควรจะดูการว่ายน้ำต้องมีลักษณะสง่างาม หางไม่หุบ ไม่ลู่ ปลาอะโรวาน่าที่ดีจะต้องมีสีของลำตัวเข้ม ลำตัวตรง ขอบด้านและด้านบนขนานกัน ดวงตาต้องสดใสไม่คว่ำไม่ตก ปลาจะต้องมีครีบสมบูรณ์ ครีบหลังและครีบก้นต้องใหญ่ ครีบหางต้องแผ่กว้างและครีบต้องไม่มีตำหนิใด ๆ นี้จะเป็นการเลือกซื้อปลาอะโรวาน่าที่เราจะได้ปลาที่ดีและแข็งแรง

ตลาด
เราจะมาพูดถึงเรื่องตลาดกันบ้าง ในช่วงปี 2546 เศรษฐกิจของบ้านเราไม่ค่อยจะดี แต่ในขณะเดียวกันตลาดปลาอะโรวาน่ากลับได้รับความนิยมอย่างไม่น่าเชื่อ บางท่านอยากรู้ทำไมราคาปลาบ้านเราถึงได้สูงขึ้นกว่า 2-3 ปีที่ผ่านมา คือ ปลาอะโรวาน่าเขียวตัวละ 1,400 บาท แต่ตอนนี้ตัวละ 2,500 – 3,000 บาท ปลาอะโรวาน่าทองอินโด จาก 8,500 บาท มาเป็น 15,000 บาท สวนทองมาเลย์จากเดิม 30,000 บาท ตอนนี้ 45,000 บาท
จากข้อมูลที่รู้มาตอนนี้ประเทศไต้หวันได้ผ่าน cites คือได้รับใบอนุญาตจากสภาสมาคมโลกของสัตว์ป่าคุ้มครองที่ได้จากการเพาะพันธุ์ หลังจากดูระงับการนำเข้าปลามา 8 ปีเต็มแล้ว และเพิ่งผ่านเมื่อต้นปี 2546 เองครับ ประเทศไต้หวันได้สั่งปลาจำนวนมาก ทำให้บ้านเราได้ปลาจำนวนน้อยจึงทำให้ราคาในบ้านเรามีราคาสูงขึ้นนี้เอง


ปลาปอมปาดัวร์ (Pompadour) หรือที่เรียกกันว่า Discus (ซึ่งหมายถึงทรงกลม อันมาจากลักษณะของรูปร่างปลานั่นเอง) ปอมปาดัวร์เป็นปลาในตระกูลปลาหมอสี (Cichlidae) มีถิ่นกำเนิดในลุ่มแม่น้ำอะเมซอนในทวีปอเมริกาใต้ ชอบอาศัยอยู่ตามบริเวณลุ่มน้ำลำธารที่มีกระแสน้ำไหลผ่านเอื่อยๆ และมีระดับความลึกของน้ำไม่มากนัก มักหลบอาศัยอยู่ตามรากไม้น้ำหรือใต้พุ่มไม้น้ำที่มีลักษณะรกทึบจนแสงแดดแทบส่องไม่ถึง ปลาชนิดนี้จัดได้ว่ามีความทนต่อสภาพน้ำต่างๆ ได้ดีพอสมควร

ลักษณะรูปร่างของปลาปอมปาดัวร์จะกลมคล้ายจาน ปากเล็ก มีการเคลื่อนไหวเนิบนาบ อ่อนช้อย ขนาดโตเต็มที่ประมาณ 15-20 ซม. หรือประมาณ 6-8 นิ้ว มีลวดลายและสีสันเข้มข้นใกล้เคียงกับปลาทะเล ดูสวยงามมาก จึงเป็นที่นิยมนำมาเลี้ยงเป็นปลาตู้ไว้เพื่อความสวยงาม จนได้รับฉายาว่า "ราชินีแห่งปลาตู้" ปัจจุบันเป็นที่ยอมรับกันในวงการตลาดปลาสวยงาม และจัดเป็นปลาราคาแพง

หากจะพูดถึงสายพันธุ์ของปอมปาดัวร์ที่อยู่ในความนิยมในปัจจุบันมีหลายชนิด ไม่ว่าจะเป็นพันธุ์สีเดียว (Solid color) อย่างพวกบลูไดมอนด์, พันธุ์สีฟ้าตาแดง, พันธุ์สโนว์ไวท์ หรือปอมปาดัวร์ขาว, สีอื่นๆ อย่างเรดเทอร์คอร์ยส์, เรดแอนด์ไวท์ (Red & White) ฯลฯ แต่กระแสที่มาแรงตอนนี้คงหนีไม่พ้นปลาจุดต่างๆ ซึ่งมีต้นสายมาจากการพัฒนาปอมปาดัวร์เขียวอย่างพวกเสน็คสกิน ซึ่งมีจุดเล็กๆ ถี่ละเอียดกระจายอยู่ทั่วลำตัว แต่เดี๋ยวนี้ได้พัฒนาจนกระทั่งเป็นจุดกลมใหม่ สวยงามกว่าที่เห็นในอดีตไปอีกแบบหนึ่ง บางตัวก็มีปรากฏให้เห็นเป็นวงแหวนคล้ายเสือดาว ซึ่งพันธุ์ต่างๆ นี้ล้วนถูกพัฒนามาจากบรรพบุรุษสายพันธุ์ "รอยัลบลู" (Royal Blue) และ "รอยัลกรีน" (Royal Green) ต้นกำเนิดของปอมปาดัวร์ที่เพาะเลี้ยงกันอย่างแพร่หลายในปัจจุบัน

ทั้งนี้ ในยุคเริ่มต้นของการพัฒนาสายพันธุ์ ปอมปาดัวร์ห้าสีและปอมปาดัวร์เจ็ดสี นับเป็นชนิดที่มีสีสันสวยงามที่สุด เป็นปลาราคาแพงที่เพิ่งเข้ามาในตลาดปลาสวยงามบ้านเรา โดยผ่านการสั่งจากต่างประเทศ การเลี้ยงดูเรียกว่าต้องเลี้ยงแบบประคบประหงมพอสมควร มิเช่นนั้นแล้วปลาจะตื่นตกใจและตายในที่สุด บุคคลกลุ่มสำคัญที่เลี้ยงปลาเหล่านี้คือ ชาวไทยเชื้อสายจีนที่มีฐานะดี ด้วยเหตุนี้เองที่ทำให้ปอมปาดัวร์ยังไม่แพร่หลายไปในวงกว้างเท่าใดนัก แต่ยังมีกลุ่มที่ชื่นชอบและเห็นว่าเป็นปลาเศรษฐกิจที่ดีตัวหนึ่ง บวกกับโชคดีที่สภาพภูมิอากาศของบ้านเราเหมาะสมกับปลาปอมปาดัวร์ ซึ่งเป็นปลาเขตร้อนมากกว่าประเทศเมืองหนาวอื่นๆ รวมถึงอาหารการกินของปลาที่จะชอบกินตัวอ่อนของแมลงน้ำต่างๆเป็นอาหาร ปัจจัยเหล่านี้นับเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ยังคงมีการเพาะพันธุ์ และในขณะเดียวกันก็พัฒนาสายพันธุ์ให้ดียิ่งๆ ขึ้นไปในเมืองไทย

สำหรับปลาปอมปาดัวร์ฝีมือไทยทำที่เรียกเสียงฮือฮาจากเวทีโลกได้มากที่สุดคงจะหนีไม่พ้น "ปอมปาดัวร์ฝุ่น" หรือ "ปอมฝุ่น" มีพื้นสีขาวอมฟ้าและมีลายสีส้ม บนพื้นลำตัวมีจุดเล็กๆ สีดำกระจายอยู่ทั่วไป ปอมฝุ่นเป็นปลาที่เกิดจากการผ่าเหล่าของปอมเจ็ดสี ถูกนำไปโชว์ตัวครั้งแรกบนเวทีอะควาราม่า ซึ่งเป็นงานปลาสวยงามที่ใหญ่เป็นลำดับต้นๆ ของโลกเมื่อปี พ.ศ.2534 ปอมปาดัวร์ชนิดนี้เป็นต้นธารที่ทำให้เกิดปอมปาดัวร์สีใหม่ๆ อีกหลายตัว

อุปนิสัย

ปอมปาดัวร์เป็นปลาที่มีนิสัยค่อนข้างรักสงบ ไม่เหมาะที่จะปล่อยรวมกันกับปลาอื่น หรือปล่อยเลี้ยงรวมกันในตู้ที่แน่นจนเกินไป ปกติแล้วจะไม่ค่อยก้าวร้าว ซึ่งผิดแผกแตกต่างไปจากปลาชนิดอื่นๆ ในตระกูลเดียวกันที่ส่วนใหญ่แล้วจะมีนิสัยค่อนข้างดุร้าย ก้าวร้าว เว้นเสียแต่ในช่วงฤดูผสมพันธุ์วางไข่เท่านั้น ทั้งนี้ ถ้าอาศัยอยู่ในถิ่นธรรมชาติก็มักหวงอาณาเขตหากิน และมีจ่าฝูงเที่ยวรังแก รังควานปลาตัวอื่นๆ ไปทั่ว โดยเฉพาะเมื่ออยู่ในตู้เลี้ยงแคบๆ จะไม่ชอบอาศัยอยู่รวมกับปลาตัวอื่นๆ มักจะกัดกันเองอยู่เสมอ

อาหารและการเลี้ยงดู

ด้วยความที่มีนิสัยชอบสันโดษ ตู้ที่ใช้เลี้ยงปลาชนิดนี้จึงควรวางในที่เงียบสงบ และต้องดูแลเอาใจใส่อย่างดี โดยเฉพาะเรื่องความสะอาด เนื่องจากปลาปอมปาดัวร์จัดเป็นปลาที่ต้องการความสะอาด มีความอ่อนไหวง่ายมากกับสภาพน้ำและสภาพอากาศจึงจัดเป็นปลาชนิดหนึ่งที่เลี้ยงยากมาก จำเป็นต้องใช้ฮีตเตอร์เพื่อควบคุมอุณหภูมิ

สำหรับน้ำที่ใช้เลี้ยงปลาตู้ได้ดีที่สุดแล้วก็คือ ประปาแต่ทว่ามิใช่เป็นน้ำที่ไขออกจากมาใส่ตู้ปลาเลย จำเป็นต้องเตรียมน้ำตามกรรมวิธีเสียก่อนจึงจะปลอดภัยสามารถนำมาใช้เลี้ยงปลาได้ ทั้งนี้ก็เนื่องจากว่าน้ำประปา เป็นน้ำที่มีคลอรีน อันเป็นสารที่ใช้ฆ่าเชื้อโรคปนอยู่มากเป็นอันตรายต่อปลาทุกชนิด เมื่อจะนำน้ำประปามาใช้เลี้ยงปลาตู้ จึงควรรองน้ำจากก๊อกมาตากแดดปล่อยทิ้งไว้อย่างน้อย 1-3 วัน

ในเรื่องอาหารของปลาปอมปาดัวร์ ตามธรรมชาติแล้ว ปลาปอมปาดัวร์จะกินอาหารหลายอย่าง เช่น แมลงเล็กๆ ตัวอ่อนของแมลง ลูกน้ำ และพืชต่างๆ แต่สำหรับการเลี้ยงในตู้อาหารที่ใช้เลี้ยง ได้แก่ ลูกน้ำ ไส้เดือน หนอนแดง ไข่กุ้ง ไรแดง เป็นต้น สิ่งสำคัญคือ ปริมาณอาหารและคุณค่าของอาหารที่ได้สัดส่วน จำนวนครั้งในการให้อาหารควรจะเป็นดังนี้ ปลาเล็กแล้ว ให้บ่อยๆ ได้ แต่ไม่ควรเกิน 7 – 8 ครั้งต่อวัน ปลาขนาดกลาง ควรจะให้ 5 – 6 ครั้งต่อวัน ส่วนปลาขนาดใหญ่ ให้อาหาร 3 – 4 ครั้งก็เพียงพอ

โรคที่มักพบในปลาปอมปาดัวร์

โดยส่วนมากปลาปอมปาดัวร์มักจะป่วยเป็นอยู่ 2 โรค คือ

1. โรคตกหมอก อาการของโรคตกหมอก มีเมือกคลุมลำตัว ไม่กินอาหาร รักษาโดย ถ่ายพยาธิ

2. โรคขี้ขาว อาการของโรคขี้ขาว อุจจาระสีขาว ซีด ไม่ค่อยกินอาหาร รักษาโดย การเติมเกลือ 0.1%


ที่ศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงชายฝั่งประจวบคีรีขันธ์ ตำบลคลองวาฬ อำเภอเมือง จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ มีการศึกษาวิจัยและเพาะขยายพันธุ์ปลิงทะเล เพื่อหาความเป็นไปได้ในการเพาะเลี้ยงเชิงพาณิชย์ด้วยการส่งเสริมและสนับสนุน ชาวประมงชายฝั่งทำการเพาะเลี้ยง และในโอกาสที่กรมประมงได้จัดโครงการสื่อมวลชนสัญจร เส้นทางนวลจันทร์ทะเลขึ้น คณะสื่อมวลชนก็ได้มีโอกาสเยี่ยมชมงานการศึกษาวิจัยปลิงทะเลนอกเหนือจากการ ขยายพันธุ์และเพาะเลี้ยงปลานวลจันทร์ด้วย

ปลิงทะเล เป็นสัตว์น้ำเค็มไม่มีกระดูกสันหลัง อาศัยอยู่ตามก้นทะเล ฝังตัวขุดรูอยู่ในโคลน ทราย หรือตามกอสาหร่ายทะเล ปะการัง มีรูปร่างทรงกระบอก ยาวคล้ายถุง มีปากและช่องขับถ่ายอยู่ที่ปลายส่วนหัวและหาง รอบ ๆ ปากมีหนวด ผิวนุ่มมีลักษณะบางโปร่งแสง บริเวณผิวตัวจะมีสปิคุล ซึ่งเป็นแผ่นโครงร่าง ลักษณะของสปิคุลใช้ในการจำแนกชนิดของปลิงทะเล ซึ่งแต่ละชนิดจะมีสปิคุลแตกต่างกันออกไป ปลิงทะเลกินอาหารประเภทแพลงก์ตอน และสิ่งมีชีวิตขนาดเล็ก เช่น โปรโตซัว สาหร่ายทะเล และไดอะ ตอม ใช้หนวดพุ่มไม้จับอาหารโดยอาศัยเมือกเหนียว ซึ่งฉาบอยู่ตามผิวหนวด คอยดักอาหารที่ผ่านมากับน้ำและอาหารประเภทอินทรีสารที่ตกอยู่ใต้ท้องน้ำซึ่ง มักจะปนไปกับโคลนและทรายที่มันฝังตัวอยู่

การประมงปลิงทะเลส่วนใหญ่เก็บในเขตน้ำขึ้นน้ำลง และเขตน้ำตื้นชายฝั่ง เมื่อจำนวนปลิงทะเลลดน้อยลง จึงมีการดำน้ำลงไปเก็บที่ความลึกประมาณ 5-10 เมตร การแปรรูปปลิงทะเลโดยทั่วไปทำโดยผ่าหัวท้ายของปลิงเพื่อเอาอวัยวะภายในออก จากนั้นล้างทำความสะอาดและตากแห้ง ซึ่งแต่ละพื้นที่จะมีวิธีการแปรรูปตากแห้งแตกต่างกัน สำหรับน้ำหนักของผลผลิตหลังจากการแปรรูปจะแตกต่างกันไปตามชนิดของปลิง เช่น ปลิงทะเลสด จำนวน 100 กิโลกรัม จะได้ปลิงแห้งรมควัน 10 กิโลกรัม

ปลิงทะเลตากแห้งเป็นอาหารที่ขึ้นชื่อในประเทศทางตะวันออก โดยเฉพาะทางหมู่เกาะทะเลใต้ ฟิลิปปินส์และญี่ปุ่นมีผู้นิยมรับประทานกันมากการ ทำปลิงทะเลตากแห้งที่นิยมกันมี 3 วิธี 1. นำปลิงแช่น้ำทะเล ผ่าท้องทำความสะอาด นำไปต้ม 10-30 นาทีแล้วแต่ขนาดของปลิงแล้วนำไปตากแดดจนแห้ง 2. ตากแห้ง และย่างไฟ วิธีนี้นิยมทำในฟิลิปปินส์ โดยต้มปลิงในหม้อ 20 นาที นำขึ้นจากหม้อปลิงจะแข็งและยืดหยุ่นได้ ใช้มีดผ่าท้อง นำอวัยวะภายในออก และนำไปตากจนเกือบแห้ง จึงนำเข้ารมควันอีก 24 ชั่วโมง จึงเก็บใส่ถุง 3. การย่างไฟซึ่งนิยมใช้กันทางหมู่เกาะอินเดีย ตะวันออก

สำหรับประเทศไทยปลิงทะเลที่ต้มแล้วมีวางขายในตลาดสดของจังหวัดภูเก็ต ส่วนใหญ่นำไปประกอบอาหารประเภทซุป และยำ ที่จังหวัดกระบี่ ปลิงขาวมีราคากิโลกรัมละประมาณ 270 บาท ส่วนชนิดอื่นมีราคากิโลกรัมละประมาณ 90 บาท ส่วนน้ำในตัวปลิงทะเล ซึ่งมักนำไปเป็นส่วนผสมของยา จะขายในราคา 100 บาท ต่อ 1 แกลลอนขนาด 20 ลิตร ที่หมู่เกาะสุรินทร์ชาวเล จะนำปลิงตากแห้งมาขายที่ฝั่งจังหวัดระนองในราคา กิโลกรัมละ 200-400 บาท ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับคุณภาพ และชนิดของปลิงทะเล ส่วนที่จังหวัดพังงา ปลิงทะเลสด 3-35 บาทต่อกิโลกรัม ขึ้นอยู่กับชนิดของปลิงทะเลหลังจากการแปรรูปแล้วจะขายต่อให้พ่อค้าคนกลางใน ราคา 130-300 บาทต่อกิโลกรัม

การศึกษาวิจัยเพื่อความเป็นไปได้ในการขยายพันธุ์ และเพาะเลี้ยงเชิงพาณิชย์ของศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงชายฝั่งประจวบ คีรีขันธ์ กรมประมง ซึ่งพบว่ามีแนวทางสดใสในความเป็น ไปได้ นับว่าเป็นเรื่องที่ดีเพราะจะทำให้เกษตรกรโดยเฉพาะชาวประมงชายฝั่งสามารถนำ มาเพาะเลี้ยงเป็นอาชีพได้อย่างยั่งยืน และที่สำคัญจะ ทำให้การรบกวนโดยการลงไปจับปลิงทะเลในธรรมชาติจะได้ลดน้อยลงไป อันจะเป็นการช่วยรักษาความสมดุลทางธรรมชาติของทะเลไทยต่อไปได้ยาวนานนั่น เอง.


ปลาปอมปาดัวร์ หรือจะเรียกว่าปลาดิสคัสก็ได้นะคะ มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Symphysodon ชื่อสามัญก็คือ Discus อยู่ในครอบครัว Cichlidae รูปร่างลักษณะจะมีรูปทรงกลม ลำตัวแบน มีความกว้างของลำตัวมาก จนมีลักษณะคล้ายรูปจาน ครีบหลังและครีบท้องเรียงเป็นแถวยาวตลอดจนถึงโคนครีบหาง มีลวดลายและสีสันบนลำตัวหลายสีตามชนิดและสายพันธุ์ ปลาปอมปาดัวร์นี้เป็นที่นิยมเลี้ยงของเหล่านักเลี้ยงปลาสวยงามเพราะมีราคาดี ตลาดมีความต้องการมากทั้งในและต่างประเทศ แต่เนื่องจากเป็นปลาที่เลี้ยงค่อนข้างยาก ผู้เลี้ยงมือใหม่จึงมักจะไม่ค่อยประสบผลสำเร็จในการเลี้ยงกันนัก ดังนั้นเรามาเริ่มต้นดูแลเอาใจใส่เจ้าปอมปาดัวร์กันดีกว่า เริ่มต้นเมื่อเราต้องการเลี้ยงปลาปอมปาดัวร์ สิ่งแรกที่ต้องคำนึงถึงก่อนคือ บ้านของพวกมันนั่นเอง ควรที่จะมีการเตรียมพร้อมก่อนที่จะนำปลามาเลี้ยง
1.ตู้ปลา เป็นตู้กระจก ขนาดที่ใช้ในการเลี้ยงก็ขึ้นอยู่กับความต้องการของแต่ละคนว่าต้องการขนาดใหญ่หรือเล็ก และความสะดวกของสถานที่ในการเลี้ยง ส่วนสถานที่วางตู้ควรวางในสถานที่ที่ไม่พลุกพล่านมากนัก เนื่องจากปลาปอมปาดัวร์เป็นปลาที่ตื่นตกใจง่าย
2.ระบบกรองน้ำ ซึ่งจะช่วยลดการเปลี่ยนถ่ายน้ำ และระบบการให้อากาศ เพื่อช่วยเพิ่มปริมาณออกซิเจนในน้ำให้กับปลา และ Heater เพื่อช่วยปรับอุณหภูมิของน้ำด้วย
3.น้ำ ต้องแน่ใจว่าในน้ำไม่มีคลอรีนตกค้างอยู่ ควรมีการพักน้ำก่อนที่จะนำมาใช้ คุณภาพน้ำที่ใช้ในการเลี้ยงปลาปอมปาดัวร์ต้องเป็นน้ำที่สะอาด หากสภาพน้ำไม่เหมาะสมจะทำให้ปลาเกิดความเครียด มีอาการลำตัวดำคล้ำ สีไม่สดใส ดังนั้นควรดูแลใส่ใจคุณภาพน้ำเป็นพิเศษ คุณภาพน้ำที่เหมาะสมคือ มีค่า pH 6.4-7.5 อุณหภูมิ 25-32 องศาเซลเซียส ควรมีการถ่ายน้ำ 10-20% ทุกวันหรือวันเว้นวัน
4.อาหาร ให้อาหารวันละ 2 ครั้ง หรือตามความต้องการในปริมาณที่เหมาะสม เนื่องจากถ้าหากอาหารเหลือจะทำให้น้ำเสียง่าย อาหารที่ใช้อาจเป็นอาหารสด เช่น ไรแดง ทะเล หนอนแดง หรืออาหารสำเร็จรูปก็ได้
เมื่อรู้ขั้นตอนการเตรียมพร้อมที่จะเลี้ยงแล้ว จากนั้นก็เริ่มมองหาปลาปอมปาดัวร์สายพันธุ์ที่เราชอบมาเลี้ยง ซึ่งสายพันธุ์ที่นิยมเลี้ยงและมีการประกวดในงานปลาสวยงามต่างๆได้แก่ Brown Discus, Red Discus, Blue Diamon, Snake Skin, Striped Pigeon Blood, Solid Pigeon Blood, Cobolt Blue, San Merah และหลังจากที่เราซื้อปลามาแล้ว ก็นำถุงที่บรรจุปลามาลอยในน้ำเพื่อให้ปลามีการปรับสภาพตัวเอง แล้วก็ค่อยปล่อยปลาลงเลี้ยงในตู้
ทั้งหมดนั้นเป็นความต้องการของเจ้าปลาปอมปาดัวร์ ซึ่งถ้ามีการดูแลเอาใจใส่เป็นอย่างดีแล้ว เพียงแค่นี้เจ้าปอมปาดัวร์จะต้องอยากมีชีวิตอยู่กับเราไปอีกนานแสนนานอย่างแน่นอน


1. น้ำต้องสะอาดไม่ควรมีเชื้อโรค ห้ามใช้น้ำประปาที่เปิดจากก๊อกน้ำโดยตรง เฉพาะคลอรีนและปูนที่อยู่ในน้ำจะฆ่าปลาได้ในเวลาอันรวดเร็วควรพักน้ำประปาไว้สัก 2-3 วันจึงนำมาใช้
2. ใช้เครื่องกรองน้ำซึ่งหาซื้อได้ตามร้านทั่วไปเลือกให้เหมาะกับขนาดของตู้
3. ขนาดของตู้เลี้ยงควรจะใหญ่สักหน่อย ถ้าเลี้ยงพวกหมอสีพันธุ์เล็ก ความยาวของตู้ไม่ควรต่ำกว่า 24 นิ้ว ถ้าเป็นพันธุ์ใหญ่ก็ไม่ควรต่ำกว่า 36 นิ้ว ควรมีสัก 2 ตู้ เพื่อเป็นตู้พักปลา 1 ตู้ ตู้เลี้ยง 1 ตู้
4. อาหารปลาหมอสีกินอาหารสำเร็จรูปได้ดี ซึ่งเราหาซื้อได้ทั่วไปแต่ถ้าที่บ้านใกล้แหล่งเพาะยุงหรือใกล้บริเวณที่มีลูกน้ำลูกไรมาก และหาได้สะดวกก็ให้ลูกน้ำ ลูกไร เป็นอาหารจะดีมากทั้งประหยัดเงินและมีอาหารที่มีคุณค่าดี
5. ก้อนหิน ก้อนกรวด พันธุ์ไม้น้ำที่เราคิดว่าจะจัดลงไปในตู้นั้นควรจะทำความสะอาดให้ดี ก้อนหินก็ควรจะแช่น้ำลดความเป็นด่างลงพันธุ์ไม้น้ำก็ควรจะพักไว้ในถังหรือตู้อื่นๆ รอจนมันฟื้นตัวได้แล้วค่อยนำมาจัดในตู้
6. ตู้ปลาควรจะตั้งอยู่ใกล้กับที่พักน้ำเพื่อเปลี่ยนน้ำในตู้ปลาได้สะดวก ปัญหานี้ดูเหมือนเล็กแต่ก็มีหลายๆรายที่เลิกเลี้ยงปลา เพราะต้องเปลี่ยนน้ำในตู้ปลาบางรายถึงขั้นทะเลาะกันเพราะเกี่ยงกันเปลี่ยนน้ำตู้ปลา บางรายถูกคำสั่งห้ามเลี้ยงหลังจากการเปลี่ยนน้ำตู้ปลาผ่านไปไม่ถึงครึ่งชั่วโมง เพราะขณะเปลี่ยนน้ำตู้ปลาบริเวณระหว่างที่พักน้ำกับตู้ปลาจะกลายเป็นเขตอันตรายสูงสุดต่อชีวิตของคนแก่และเด็ก รวมทั้งสตรีมีครรภ์ไปในทันที การลื่นหกล้มในบริเวณนี้จะเกิดขึ้นบ่อยมาก
7. เวลา ถ้าคุณต้องออกจากบ้านตั้งแต่ตีห้าครึ่งและกลับถึงบ้านประมาณไม่ถึงสี่ทุ่มดีในวันปกติ วันเสาร์ต้องตื่นสิบโมงเช้าเพื่อนอนชดเชยพอตื่นก็ต้องทำงานบ้านจิปาถะที่ค้างตั้งแต่จันทร์-ศุกร์ แล้วก็ขอแนะนำว่าไปปลูกต้นไม้ดีกว่าเพราะปลาที่คุณเลี้ยงไว้นั้นมันพากันตายหมดแล้ว ก่อนเลี้ยงปลาต้องถามตัวเองก่อนว่ามีเวลาไหม และคนรอบข้างจะยินดีไหมที่คุณจะเลี้ยงปลา เพราะคนรอบข้างนั้นก็คือคนงานของคุณขณะเปลี่ยนน้ำตู้ปลา ถ้าเกิด คนงานสไตรท์ขณะเปลี่ยนน้ำไปได้ครึ่งเดียว ภาระทั้งหมดก็จะอยู่ที่คุณคนเดียวจริงๆ
เมื่อหลัก 7 ประการนี้คุณแก้ปัญหาได้แล้ว คราวนี้ก็เริ่มลงมือเลี้ยงกันได้ สมมุติว่าตู้ปลาจัดตกแต่งเรียบร้อยแล้ว ตำราก็อ่านแล้วมีความมั่นใจ 100% ถุงใส่ปลาถูกแกะออกปลาฝูงแรกถูกปล่อยลงตู้แล้วทุกตัวพร้อมใจกันว่ายเข้าหาที่ซ่อน ไม่ต้องตกใจนั่นเป็นสัญญาณของปลา สักครู่ตัวที่กล้าหน่อยหรือตกใจน้อยหน่อยจะเริ่มว่ายน้ำสำรวจที่อยู่อาศัยใหม่ ตัวอื่นๆก็จะตามมาที่มีนิสัยรวมฝูงก็จะรวมกัน บางตัวก็ว่ายเที่ยวแล้วแต่ชนิดและนิสัยของแต่ละตัวไม่ต้องให้อาหารวันที่สองเมื่อปลาส่วนใหญ่สงบลงแล้วเริ่มให้อาหารเล็กน้อยเป็นอาหารมีชีวิตได้ก็ดีถ้าไม่มีอาหารเม็ดก็ได้ ให้น้อยๆดูจนกว่าปลาจะกินอาหารเม็ดหมด ทิ้งไว้สัก 2-3 ชั่วโมง ถ้ามีเศษอาหารเหลือก็ให้ตักออกทิ้งไป สัปดาห์แรกผ่านไปคุณจะรู้สึกว่าตัวเองกะประมาณอาหารที่ให้ปลาได้ดีขึ้น

อาหารที่ให้ไม่ค่อยเหลือซึ่งจะดีมากน้ำจะใสไม่เสีย ถ้ามีปลาตายก็รีบตักออกไปจากตู้โดยเร็ว สังเกตุด้วยว่าตายสภาพอย่างไร ถ้าครีบขาดรุ่งริ่งแสดงว่ามันกัดกัน แยกตัวที่ก้าวร้าวออกไปใส่ไว้ในตู้พักปลา ถ้าภายในสภาพตัวยังสมบูรณ์ก็เกิดจากหลายสาเหตุ และตายติดต่อกันทุกวันก็ต้องเปิดตำราและถามผู้รู้แล้วละ สัปดาห์ที่สอง-สาม-สี่ ปลาก็จะเริ่มคุ้นกับคุณแล้วละมันจะเริ่มมาหาคุณไม่กลัวคุณ ยิ่งคุณอยู่ดูมันมากเท่าใดมันก็จะยิ่งคุ้นกับคุณมากขึ้นเท่านั้น การสื่อสารระหว่างคุณกับปลาก็จะยิ่งรู้เรื่องกันมากขึ้น

1.ควรแยกปลาตัวที่ป่วยนั้นทันที เพื่อทำการรักษาและวินิจฉัยโรค
2.ในขณะวินิจฉัยโรค ไม่จำเป็นต้องนำปลาขึ้นพ้นน้ำ ควรตักปลาไว้บนผิวน้ำสำหรับบ่อ ชิดกระจกสำหรับตู้กระจก
3.ควรปรับน้ำในภาชนะที่แยกปลาไปรักษาให้อุณหภูมิในน้ำใกล้เคียงกับน้ำในภาชนะที่ใช้เลี้ยง
4.เมื่อแยกปลาป่วยออกไปแล้ว ควรใส่ยาลงในภาชนะที่เลี้ยงด้วย เพื่อป้องกันเชื่อโรคที่อาจตกค้างอยู่ไม่ให้แพร่ระบาดไปสู่ปลาตัวอื่น
5.ควรใส่เกลือทุกครั้งที่ทำการรักษาโรค เพราะเกลือมีคุณสมบัติในการฆ่าเชื่อโรคบางชนิด
6.ตัวยาบางชนิดมีความไวต่อแสง ดังนั้นการใส่ยาควรใส่ในช่วงเย็น เพื่อป้องกันการเสื่อมของฤทธิ์ยา
7.อุณหภูมิของน้ำควรปรับให้สูงขึ้น อยู่ในช่วง 27-30 องศาเซลเซียส ซึ่งเป็นระดับที่เหมาะสมกับการรักษาปลาป่วย
8.อากาศควรมีมากกว่าปกติ เพราะปลาป่วยจะต้องการออกซิเจนมากเป็นพิเศษ
9.ในระหว่างที่ทำการรักษาอยู่นั้น ควรเปลี่ยนถ่ายน้ำทุกวัน เพื่อที่จะได้เอาเชื่อโรคที่หลุดจากตัวปลาออก
10.ปลาที่พึ่งหายป่วย ควรกักทิ้งไว้ 2-3 วัน ก่อนนำไปเลี้ยงรวมกับปลาอื่นๆ
11.เมื่อรักษาปลาจนหายดีแล้ว ก็ควรเก็บทำความสะอาดภาชนะที่ใช้รักษาปลาให้สะอาด เพื่อป้องกันการหลงเหลือของเชื้อโรค

จากกระแสการพัฒนาของมนุษยชาติก่อให้เกิดผลกระทบต่อความหลากหลายทางชีวภาพต่างๆ บนโลก เริ่มจะทวีความรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ นับตั้งแต่เกิดการปฏิวัติอุตสาหกรรม จนกระทั่งหลังจากสงครามโลกครั้งที่สองสิ้นสุดลง นานาประเทศเริ่มรู้สึกตระหนักในปัญหาสิ่งแวดล้อมระหว่างประเทศมากขึ้น จวบจนกระทั่ง ใน ปี พ.ศ.2515 องค์การสหประชาชาติจึงได้จัดประชุมว่าด้วยเรื่องสิ่งแวดล้อมของมนุษย์ขึ้นที่กรุงสตอร์กโฮล์ม ประเทศสวีเดน โดยมีผู้แทนของรัฐบาลจาก 113 ประเทศเข้าร่วมการประชุมและที่ประชุมได้มีการพิจารณาปัญหาสิ่งแวดล้อมอย่างกว้างขวาง ผลจากการประชุมก่อให้เกิด โครงการสิ่งแวดล้อมของสหประชาชาติ (UNEP - United Nations Environment Programme) ขึ้นในระบบงานสหประชาชาติ เพื่อทำหน้าที่ในการปฏิบัติตามนโยบายและข้อเสนอแนะตามที่ปรากฏในประกาศหลักการและแผนปฏิบัติการกรุงสตอร์กโฮล์ม รวมทั้งการประสานงานด้านสิ่งแวดล้อมทั้งปวงของสหประชาชาติ ซึ่งนับเป็นจุดเริ่มต้นในการก่อให้เกิดอนุสัญญาระหว่างประเทศขึ้นมาหลายฉบับที่มีวัตถุประสงค์ในเรื่องการคุ้มครองสภาวะแวดล้อมของโลก
กำเนิดอนุสัญญาไซเตส
อนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศ ซึ่งชนิดของสัตว์ป่าและพืชป่าที่ใกล้จะสูญพันธุ์ หรือที่เรารู้จักกันดีในนามของอนุสัญญาไซเตส (CITES - Convention on International Trade in Endangered Species of Wild Fauna and Flora) เป็นผลพวงจากการประชุมดังกล่าวและโดยการริเริ่มของ
- โครงการสิ่งแวดล้อมของสหประชาชาติ (UNEP - United Nations Environment Programme)
- สหภาพระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (IUCN - International Union for the Conservation of Nature and Natural Resources)
- กองทุนสัตว์ป่าโลก (WWF - World Wide Fund for Nature)
- สมาคมขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศ (IATA - International Air Transportation Association)
จุดมุ่งหมายของอนุสัญญาไซเตส เพื่อคุ้มครองพันธุ์สัตว์ป่า(รวมสัตว์น้ำ)และพืชป่าที่หายากหรือชนิดที่อยู่ในภาวะถูกคุกคามมิให้มีการสูญพันธุ์ไป อันเนื่องมาจากการค้าระหว่างประเทศ โดยได้มีการกำหนดมาตรการและเงื่อนไขในการควบคุมการค้าสัตว์และพืชดังกล่าวไว้ ซึ่งองค์การตำรวจสากลได้ประเมินการลักลอบค้าสัตว์ป่าและพืชป่าผิดกฎหมายระหว่างประเทศในปี2544 ว่ามีมูลค่าเป็นลำดับที่สอง รองจากการค้ายาเสพติด
สำหรับประเทศไทยได้เป็นสมาชิกร่วมลงนามในอนุสัญญาดังกล่าวเมื่อปี พ.ศ.2518 และให้สัตยาบันเมื่อวันที่ 21 มกราคม 2526
อนุสัญญาไซเตสได้สร้างเครือข่าย ซึ่งประกอบด้วยประเทศต่างๆที่เป็นสมาชิกทั่วโลกซึ่งปัจจุบันมีประเทศภาคี จำนวน 157 ประเทศ เพื่อควบคุมการค้าสัตว์ป่าระหว่างประเทศภายใต้เงื่อนไขที่ประเทศสมาชิกกำหนดขึ้น โดยแบ่งความเข้มงวดในการค้าสัตว์ป่าระหว่างประเทศออกเป็น 3 ระดับ ตามหลักการดังนี้
ชนิดพันธุ์ในบัญชีหมายเลข 1 (Appendix I) เป็นชนิดพันธุ์ของสัตว์ป่าและพืชป่าที่ห้ามค้าโดยเด็ดขาด เนื่องจากใกล้จะสูญพันธุ์ ยกเว้นเพื่อการศึกษา วิจัย หรือเพาะพันธุ์ ซึ่งก็ต้องได้รับความยินยอมจากประเทศที่จะนำเข้าเสียก่อน ประเทศส่งออกจึงจะออกใบอนุญาตส่งออกได้ ทั้งนี้ต้องคำนึงถึงความอยู่รอดของชนิดพันธุ์นั้นๆ ด้วย
ชนิดพันธุ์ในบัญชีหมายเลข 2 (Appendix II) เป็นชนิดพันธุ์ของสัตว์ป่าและพืชป่าที่ยังไม่ถึงกับใกล้จะสูญพันธุ์ จึงยังอนุญาตให้ค้าได้ แต่ต้องมีการควบคุมไม่ให้เกิดความเสียหาย หรือลดปริมาณลงอย่างรวดเร็วจนถึงจุดใกล้จะสูญพันธุ์ โดยประเทศที่จะส่งออกต้องออกหนังสืออนุญาตให้ส่งออกและรับรองว่าการส่งออกแต่ละครั้ง จะไม่กระทบกระเทือนต่อการดำรงอยู่ของชนิดพันธุ์นั้นๆ ในธรรมชาติ
ชนิดพันธุ์ในบัญชีหมายเลข 3 (Appendix III) เป็นชนิดพันธุ์ที่ได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายของประเทศใดประเทศหนึ่งแล้วขอความร่วมมือประเทศภาคีสมาชิกให้ช่วยดูแลการนำเข้า คือจะต้องมีหนังสือรับรองการส่งออกจากประเทศถิ่นกำเนิด
ผู้ที่ได้รับอนุญาตให้นำเข้า ส่งออก หรือนำผ่าน ต้องแสดงใบอนุญาตนำเข้า (Import Permit) ใบอนุญาตส่งออก (Export Permit) หรือใบอนุญาตนำผ่าน (Transit Permit) ให้เจ้าหน้าที่ประจำด่านตรวจสอบทุกครั้ง
"อนุสัญญาไซเตสไม่ได้มีผลควบคุมการค้าภายในประเทศสำหรับชนิดพันธุ์ใดๆ ที่เป็นของท้องถิ่น"

ประเทศไทยถูกสั่งห้ามทำการค้าขายสัตว์ป่าและพืชป่ากับประเทศสมาชิก
หลังจากที่ประเทศไทยได้เป็นสมาชิกอนุสัญญาไซเตสในปี2526 แล้ว ไม่สามารถนำเงื่อนไขบางข้อมาปฏิบัติตามดังที่ได้ลงนามผูกพันไว้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การไม่มีกฎหมายบังคับใช้ในเรื่องเกี่ยวกับการควบคุมการนำเข้า ส่งออก หรือนำผ่าน สัตว์ป่าและพืชป่าระหว่างประเทศ ไม่มีด่านตรวจสัตว์ป่าคอยตรวจสอบการนำเข้า ส่งออก หรือนำผ่านดังกล่าว ดังนั้น ในปี2534 เมื่อครั้งที่มีการประชุมใหญ่ภาคีสมาชิก ประเทศไทยถูกลงมติสั่งห้ามทำการค้าขายสัตว์ป่าและพืชป่ากับประเทศสมาชิก มีผลทำให้อุตสาหกรรมการส่งออกกล้วยไม้ ผลิตภัณฑ์เครื่องหนังจระเข้ รวมทั้งสัตว์ป่า พืชป่า และผลิตภัณฑ์ดังกล่าวไม่สามารถส่งไปจำหน่ายยังประเทศสมาชิกซึ่งมีมากกว่าร้อยประเทศได้ ส่งผลเสียหายคิดเป็นมูลค่าประมาณสองพันล้านบาท
ต่อมา ในปี2535 สมัยที่นายอานันท์ ปันยารชุน เป็นนายกรัฐมนตรี ได้ดำเนินการแก้ไขปรับปรุงพระราชบัญญัติพันธุ์พืช พ.ศ.2518 และพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2503 ให้มีมาตรการใช้บังคับที่สอดคล้องกับมาตรการตามอนุสัญญาไซเตส โดยเสนอผ่านสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาในสามวาระรวด เป็นพระราชบัญญัติพันธุ์พืช(ฉบับที่2) พ.ศ.2535 และพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2535 อย่างรวดเร็ว มีผลทำให้ประเทศไทยสามารถกลับมาทำการค้าสัตว์ป่าและพืชป่าระหว่างประเทศได้ดังเดิม ภายหลังจากนั้น ก็มีประเทศสมาชิกถูกลงโทษดังเช่นที่ประเทศไทยอยู่เนืองๆ และล่าสุดในต้นปี2545 ประเทศเวียดนามก็ไม่พ้นชะตากรรมเช่นกัน
พระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2535
พรบ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2535 เป็นกฎหมายหลักในการอนุรักษ์ทรัพยากรสัตว์ป่าหายากใกล้จะสูญพันธุ์ของไทย รวมทั้งสัตว์ป่าของต่างประเทศด้วย ซึ่งกฎหมายดังกล่าวครอบคลุมถึงสัตว์น้ำและผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำที่ใกล้จะสูญพันธุ์ด้วย โดยกรมประมงทำหน้าที่ในการดูแลในส่วนที่เป็นสัตว์น้ำ ส่วนกรมป่าไม้ดูแลในส่วนที่เป็นสัตว์ป่า ดังนั้น ในการกล่าวถึงสัตว์ป่าตามกฎหมายนี้จะหมายความรวมถึงสัตว์น้ำด้วย ต่อมาในปี2545 ได้มีการปฏิรูประบบราชการมีผลทำให้งานเกี่ยวกับการสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่าในส่วนที่กรมป่าไม้ดูแลไปอยู่กับกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช
เหตุผลที่ประกาศใช้
1. เพื่อสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่าให้มีประสิทธิภาพ
2. เพื่อเร่งรัดการขยายพันธุ์สัตว์ป่าควบคู่ไปกับการสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า
3. เพื่อความร่วมมือตามความตกลงระหว่างประเทศในการสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่าเป็นไปอย่างเหมาะสม
ชนิดปลาที่ได้รับการคุ้มครองจากอนุสัญญาไซเตส
1. ปลาปอดออสเตรเลีย ( Neoceratodu forsteri )
2. ปลาซีลาแคนท์ ( Latimeria chalumnae ) และ ( L. menadoensis )
3. ปลาสเตอร์เจียนจมูกสั้น ( Acipenser brevirostrum )
4. ปลาสเตอร์เจียน ( Acipenser strurio )
5. ปลาสเตอร์เจียนแอตแลนติค (Acipenser oxyrhynchus )
6. ปลาฉลามปากเป็ด ( Polyodon spathula )
7. ปลาตะพัด หรืออะโรวาน่า ( Scleropages formosus )
8. ปลาช่อนยักษ์ ( Arapaima gigas )
9. ปลายี่สก ( Probarbus jullieni )
10. ปลาตะเพียนตาบอดอาฟริกา ( Caecobarbus geertsi )
11. ปลาตะเพียนติดหินน้ำจืด ( Chasmistes cujas )
12. ปลาบึก ( Pangasianodon gigas )
13. ปลาจวดแมคโดนัล ( Cynocion macdonaldi )
ปลาชนิดดังกล่าว ได้ถูกควบคุมในการนำเข้า ส่งออก หรือนำผ่านระหว่างประเทศ ผู้ที่สามารถจะทำได้ต้องได้รับใบอนุญาตทั้งจากประเทศต้นทางและประเทศปลายทาง ซึ่งปลาบางชนิดเป็นปลาที่อยู่ในบัญชี1 ซึ่งถูกเข้มงวดมาก ดังเช่น ปลาบึกและปลายี่สก ซึ่งเป็นปลาที่มีถิ่นกำเนิดในประเทศไทย กรมประมงไม่สามารถออกใบอนุญาตให้ส่งจำหน่ายไปยังต่างประเทศได้ แต่ถ้าหากมีฟาร์มที่สามารถเพาะพันธุ์ปลาดังกล่าวในเชิงธุรกิจได้ และได้ดำเนินกระบวนการรับรองฟาร์มจากกรมประมงและอนุสัญญาไซเตส ชื่อของฟาร์มเพาะพันธุ์ดังกล่าวก็จะได้รับการเผยแพร่ไปยังประเทศสมาชิก 157 ประเทศ โดยฟาร์มดังกล่าวก็จะสามารถส่งปลาบึกหรือปลายี่สกออกไปจำหน่ายยังต่างประเทศได้ ดังเช่น ฟาร์มเพาะพันธุ์ปลาตะพัดในประเทศอินโดนีเซียจำนวน 16 ฟาร์ม ในประเทศมาเลเซีย จำนวน 5 ฟาร์ม และในประเทศสิงคโปร์ จำนวน 5 ฟาร์ม ที่มีมูลค่าการส่งปลาตะพัดจำหน่ายไปยังประเทศต่างๆทั่วโลกปีละหลายพันล้านบาท สร้างรายได้เข้าสู่ประเทศของตนเองมาหลายปีแล้ว ในขณะที่ฟาร์มเพาะพันธุ์ปลาตะพัดของประเทศไทยยังไม่มีฟาร์มใดที่ผ่านการรับรองจากอนุสัญญาฯเลย แม้แต่ฟาร์มเดียว อาจจะเป็นเพราะว่าเราเพิ่งจะเริ่มมีการจดทะเบียนฟาร์มเพาะพันธุ์กันเมื่อ 1-2 ปีที่ผ่านมา ทำให้เทคนิคด้านการเพาะพันธุ์ยังไม่ก้าวหน้าเท่าที่ควร แต่เชื่อได้เลยว่าอีกไม่นานเกินรอ ผลสำเร็จคงจะมาถึง


ปลาทองเป็นปลาซึ่งมิได้เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ แต่เป็นปลาที่มนุษย์ผสมคัดพันธุ์ขึ้นมา จนได้ลูกปลาซึ่งมีลักษณะพิเศษเฉพาะออกมา หรือจะเรียกว่าเป็นปลาที่มีลักษณะพิกลพิการก็ได้ ซึ่งปลาเหล่านี้จะมีลักษณะค่อนข้างเปราะบางกว่าสายพันธุ์ดั้งเดิม ปลาทองจะไม่สามารถช่วยเหลือตนเองได้เลยเมื่อถูกปล่อยให้อยู่ร่วมสังคมกับปลาชนิดอื่น(เคยสังเกตไหมครับ)
การเลี้ยงปลาทองหากจะว่ากันไปแล้วก็ไม่ใช้เรื่องยากเย็นอะไร เพราะปลาสวยงามชนิดนี้จัดได้ว่าเป็นปลาที่มีความอึดดีอยู่แล้ว ที่สำคัญตอนซื้อต้องระวังปลาที่ป่วยอยู่แล้ว เพราะถ้าเรานำปลาป่วยมาเลี้ยง ต่อให้เลี้ยงดีแค่ไหนก็มีสิทธิตายได้ ดังนั้นเทคนิคการเลี้ยงปลาทองที่อยากแนะนำเพื่อให้ปลาทองอยู่กับเรานานๆ มีหลักพื้นฐานอยู่ 3 ข้อ
1.เลี้ยงในจำนวนที่เหมาะสม โดยดูจากภาชนะที่ใช้เลี้ยง ตู้ที่นิยมเลี้ยงส่วนมากเป็นตู้ขนาด 60 ซ.ม. ( 24 นิ้ว ) จะใช้เลี้ยงปลาทองที่มีความยาว 3-4 ซ.ม. ประมาณ 7-8 ตัว ถ้าหากตู้ปลาไม่ค่อยประดับอะไรมากนัก ควรติดตั้ง”แอร์ปั้ม” เพื่อเป็นการเพิ่มอากาศในตู้ปลา ถ้าหากแอร์ปั้มมีขนาดใหญ่ ตู้ปลาขนาด 60 ซ.ม. จะสามารถเลี้ยงได้ถึง 15-20 ตัว แต่ต้องคำนึงถึงระบบกรองน้ำด้วย เพราะปลายิ่งมากน้ำก็จะยิ่งสกปรกเร็ว
2.การให้อาหาร การกินอาหารมากเกินไป ก็เป็นสาเหตุหนึ่งของการทำให้ปลาเสียการทรงตัว ดังนั้นการให้อาหารทีละน้อยๆจึงเป็นเรื่องที่ดี ถ้าให้อาหารมากเกินไป ปลากินไม่หมดหรือกินไม่ทั่ว เศษอาหารที่จมลงพื้นตู้หรือก้นบ่อจะเริ่มทำให้น้ำสกปรกได้ง่าย ทำให้เป็นปัญหาต่อผู้เลี้ยงโดยทั่วกัน เพราะเมื่อให้อาหารมากจนเกินไป การย่อยสลายเริ่มเลวลง อาการเจ็บป่วยด้วยโรคต่างๆเริ่มตามมา จะเห็นได้ชัดในช่วงหน้าหนาว
3.ระวังเรื่องคุณภาพน้ำที่แย่ลง สภาพน้ำที่แย่ลงนั้นสืบเนื่องได้หลายสาเหตุ เราควรจะเปลี่ยนน้ำใหม่เมื่อเจอสภาพน้ำดังนี้
-น้ำที่ขาวขุ่น
-เกิดเป็นฟองขาวขึ้น ไม่ยอมแตกหายไป
-ปลาทั้งหมดพร้อมใจลอยเชิดจมูกอยู่ตามผิวน้ำ
-น้ำเปลี่ยนเป็นสีขาวขุ่นอย่างกะทันหัน อาจเพราะแบคทีเรีย หรือแอมโมเนียในน้ำสูงเกินไป
ทั้งหมดที่กล่าวมานั้นเป็นพื้นฐานของนักเลี้ยงปลาสวยงามเท่านั้น แต่สิ่งที่สำคัญมากกว่า คือ การติดตามดูแลเอาใจใส่เลี้ยงดูปลาของท่านอย่างใกล้ชิด จะเป็นการช่วยลดโอกาสเสี่ยงต่อการสูญเสียปลาทองอันเป็นที่รัก

ปักเป้า


ปลาปักเป้าน้ำจืดในประเทศไทยนั้นมีอยู่ 3 สกุล 12 ชนิด หากยังไม่ทราบสามารถอ่านรายละเอียดที่ผมนำมาฝากได้เลยครับเริ่มจาก
สกุล Carinotetraodon
ปลาปักเป้ามีลักษณะเด่นอยู่ที่ว่า เพศผู้และเพศเมียจะมีความแตกต่างกันมากในเรื่องรูปร่างและสีสัน เพศผู้จะมีลำตัวใหญ่กว่า ลำตัวแบนข้างมากกว่า และมีสีสันสวยงามกว่าเพศเมีย นอกจากนี้ในการแสดงความก้าวร้าวเพศผู้สามารถกางผิวหนังบนส่วนหัวและท้องได้ ปักเป้าสกุลนี้มีขนาดค่อนข้างเล็กกว่าสกุลอื่น ที่สำคัญยังมีปักเป้าขนาดเล็กที่สุดในโลกอย่าง เจ้าปักเป้าสีเหลืองตัวจ้อย Yellow Puffer (C. tarvancoricus) ร่วมเป็นสมาชิกด้วยครับ
ปลาปักเป้าสมพงษ์ (ปลาสวยงาม) , ปักเป้าตาแดง (ฝั่งธนบุรี) Carinotetraodon lorteti ปลาสกุลนี้น่าจะพบในประเทศไทย 2 ชนิด โดยทั่วไปจะรู้จักเพียงชนิดเดียวและเรียกกันโดยทั่วไปว่า “ปักเป้าสมพงษ์” ปักเป้าสมพงษ์ถูกค้นพบโดยคนไทยชื่อ นายสมพงษ์ เล็กอารีย์ จัดอยู่ในวงศ์ (Tetraodontidae) มีลำตัวสีเทาอมเขียว ใต้ท้องสีขาว มีลวดลายสีเทาเข้มขนาดใหญ่พาดบนแผ่นหลังและข้างลำตัว สามารถปรับเปลี่ยนสีลำตัวให้เข้มหรือจางได้ตามสภาพแวดล้อม ตามีสีแดงสามารถกลอกกลิ้งไปมาได้ ตัวผู้และตัวเมียแตกต่างกันอย่างชัดเจน กล่าวคือ ตัวผู้จะมีลำตัวใหญ่กว่าตัวเมีย มีตัวสีแดง ขณะที่ตัวเมียมีขนาดเล็ก ลำตัวมีสีเขียว มีขนาดโตเต็มที่ประมาณ 3 นิ้ว พบกระจายอยู่ทั่วไปตามแม่น้ำลำคลอง โดยมักหลบอยู่ใต้กอผักตบชวา ปลาชนิดนี้จับง่ายเนื่องจากเป็นปลาที่เคลื่อนที่ได้ช้า พบว่าในการช้อนตักแต่ละครั้งจะได้ปักเป้าประมาณ 3-4 ตัว/กอผักตบชวาหนึ่งกอ





ปลาปักเป้าสมพงษ์ Carinotetraodon lorteti
ในปัจจุบันปลาปักเป้าสมพงษ์สามารถเพาะขยายพันธุ์ได้แล้วในตู้เลี้ยง นิยมให้หนอนแดงและไรทะเลเป็นอาหาร ส่วนที่อาศัยอยู่ตามธรรมชาติจะกินกุ้งตัวเล็ก ๆ ที่อยู่ตามกอผักตบชวา
ปักเป้า Carinotetraodon cf. salivator
พบในเขตภาคใต้แถบแม่น้ำโกลกและแม่น้ำตาปี นอกจากนี้ยังมีรายงานการแพร่กระจายในคาบสมุทรมาเลย์และทางตอนเหนือของกาลิมันตันอีกด้วย
สกุล Chonerhius
ปักเป้าสกุลนี้มีลักษณะเด่นกว่ากลุ่มอื่นตรงที่มีลำตัวค่อนข้างแบนข้าง มีครีบหลังและครีบก้นค่อนข้างใหญ่ ว่ายน้ำได้เร็วกว่าปักเป้าน้ำจืดกลุ่มอื่น พองตัวได้น้อยกว่าปักเป้ากลุ่มอื่นและจัดเป็นปักเป้าที่มีความอันตรายต่อความเป็นชายมากกว่ากลุ่มอื่นในประเทศไทยพบเพียงสองชนิดครับ
ปักเป้าทอง Chonerhinus modestus
ปักเป้าทองจัดอยู่ในวงศ์ (Familty Tetraocloncidac) มีลักษณะเด่น คือ มีฟัน 4 ซี่ รูปร่างแบนข้างมากกว่าปลาปักเป้าทั่วไป สีลำตัวเป็นสีเขียวทองสดใสด้านท้องสีขาว มีครีบหลังและครีบทวารค่อนข้างใหญ่ ทำให้ว่ายน้ำเร็วกว่าปลาปักเป้าชนิดอื่นๆ ในธรรมชาติปลาชนิดนี้มักจะกัดกินกุ้ง หอย ปู ปลาโดยใช้กระดูกขากรรไกรที่มีการพัฒนาเป็นพิเศษให้มีขอบแข็งจึงใช้แทนฟันได้ดี ทำให้ลูกปลาปักเป้าทองขนาดเล็กเป็นที่นิยมเลี้ยงเพื่อควบคุมและกำจัดหอยในตู้พรรณไม้น้ำ
เนื่องจากเป็นปลาน้ำจืดแท้และไม่กินพรรณไม้น้ำ ข้อเสียของปลาชนิดนี้คือ ไม่สามารถเลี้ยงรวมกับปลาชนิดอื่นได้ ปลาปักเป้าทองจะอาศัยอยู่ในเขตน้ำขึ้นลงของแม่น้ำสายใหญ่ ปลาชนิดนี้จะอยู่รวมกันเป็นฝูงและจะกัดทำร้ายคนที่ลงไปในน้ำ เป็นปลาที่เด็กๆและชาวริมน้ำกลัวและเกลียดมากที่สุดชนิดหนึ่ง
ปักเป้าทอง Chonerhinus nefastus
เป็นปักเป้าทองที่พบบ่อยในแม่น้ำโขง และลำน้ำสาขา มีขนาดโตเต็มที่ค่อนข้างเล็ก มีลำตัวที่เพรียวยาวกว่า C. modestus อย่างเห็นได้ชัด






ปักเป้าทอง Chonerhinus modestus ปักเป้าทอง Chonerhinus nefastus

สกุล Tetraodon
เป็นตัวแทนของวงศ์ Tetraodontidae ที่มีจำนวนสมาชิกมากที่สุดทั้งในน้ำจืดและน้ำเค็ม ส่วนมากปลาปักเป้าในสกุลนี้มักมีนิสัยชอบซุ่มโจมตีเหยื่อ มากกว่าที่จะออกแรงว่ายน้ำไล่ โดยส่วนมากปักเป้าในสกุลนี้ในขณะที่พองจะสามารถขยายขนาดได้มากกว่าสองสกุลแรกข้างต้น
ปักเป้าหางวงเดือน Tetraodon cutcutia
บางครั้งมีชื่อเรียกอื่น ๆ ว่า “ปักเป้าแคระ” หรือ “ปักเป้าเขียวจุด”เนื่องจากเป็นปลาปักเป้าที่มีขนาดเล็กเหมือนปักเป้าสมพงษ์ ลำตัวแบนข้างเล็กน้อย ครีบเล็ก ลำตัวสีคล้ำหรือเขียวขี้ม้า มีจุดประสีเหลืองหรือสีจางทั่วตัว หลังมีลายพาดสีคล้ำ ข้างลำตัวมีดวงสีดำใหญ่ ตาสีแดง ครีบหางมีขอบสีแดงหรือชมพู เป็นปักเป้าที่มีผิวบางที่สุดในบรรดาปักเป้าที่พบในบ้านเราและที่สำคัญมันไม่มีหนามขนาดเล็กๆ ที่ผิวลำตัว ทำให้ผิวมันวาวสวยงาม ปลาปักเป้าหางวงเดือนจะมีขนาดประมาณ 4-5 เซนติเมตร ปักเป้าชนิดนี้มีการกระจายพันธุ์จากอินเดีย พม่า มาจนถึงประเทศไทย บริเวณชายฝั่งทะเลตอนบน มักชอบอยู่ตามลำธารและแม่น้ำในภาคใต้ โดยหลบซ่อนอยู่ตามซอกหินหรือใบไม้ใต้น้ำ ชอบกินลูกปลา ปู หอย และกุ้งขนาดเล็กเป็นอาหาร





ปักเป้าหางวงเดือน Tetraodon cutcutia
ปลาปักเป้าขน Tetraodon baileyi
จัดเป็นสุดยอดของปลาปักเป้าในเรื่องของการพรางตัวและน่าจะเป็นปักเป้าเพียงชนิดเดียวที่มีการแปลงกายที่น่าตื่นตาตื่นใจ ปักเป้าขนจะมีลักษณะหัวโต ตาเล็กกว่าปักเป้าชนิดอื่น ๆ หัวและลำตัวมีติ่งหนังสั้น ๆ ที่แตกปลายตลอดคล้ายขน จนเป็นที่มาของชื่อปักเป้าขนนั่นเอง ลำตัวมีสีน้ำตาลแดงหรือกากีคล้ำ มีจุดประสีจาง ครีบหางมีสีน้ำตาลอมเหลืองและมีประสีคล้ำ สภาพแวดล้อมที่ ปักเป้าขนอาศัยมีลักษณะเป็นพลาญหิน (แผ่นหินที่แผ่กว้าง มีหลุมหรือร่องกระจายทั่วไป) ปักเป้าขนเป็นปลาที่ก้าวร้าวอีกชนิดหนึ่งและเป็นปลาที่พบในแม่น้ำโขงบริเวณที่เป็นแก่งหิน ปักเป้าขน เป็นปลาที่พบน้อย อยู่ในสภาวะใกล้สูญพันธุ์ แต่เป็นที่นิยมของนักเลี้ยงปลาสวยงาม และจัดเป็นปลาที่มีราคาแพง


ปลาปักเป้าขน Tetraodon baileyi

ปลาปักเป้าควาย ปักเป้าสุวัติ Tetraodon suvatti
เป็นปักเป้าอีกชนิดหนึ่งที่มีความโดดเด่น ปักเป้าชนิดนี้มีปากเรียวยาวปากงอนขึ้นด้าน บน และยังมีลายลักษณะคล้ายหัวลูกศรที่บริเวณด้านบนระหว่างตาทั้งสองข้าง ปักเป้าควาย บางตัวอาจมีสีส้มแดง อย่างไรก็ดีเมื่อนำมาเลี้ยงจะเปลี่ยนเป็นสีปกติ ปักเป้าชนิดนี้เป็นปักเป้าที่ พบเฉพาะแม่น้ำโขงอีกเช่นกัน ในที่เลี้ยงปลาชนิดนี้ไม่ค่อยก้าวร้าวเท่าปลาปักเป้าชนิดอื่น ถ้าพื้น เป็นทรายหรือกรวดขนาดเล็กปลาจะฝังตัวโผล่แต่ตาและริมฝีปากล่างที่มีลักษณะคล้ายติ่งเนื้อยื่นออกมา





ปลาปักเป้าควาย ปักเป้าสุวัติ Tetraodon suvatti
ปักเป้าจุดส้ม Tetraodon abei
เป็นปลาปักเป้าที่พบทั้งในภาคกลางและลุ่มน้ำโขง มีปากค่อนข้างใหญ่ และมีจุดส้ม กระจายทั่วตัว นอกจากนี้บริเวณข้างลำตัวในแนวระหว่างครีบหลังและครีบก้นจะไม่มีจุดกลมแดง ลำตัวยาวประมาณ 10-11 เซนติเมตร





ปักเป้าจุดส้ม Tetraodon abei
ปักเป้าตาแดง Tetraodon leiurus
เป็นพระเอกของเหล่าสมัชชาปลาปักเป้าน้ำจืด ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ปลาชนิดนี้มี การกระจายพันธุ์กว้างที่สุด จะงอยปากค่อนข้างสั้น และมีจุดแดงในแนวระหว่างครีบหลังและครีบ ก้นเด่นชัด เราสามารถพบปักเป้าชนิดนี้ได้ตามริมน้ำ หนอง บึง เขื่อน เกือบทั่วประเทศ ในเรื่องชื่อ วิทยาศาสตร์ Tetraodon leiurus มีชื่อพ้องหลายชื่อเช่น T. cochinchinensis,
T. cambodgiensis, T. fangi







ปักเป้าตาแดง Tetraodon leiurus
ปักเป้าปากยาว Tetraodon cambodgiensis
ลักษณะโดยทั่วไปจะคล้ายกับปลาปักเป้าตาแดงมาก แต่จะมีจงอยปากยาวกว่าอย่างเห็นได้ชัด นอกจากนี้แต้มสีที่บริเวณข้างลำตัวยังเป็นแต้มสีแดงขนาดใหญ่มากและมีวงสีขาว และแต้ม สีคล้ำกระจายรอบ ปักเป้าชนิดนี้ก้าวร้าวมาก พบทั้งในภาคกลางและภาคใต้




ปักเป้าปากยาว Tetraodon cambodgiensis
ปักเป้าปากยาวโขง Tetraodon barbatus
เป็นปักเป้าที่ปากยาวเหมือนกัน แต่มีลักษณะเด่นที่ริมฝีปากล่างจะมีแต้มสีดำ และส่วนท้องจะขาว ไม่มีลายปลาชนิดนี้พบในแม่น้ำโขง





ปักเป้าปากยาวโขง Tetraodon barbatus
ปักเป้าท้องตาข่าย Tetraodon palembangensis
เป็นปลาที่พบเฉพาะทางใต้ โดยมีรายงานจากทะเลสาบสงขลา เป็นปักเป้าที่พบชุกชุมใน บางฤดูกาลบริเวณลำคลองรอบๆ พรุโต๊ะแดง ที่นราธิวาส ปักเป้าชนิดนี้มีลักษณะเด่นที่หนังหนา หนามค่อนข้างใหญ่ และมีตาโตมาก นอกจากนี้เวลาพองจะพองได้กลมเหมือนลูกบอลเลยทีเดียว ปลาปักเป้าชนิดนี้ก็เป็นอีกชนิดหนึ่งที่ค่อนข้างเรียบร้อย









ปักเป้าท้องตาข่าย Tetraodon palembangensis
ปลาปักเป้าที่ผมได้กล่าวมาข้างต้นนั้นคือ ปลาปักเป้าน้ำจืดทั้งหมด และบางชนิดก็ใกล้จะสูญพันธุ์ แต่ที่จะกล่าวถึงอีกสองชนิดนี้ค่อนข้างไปทางน้ำกร่อย แต่เป็นปลาที่พบได้บ่อยในตลาดปลาสวยงามได้แก่
ปักเป้าเขียวจุด Tetraodon nigroviridis
ปลาชนิดพบเป็นจำนวนมากบริเวณป่าชายเลน ปรับตัวได้ดีมากทั้งในน้ำจืดและน้ำเค็ม ลำตัวมีความยาวประมาณ 6-15 เซนติเมตร กินอาหารจำพวกแมลงน้ำ ตัวอ่อนของแมลง หอยและกุ้งฝอย เป็นต้น






ปักเป้าเขียวจุด Tetraodon nigroviridis

ปักเป้าซีลอน ปักเป้าเลขแปด Tetraodon biocellatus
เป็นปลาปักเป้าที่พบมากตามแม่น้ำในภาคตะวันออก โดยเฉพาะแม่น้ำบางปะกง ปลาชนิดนี้จะพบเข้ามาในเขตน้ำจืดมากขึ้นกว่าปักเป้าเขียวจุด มีลักษณะเด่นที่ลายด้านบนส่วนหลังมีลักษณะคล้ายเลขแปด






ปักเป้าซีลอน ปักเป้าเลขแปด Tetraodon biocellatus
พิษของปลาปักเป้า
ปลาปักเป้าพบทั้งในน้ำจืดและน้ำทะเลมีประมาณ 100 ชนิด แต่ที่ทำให้เกิดพิษมีประมาณ 50 ชนิด และพบในบ้านเราประมาณ 20 ชนิด เนื้อของปลาปักเป้าไม่มีพิษ หรือมีพิษน้อย พิษของปลาปักเป้ามีมากที่ไข่ ตับ กระเพาะ ลำไส้ ผิวหนัง และพิษของปลาจะเพิ่มมากขึ้นในฤดูวางไข่
นักวิทยาศาสตร์ชาวญี่ปุ่น ได้วิจัยแยกพิษของปลาปักเป้าได้สาร 2 ชนิด คือ Tetrodonine และ Tetrodonic acid (ได้กล่าวถึงสารพิษที่สกัดจากปลาปักเป้าว่า มีลักษณะเป็นผงสีขาว ไม่มีรส ประกอบด้วย Sulfur และ Amino groupsและอาจมีสารจำพวก Dextrose อยู่ด้วย) เมื่อนำมาผ่านกรรมวิธีแยกต่างๆ แล้วได้สารชื่อ Tetrodotoxin ซึ่งมีฤทธิ์ต่อกล้ามเนื้อ ทำให้เกิดอัมพาตต่อระบบหายใจ ระบบไหลเวียนของโลหิต เมื่อรับประทานปลาประมาณ 30 นาที ถึงหลายชั่วโมง ขึ้นอยู่กับปริมาณที่รับประทานเข้าไป อาการพิษจะแบ่งเป็น 4 ขั้นคือ
ระยะแรก ผู้ป่วยจะเริ่มมีอาการชาที่ริมฝีปาก ลิ้น บริเวณใบหน้า ปลายนิ้วมือ คลื่นไส้ อาเจียน
ระยะที่สอง มีอาการชามากขึ้น อ่อนเพลีย แขนขาไม่มีแรง จนเดินหรือยืนไม่ได้ reflex ยังดีอยู่
ระยะที่สาม มีกล้ามเนื้อกระตุกคล้ายกับชัก มีอาการ ataxia พูดลำบาก ตะกุกตะกักจนพูดไม่ได้ เนื่องจากสายกล่องเสียงเป็นอัมพาต ระยะนี้ผู้ป่วยยังรู้สึกตัวดี
ระยะที่สี่ กล้ามเนื้อเป็นอัมพาตทั่วไป หายใจไม่ออก หมดสติ รูม่านตาโตเต็มที่ไม่มีปฏิกิริยาต่อแสง ถ้าไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้องผู้ป่วยจะเสียชีวิตในเวลาอันรวดเร็ว
การรักษา
เนื่องจากยังไม่มียาแก้พิษจึงรักษาตามอาการ และเนื่องจากพิษจะถูกขับออกทางปัสสาวะ ดังนั้นการให้ยาขับปัสสาวะจะช่วยให้พิษถูกขับออกได้เร็วขึ้น
อีกประการหนึ่ง สารพิษนี้จะทนต่อความร้อนที่สูงกว่า 200 °C การต้ม ทอด ย่าง จะไม่สามารถทำลายสารพิษนี้ได้ นอกจากนี้ยังพบว่าในสภาพที่เป็นกรดพิษจะอยู่ได้นานและจะสลายตัวได้เร็วในสภาวะที่กรดเจือจาง
กล่าวโดยสรุป ปลาปักเป้าในประเทศไทยมีอยู่ 3 สกุล 12 ชนิด และปลาปักเป้าบางชนิดก็ใกล้จะสูญพันธุ์แล้ว สารพิษที่มีอยู่ในตัวปักเป้ามี 2 ชนิดคือ Tetrodonine และ Tetrodonic acid ปลาปักเป้าบางชนิดเราสามารถนำมาเลี้ยงเป็นปลาสวยงามได้ และบางชนิดก็สามารถนำมาประกอบอาหารได้ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นเราจะต้องรู้จักกรรมวิธีในการทำเพื่อความปลอดภัยของตัวเราเอง


เราคงจะคุ้นเคยกับความรู้สึกที่ว่า เทวดา นางฟ้า จะต้องอยู่บนสรวงสวรรค์บนวิมานชั้นฟ้า แต่เชื่อไหมว่าใต้ท้องทะเลครามอันล้ำลึกก็มีเหล่าเทวดา นางฟ้า ให้พบเห็นเช่นกัน และเป็นนางฟ้าแสนสวยเสียด้วย นั่นคือ
ปลาสินสมุทร นั่นเอง ปลาสินสมุทรเป็นปลาสวยงามที่มีขนาดใหญ่กว่าปลาสวยงามและปลาที่มีสีสันอื่นๆ ในแนวปะการัง จะมองเห็นได้สะดุดตาในทันที ราวกับนางแบบประเภทหุ่นสูงยาวสง่างามเดินเข้ามาในท่ามกลางหญิงสาวอื่นๆ นั่นแหละ หนำซ้ำ แต่ละชนิดก็ล้วนมีลวดลายสีสันบนลำตัวงดงามเด่นสง่าแทบทั้งสิ้น
ชื่อของปลาสินสมุทรไม่รู้จะเกี่ยวอะไรกับวรรณคดีเรื่องพระอภัยมณีหรือเปล่า แต่ในท้องทะเลก็มีแต่ปลาสินสมุทร ไม่มีปลาสุดสาคร (แต่อนาคตอาจจะมีก็ได้ เพราะมีปลาสายพันธุ์ใหม่ๆ ถูกพบอยู่บ่อยๆ) จะมีใกล้เคียงกันก็แต่ปลาผีเสื้อ ซึ่งก็ไม่มีใครเรียกปลาผีเสื้อสมุทรแต่อย่างใด ปลาผีเสื้อก็เป็นปลาสวยงามกลุ่มใหญ่ที่มีลักษณะรูปร่างหน้าตาใกล้เคียงกับปลาสินสมุทรมากที่สุด แต่โดยส่วนใหญ่แล้วจะมีขนาดเล็กกว่า และเราสามารถจะแยกแยะปลาสินสมุทรออกจากปลาผีเสื้อได้ ก็โดยการสังเกตจากครีบเหงือก ซึ่งปลาสินสมุทรทุกตัว ทุกชนิด จะมีเงี่ยงแหลมยื่นออกมาตรงส่วนล่างสุดของเหงือกทุกตัว ซึ่งเจ้าเงี่ยงแหลมนี้มีไว้เป็นอาวุธป้องกันตัว
ปลาสินสมุทรเป็นหนึ่งในกลุ่มปลาสวยงาม ที่ได้รับความนิยมอย่างมากในตลาดปลาสวยงามปลาในกลุ่มนี้อยู่ในครอบครัว Pomacanthidae พบประมาณ 80 ชนิดทั่วโลกกระจายอยู่ทั่วไปในมหาสมุทรแอตแลนติก,แปซิฟิก,และอินเดีย ในเมืองไทยพบไม่ต่ำกว่า 8 ชนิด โดยพบได้ทั้งในอ่าวไทยและในทะเลอันดามัน ปลาสินสมุทรเป็นปลาที่มีขนาดใหญ่ (ยาวประมาณ 10-40 เซนติเมตร)มีสีสันสวยงาม ปลาประจำถิ่น มีขอบเขตที่อยู่แน่นอน แต่ละชนิดมีอาณาเขตไม่เท่ากัน ยามเมื่อมีสิ่งแปลกปลอมเข้าไปในเขตแดน ปลาสินสมุทรมักว่ายเข้ามาดู นอกจากนี้ ลูกปลาสินสมุทรยังมีการเปลี่ยนลวดลายตามช่วงอายุต่างๆ ลักษณะแตกต่างจากปลาเต็มวัยโดยสิ้นเชิง
ปลากลุ่มนี้อาศัยตั้งแต่บริเวณแนวปะการังน้ำตื้น ไปจนถึงเขตน้ำลึกมากกว่าหนึ่งร้อยเมตร หลายชนิดกินสัตว์เกาะติดต่างๆในแนวปะการังเป็นอาหาร บ้างก็กินฟองน้ำเป็นหลัก ทำให้ปลาชนิดนี้มีความยากง่ายในการเลี้ยงดูแตกต่างกันออกไป แต่ส่วนมากแล้ว ปลาในกลุ่มนี้เป็นปลาที่เลี้ยงได้ไม่ยากนัก และสามารถปรับตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อมในที่เลี้ยงได้ดี หากได้รับการดูแลเอาใจใส่อย่างถูกวิธี
อย่างไรก็ตามหากท่านใดที่สนใจอยากจะเลี้ยงปลาสินสมุทรเพื่อความสวยงามไว้ประดับบ้านก็ต้องมีประสบการณ์เพราะปลาในกลุ่มนี้ไม่เหมาะกับผู้เลี้ยงมือใหม่ เพราะค่อนข้างเปราะบางต่อการเปลี่ยนแปลงต่างๆอย่างฉับพลัน ผู้เลี้ยงควรมีประสบการณ์ในการเลี้ยงปลาทะเลมาในระดับหนึ่ง ก่อนจะเริ่มเลี้ยงปลากลุ่มนี้ ตู้ที่ใช้เลี้ยงควรจะมีอายุมาก เพื่อให้ระบบมีความคงที่มากที่สุด ซึ่งโดยปกติจะกินเวลาราวๆห้า หรือหกเดือนจึงจะดี
เฮ้ย!!!อย่างว่าล่ะน่ะถ้าอยากจะมีนางฟ้า เทวดา หรือแม้แต่นางแบบมาไว้ที่บ้านก็ต้องพยายามกันหน่อย......สู้สู้ มันไม่ยากอย่างที่คิดแล้วจะนำปลาสวยๆงามๆมาฝากอีกน่ะค่ะ


สวัสดีครับกลับมาพบกันอีกแล้ว แต่คราวนี้มาแปลกกว่าทุก ๆ ครั้ง ที่ว่าแปลกนั้นแปลกอย่างไรก็เพราะว่าทุกครั้งที่พบกับผม ผมก็จะนำความรู้เกี่ยวกับเรื่องโรคของสัตว์น้ำมาฝากกัน แต่คราวนี้ผมได้เลี่ยนมาเป็นเรื่องปลาสวยงามมาฝากกันบ้าง ซึ่งหากจะพูดถึงเรื่องปลาสวยงามแล้วนั้น ปัจจุบันในบ้านเรานั้นได้รับความนิยมอย่างแพร่หลาย ไม่ว่าจะเป็นปลาสวยงามในท้องถิ่นหรือปลาสวยงามที่นำเข้าจากต่างประเทศต่างก็ได้รับความนิยมจากผู้ที่ชื่นชอบปลาสวยงาม ปลาสวยงามมีอยู่หลายชนิดด้วยกันขึ้นอยู่กับว่าผู้เลี้ยงแต่ละท่านจะชอบปลาสวยงามชนิดไหน แต่ที่ผมจะพูดถึงนี้ก็คือ ปลาเสือสุมาตรา จัดเป็นปลาสวยงามชนิดหนึ่งที่มีอยู่ในท้องถิ่น ปลาเสือสุมาตราเป็นปลาที่มีนิสัยก้าวร้าว ขี้ตกใจ ไม่สามารถเลี้ยงรวมกับปลาที่มีหางสวยได้ ก่อนอื่นใดการที่ท่านจะทำการเลี้ยงปลาแต่ละชนิด ท่านผู้อ่านทุก ๆ ท่านควรจะศึกษาหาความรู้เกี่ยวกับปลาที่ท่านอยากจะเลี้ยงก่อนว่ามีพฤติกรรมเป็นอย่างไร การเลี้ยงจึงจะไปได้สวย
ถิ่นอาศัย
ปลาเสือสุมาตรามีถิ่นกำเนิดอยู่บริเวณทวีปเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เช่น ประเทศมาเลเซีย อินโดนีเซีย ส่วนในประเทศไทยจะพบบริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออกและภาคใต้ ส่วนใหญ่ปลาเสือสุมาตราจะอยู่แหล่งน้ำไหล อ่างเก็บน้ำ น้ำตกหรือบึงน้ำ เป็นต้น
ลักษณะ
ปลาเสือสุมาตราเป็นปลาในตระลปลาตะเพียนขนาดเล็ก เป็นปลาที่มีความสวยงาม ลำตัวมีลักษณะเรียวยาวและแบนข้าง ปลาเสือสุมาตรามีอยู่หลายชนิดเช่น เสือสุมาตราลายเสือ เสือสุมาตราลายเสือแก้มแดง เสือสุมาตราเขียว เป็นต้น โดยทั่วไปปลาเสือสุมาตราจะมีแถบสีดำพาดขวางลำตัว 5 แถบคือ สองแถบแรกพาดผ่านตาและหน้าครีบหลัง แถบที่สามพาดผ่านโคนครีบหลังและสันครีบ แถบที่สี่พาดผ่านโคนครีบก้นและลำตัว ส่วนแถบที่ห้าอยู่โคนหางครีบหลังและครีบก้นมีสีเหลือง มีหนวดที่มุมปากบนหนึ่งคู่



อุปนิสัย
ปลาเสือสุมาตราไม่เหมาะสมอย่างยิ่งที่จะเลี้ยงรวมกับปลาที่มีขนาดเล็กกว่าหรืออ่อนแอกว่า ปลาเสือสุมาตราจะชอบอยู่รวมกันเป็นฝูงไม่ต่ำกว่า 10 ตัว มีนิสัยดุ ขี้ตกใจ ไม่สามารถเลี้ยงรวมกับปลาชนิดอื่นได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งปลาที่มีครีบและหางสวยเช่น ปลาหางนกยูง เพราะปลาเสือสุมาตราจะกัดครีบและหางของปลาชนิดอื่น ๆ จนขาดวิ่นไปหมด ตามนิสัยของปลาขี้อิจฉา ปลาเสือสุมาตราเป็นปลาที่มีนิสัยปราดเปรียว ไม่ชอบอยู่นิ่ง ๆ ดังนั้นจึงชอบน้ำในตู้ปลาที่ค่อนข้างมีความเคลื่อนไหวและใสสะอาด ชอบแสงสว่างที่เจิดจ้าเป็นพิเศษ เมื่อโตเต็มที่แล้วปลาเสือสุมาตราจะมีความยาวประมาณ 5 เซนติเมตร แต่ส่วนใหญ่ที่พบจะมีขนาดประมาณ 3.0-3.7 เซนติเมตร
การเพาะขยายพันธุ์
ก่อนอื่นจะต้องทำการเลือกพ่อพันธุ์แม่พันธุ์ โดยตัวผู้จะมีสีสันสดสวย ปากแดง หางแดง ครีบแดง ส่วนตัวเมียจะมีสีซีดกว่า แต่มีขนาดลำตัวใหญ่กว่า ขนาดของปลาที่พร้อมจะนำมาผสมพันธุ์จะมีขนาดประมาณ 1 นิ้วครึ่งถึง 2 นิ้ว นำพ่อปลาและแม่ปลามาขุนในบ่อประมาณครึ่งเดือนโดยให้อาหารที่เป็นลูกน้ำหรือหนอนแดง ถ้าหากไม่มีก็สามารถใช้อาหารเม็ดสำหรับเลี้ยงลูกกบแทนได้ เมื่อครบกำหนดเวลาพ่อแม่ปลาก็จะอ้วนขึ้นอย่างเห็นได้ชัด จากนั้นให้นำพ่อ-แม่ปลาแยกเป็นคู่ไว้ในบ่อปูน ใส่น้ำลึกประมาณ 30 เซนติเมตร นำตะกร้าพลาสติกขนาดประมาณ 10-12 นิ้ว ทำเป็นคอกสำหรับปลา 1 คู่พร้อมกันนั้นจึงสร้างสาหร่ายเทียมให้ปลาวางไข่ สาหร่ายเทียมอาจจะทำมาจากเชือกฟางที่ฉีกเป็นฝอย ๆ นำไปมัดไว้กับก้อนหินถ่วงให้จม เท่านี้ปลาก็จะมีที่วางไข่แล้ว
การเพาะปลาเสือสุมาตรามีเทคนิคอยู่ว่า เมื่อเตรียมตะกร้าและสาหร่ายสำหรับวางไข่เรียบร้อยแล้วให้นำพ่อ-แม่ปลาใส่ลงไปตอน 5 โมงเย็น พอประมาณ 3 โมงเช้าก็ให้จับพ่อ-แม่ปลาออก ตอนนี้เราก็จะเห็นไข่เกาะอยู่ตามเชือกฟาง ทิ้งไว้ 2 วันไข่ก็จะฟักออกเป็นตัวแล้วจึงค่อยยกตะกร้าออก ปลาเสือสุมาตราจะวางไข่ครั้งละ 300-400 ฟอง ที่อุณหภูมิ 26-28 องศาเซลเซียส ในช่วงสองวันหลังจากฟักเป็นตัวแล้วยังไม่ต้องให้อาหาร รอให้ผ่านวันที่สี่จึงเริ่มให้ไข่แดงต้มสุกบดละเอียดละลายกับน้ำ ให้อาหารวันละ 4 ครั้ง จะมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับจำนวนของลูกปลา ทำเช่นนี้ไปเรื่อย ๆ เมื่อครบ 3 วันก็จะเริ่มเปลี่ยนมาให้ลูกไร และเมื่อครบ 1 เดือนก็จะเริ่มให้อาหารเม็ด
อาหาร
ปลาเสือสุมาตราชอบกินตัวหนอน ลูกกุ้งตัวเล็ก ๆ ลูกน้ำ ลูกไร แมลงน้ำและเศษซากพืชและสัตว์เน่าเปื่อย ตลอดจนอาหารสำเร็จรูป



การตลาด
ปลาเสือสุมาตราจะเริ่มขายได้เมื่ออายุประมาณ 3 เดือน ราคาอยู่ที่ตัวละ 1 บาท แต่ถ้าเลี้ยงไว้นานขึ้นก็จะยิ่งมีราคามากขึ้นโดยปลาที่มีขนาด 1 นิ้ว จะได้ราคาตัวละ 2 บาท ถ้า 1 นิ้วครึ่งถึง 2 นิ้ว ก็จะมีราคาตัวละ 4 บาท เรียกได้ว่ายิ่งโตยิ่งมีราคา หากจะเลี้ยงให้เป็นพ่อแม่พันธุ์ก็ต้องเลี้ยงจนอายุประมาณ 6 เดือน ถึงจะดีที่สุด

ปลาหมู


ในประเทศไทยพบปลาหมูในแหล่งน้ำธรรมชาติทั่วไปแต่ปลาหมูตามแม่น้ำลำคลองส่วนใหญ่ จะเป็นปลาที่มีขนาดเล็ก สิ่งที่เหมือนกันของปลาหมูทุกสายพันธุ์ คือ ชอบอาศัยอยู่ในเขตร้อนชื้น แต่เป็นบริเวณที่มีอุณหภูมิต่ำกว่า หรือเย็นกว่าบริเวณอื่นในแหล่งน้ำเดียวกัน ดังนั้นบริเวณที่ปลาหมูอาศัยจึงมักจะเป็นบริเวณน้ำไหลข้าง ๆ แก่งหินที่มีน้ำไหลเวียนตลอดเวลา ปลาหมูเป็นปลาชอบอาศัยอยู่รวมกันเป็นฝูงใหญ่
ปลาหมูในวงศ์ Botiidae แบ่งเป็น 2 วงศ์ย่อยคือ Leptobotia และ Parabotia ลำตัวค่อนข้างเพรียว ส่วน Botiinae เป็นวงศ์ที่เราคุ้นเคยกันทั้งหลาย อย่างพวก หมูอินโดฯ หมูหางแดง หมูอารีย์ ฯลฯ ปลาหมูในวงศ์ย่อยนี้แบ่งออกเป็น 5 สกุล คือ
สกุล Chromobotia
1. ปลาหมูอินโดฯ Chromobotia macracanthus สกุลนี้มีชนิดเดียว เมื่อโตเต็มวัย ลายมี
ลักษณะเฉพาะสีเหลืองสลับดำที่เราคุ้นเคย พบในประเทศอินโดนีเซีย กระจายพันธุ์อยู่ในเกาะสุมาตราและเกาะบอร์เนียว ปลาหมูอินโดฯ เป็นปลาที่มีนิสัยดี ค่อนข้างรักสงบ ชอบอยู่รวมกันเป็นฝูง ขายในตลาดจะมีขนาด 2-3 นิ้ว โตเร็วช่วงแรก ขนาดประมาณ 6 นิ้ว ก็จะชะลออัตราการเติบโตลง ปลาใหญ่จะค่อนข้างหายาก ปลาชนิดนี้เลี้ยงไม่ยาก ต้องการน้ำที่สะอาดและค่อนข้างไวต่อการเปลี่ยนแปลง จึงต้องหมั่นเปลี่ยนน้ำที่ละน้อย
สกุล Botia
ปลาหมูโยโย่ ปลาหมูปากี, ปลาหมูพม่า ปลาหมูสาละวิน ปลาหมูลายเมฆ ปลาหมูฮองเต้
ปลาหมูในกลุ่มนี้ เลี้ยงง่ายและรักสงบอยู่รวมกันเป็นฝูง อยู่รวมกับปลาอื่นได้ดี แต่ต้องระวังถ้าเลี้ยงกับพวกปลาหมูที่ดุ ๆ พวกสกุล Yasuhikotakia ถ้าตู้ไม่กว้างพอหรือไม่มีที่หลบซ่อน จะถูกกัด มันจะเครียดและตายในที่สุด พวกนี้เป็นปลาที่มาจากแหล่งน้ำไหล ตู้ที่ใช้เลี้ยงจะต้องมีระบบกรองน้ำไหลเวียนดี และน้ำต้องมีคุณภาพดีอยู่เสมอ ปลาชนิดนี้ราคาไม่แพง
สกุล Syncrossus
ปลาหมูลาย Syncrossus beauforti
ปลาหมูจักรพรรดิ์ Syncrossus berdmorei


ปลาหมูลาย Syncrossus helodes
ปลาหมูสกุลนี้เดิมอยู่สกุล Botia ต่อมาถูกแยกออกเป็นสกุล Syncrossus ลำตัวจะยาว
และหน้าจะแหลม ตัวลาย ๆ เลอะๆ ดูคล้ายเสือโคร่งเรียกว่ากลุ่ม Tiger botia จะไม่ดุมาก มีการกระทบกระทั่งกันถ้าตู้เลี้ยงเล็กหรือมีที่หลบซ่อนไม่พอ ชนิดที่เห็นบ่อยที่สุด คือ S. helodes (ปลาหมูลาย) รองลงมา(ปลาหมูจักรพรรดิ์) S. berdmorei จากลุ่มน้ำสาละวิน ซึ่งนับว่าเป็นปลาหมูที่มีสีสันสะดุดตาที่สุด
สกุล Yasuhikotakia
ปลาหมูหางจุด Yasuhikotakia caudipunctata
ปลาหมูสัก Yasuhikotakia lecontei
ปลาหมูขาว, ปลาหมูหางแดง, ปลาหมูหางเหลือง Yasuhikotakia modesta
ปลาหมูค้อ ปลาหมูคอก Yasuhikotakia morleti
ปลาหมูน่าน Yasuhikotakia nigrolineata
ปลาหมูอารีย์ Yasuhikotakia sidthimunki เคยพบในประเทศไทย แต่สูญพันธุ์ไปจากลุ่มแม่
น้ำกลองแล้ว ส่วนปลาหมูขาว ปลาหมูค้อ และปลาหมูสัก ยังคงพบอยู่มากโดยเฉพาะลุ่มแม่น้ำเจ้าพะยาและแม่โขง
Sinibotia
เป็นกลุ่มปลาหมูที่พบในประเทศจีน นอกจากในประเทศไทยแล้ว ประเทศที่อยู่ในเขต
ลุ่มน้ำที่ได้รับอิทธิพลจากจีนตอนใต้ อย่างลาวและเวียดนาม ก็มีปลาหมูในสกุลนี้อาศัยอยู่เช่นกัน ปลาพวกนี้ตัวจะเรียว ๆ และยาวไม่ใหญ่มาก เลี้ยงง่ายไม่ก้าวร้าว ต้องระวังเรื่องอาหาร เป็นปลาจากเขตน้ำเย็น ในธรรมชาติปลากลุ่มนี้อาศัยอยู่ตามแก่งน้ำที่ไหลแรง ตู้ที่เลี้ยงจึงต้องมีการไหลเวียนน้ำที่ดี
สกุล Leptobotia
Leptobotia curta
Leptobotia elongata
Leptobotia flavolineata
Leptobotia guilinensis
Leptobotia hengyangensis
Leptobotia orientalis
Leptobotia pellegrini
Leptobotia pastercdorsalis
Leptobotia rubrilabris
Leptobotia taeniops
Leptobotia tchangi
Leptobotia tientainensis
Leptobotia zebra
เป็นปลาจากแถบตะวันออก ไม่มีการนำเข้ามาในประเทศไทย ปลากลุ่มนี้ชอบน้ำเย็น เลี้ยง
ในประเทศไทยอุณหภูมิปกติ จะมีปัญหาปลาผอมเร็ว การเผาผลาญพลังงานจะเพิ่มขึ้นประมาณ 10% เมื่ออุณหภูมิเพิ่มขึ้นทุก 1 OC พวกนี้อยู่ในลำธารเขตประเทศจีนหรือญี่ปุ่นที่อากาศหนาว อุณหภูมิต่ำถึง 10 องศาเซลเซียส

Parabotia
Parabotia banarescui
Parabotia bimaculata
Parabotia dubia
Parabotia fasciata
Parabotia lijiangensis
Parabotia maculosa
Parabotia parva
พบในแถบประเทศจีน ปลาชนิดนี้หน้ายาว
วิธีการเลี้ยง
1. ตู้ที่ใช้เลี้ยงควรมีระบบกรองไหลเวียนน้ำดี ออกซิเจนละลายอยู่สูง มีการเปลี่ยนถ่ายน้ำอย่างสม่ำเสมอ เพราะปลาหมูไม่ค่อยทนต่อคุณภาพน้ำที่ไม่ดี แต่การเปลี่ยนน้ำไม่ควรเปลี่ยนคราวละมาก ๆ ใช้น้ำที่อุณหภูมิต่างจากน้ำในตู้มากเกินไป เพราะปลาหมูค่อนข้างอ่อนไหว
2. ปลากลุ่มนี้อาศัยอยู่ตามแก่งหิน โพรงหิน เศษซากตอไม้ จึงต้องมีที่หลบซ่อนพอสมควร
การเตรียมที่หลบซ่อนให้ระวังอย่าใช้ที่มีรูเล็ก ๆ พอดีตัวปลา เวลาปลาตกใจอาจเบียดตัวเข้าไปติดตายได้
3. ปลาหมูไม่ใช่ปลาที่ว่ายน้ำไปมามากนัก ขนาดตู้จึงไม่ต้องใหญ่มาก
4. ปลาหมูเป็นปลาที่กระโดดได้สูง ถ้าเป็นไปได้ควรลดน้ำลง ต้องหาวิธีป้องกันไม่ให้ปลากระโดดออกนอกตู้
5. ปลาหมูทุกชนิดมีเขี้ยวเล็ก ๆ ซ่อนไว้ข้างแก้มบริเวณใต้ตา
อาหาร
ปลาหมูกินอาหารได้หลากหลาย เช่นอาหารสด อย่างหนอนแดง ไส้เดือนน้ำ ไรทะเล อาหารสำเร็จรูปก็กินได้ นอกจากนั้นยังสามารถให้พวกผักต่าง ๆ เช่น แตงกวา, ผักลวก ดังนั้นการหมุนเวียนเปลี่ยนอาหารไปเรื่อย ๆ ทำให้ปลาได้รับสารอาหารครบถ้วน
เพื่อนร่วมตู้
ปลาหมูหลายชนิดดุมาก เช่น สกุล Botia หรือ Yasuhikotakia ไม่ควรเลี้ยงรวมกับปลาที่มีขนาดเล็กกว่ามาก ๆ แต่สามารถเลี้ยงร่วมกับปลาที่มีขนาดเท่า ๆ กันได้ เช่น พวกปลาเกล็ดขนาดกลาง อย่างปลาสร้อย ปลาตะเพียน ตะพาบหางไหม้ ปลาซิว ปลานอกพวก เรนโบว์ คราวเต็ทตร้า กลุ่ม Catfish อย่างปลาแขยงเป็นเพื่อนร่วมตู้ที่ดีของปลาหมู
ปลาหมูขนาดใหญ่ ไม่เหมาะที่จะเลี้ยงในตู้ไม้น้ำ จะทำลายไม้น้ำ ปลาเล็กอย่างหมูอารีย์ อยู่ในตู้ไม้น้ำมีน้ำหมุนเวียนได้ดี นอกจากนั้นแล้วปลาในกลุ่มนี้ยังกินหอยได้ดีอีกด้วย
โรคที่พบ
คือโรคจุดขาว อาการเริ่มต้นจะเริ่มคันว่ายแฉลบเอาสีข้างถูกับวัสดุในตู้ ถ้าไม่ทำการรักษาจะเริ่มมีจุดขาว ๆ มีเมือกออกตามตัวและครีบ ปล่อยทิ้งไว้จะลุกลามจนปลาตายได้
การเพาะพันธุ์
เป็นปลาที่ได้รับความนิยม มีการเพาะพันธุ์โดยวิธีผสมเทียม ซึ่งจะช่วยลดภาระให้กับธรรมชาติได้มาก ทำให้ผู้เลี้ยงได้ปลาที่มีสุขภาพดี
การเพาะพันธุ์ปลาหมูนั้น ไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร ซึ่งการเพาะพันธุ์แต่ละครั้งจะต้องมีความพยายามเอาใจใส่ ผลที่ออกมาไม่ดีเท่าที่ควร สิ่งที่สำคัญคือตู้เลี้ยงจะต้องกว้าง ระบบกรองที่ดี มีที่หลบซ่อนเยอะ ใกล้เคียงธรรมชาติ ปลาหมูที่โตเต็มวัยและสุขภาพดี อาหารหลากหลาย ไม่เลี้ยงร่วมกับปลาชนิดอื่นมากเกินไป สักวันอาจได้เห็นลูกปลาหมูว่ายอยู่ในตู้ก็ได้


ถ้าเป็นแค่ปลาหมอหลายท่านคงจะบอกว่ามันเหมาะที่จะทำเป็นอาหารมากกว่า แต่พอมีคำว่า นกแก้วพ่วงเข้ามาด้วย คงต้องเปลี่ยนจากอยู่ในครัวมาอยู่ในตู้ปลาสวยงามแทนน่าจะดีกว่า เพราะปลาหมอนกแก้วมีความสวยงามน่ารัก ไม่แพ้ปลาสวยงามชนิดอื่นเลย ถ้าได้เลี้ยงหลายๆตัวหลายสีรวมกันก็ยิ่งทำให้ตู้ปลามีสีสันมากยิ่งขึ้น ถ้าใครมีโอกาสได้ไปเที่ยวบึงฉวาก จ.สุพรรณบุรี ถ้าสังเกตไม่ดีจะเข้าใจผิดได้นะครับ เอ๊ะ ฝูงนกแก้วบินหลงมาจากไหนเยอะแยะเลย แต่ที่ไหนได้ฝูงปลานกแก้วนั่นเอง สวยงามมาก ถ้าหากว่าใครต้องการชมความสวยงามของปลานานาชนิด เมืองไทยเรามีหลายแห่งไม่ว่าจะเป็นบึงฉวากหรือที่อื่นๆ ไม่ต้องไปถึงต่างประเทศเที่ยวเมืองไทยครื้นเครง เศรษฐกิจไทยคึกคัก เรามาทำความรู้จักกับปลาหมอนกแก้วกันดีกว่านะครับว่ามันจะน่ารักน่าเลี้ยงขนาดไหน
ปลาหมอนกแก้ว (Amphilophus citrinellum x Vieje synspila) เป็นพันธุ์ลูกผสมระหว่างปลาหมอฟลามิงโก้ และปลาหมอซินสไปลุ่ม มีปากคล้ายนกแก้ว กำเนิดในประเทศใต้หวัน ขนาดโตเต็มที่ 10-15 เซนติเมตร มีดวงตาโตม่านตาใหญ่จนบางคราวดูไม่เหมือนทรงกลมเป็นวงรีหรือไม่ก็เป็นขีด ดำๆ หนาๆ พาดผ่านตามแนวนอนของลูกตา สีของปลาหมอนกแก้วแตกต่างกันออกไป สีแดงสดเรียกว่า เรดบลัดแพรอท สีแดงอมม่วงเรียกว่า เพอเฟิลบลัดแพรอท ส่วนปลาหมอนกแก้วที่มีการตัดต่อสายพันธุ์ที่ไม่มีหางลักษณะรูปหัวใจเรียกว่า เลิฟฮาร์ดแพรอท

ปลาหมอนนกแก้วที่มีส่วนโค้ง มันรับกับส่วนหลังไม่หักชัน เหมือนปลาหมอนกแก้วทั่วไปปากเป็นรูปปกติเหมือนเรดเดวิล เรียกปลาหมอคิงคองบลัคแพรอท

สำหรับปลานกแก้วมีลักษณะเด่นอยู่หลายจุด เช่น ลำตัว ปาก หาง และสีสันของตัวปลา แต่ลักษณะที่เด่นจริงๆ จะอยู่ที่ลำตัว คือ ตัวกลม แต่ส่วนใหญ่แล้วเราจะหาปลานกแก้วที่สมบูรณ์จริงๆ ตามตำรานั้นค่อนข้างจะหายาก ส่วนมากจะผิดเพี้ยนจากเดิมแต่ก็ไม่มากนัก
ส่วนการตัดหางนั้นเป็นการทำให้ปลานกแก้วดูดีขึ้นและน่ารักขึ้น โดยส่วนใหญ่เรียกปลานกแก้วที่ถูกตัดหางออกไปเรียกว่า “นกแก้วเลิฟ” โดยจะถูกตัดหางเป็นรูปหัวใจ การตัดหางนั้นจะตัดเมื่อปลามีขนาดตั้งแต่ 1 นิ้ว เพื่อลดการสูญเสียโดยนกแก้วเลิฟจะมีราคาแพงกว่านกแก้วธรรมดา
ลักษณะเด่นสุดท้ายของปลาหมอนกแก้วคงหนีไม่พ้นเรื่องสี ปลานกแก้วที่มีขายในท้องตลาดจะมีสีแดงสดเนื่องจากถูกฉีดสี การฉีดสีจะทำตั้งแต่ปลามีขนาด 1 นิ้ว โดยการนำสีผสมอาหารมาฉีด การฉีดมักจะฉีดใส่ส่วนที่เป็นกล้ามเนื้อตรงกระโดงของปลา


เทคนิคในการเลี้ยงปลาหมอนกแก้ว

การจัดตู้ปลานั้นเราควรใส่กรวดเล็กๆไว้เพราะปลาหมอนกแก้วมีปากที่ใหญ่เหมาะกับการดูดก้อนกรวด มันจะขุดกรวดเล็กๆที่เราจัดไว้เป็นหลุมเพื่อคลายเครียด ดังนั้นเราไม่จำเป็นต้องจัดตู้ให้สวยมากนัก จัดเพียงแค่สิ่งต่างๆที่มันขุดไม่ได้เท่านั้น ช่วงเวลาว่างๆเราควรจะเข้าไปดูใกล้ๆบ้าง เพราะช่วงแรกๆมันจะขี้อายและกลัวคนมากจนไปหลบอยู่หลังตู้บ่อยๆ แต่พอเราเข้าไปดูนานๆบ่อยๆ แต่พอเราเข้าไปดูนานๆบ่อยๆมันจะเชื่องและชอบเข้าหาคนเวลาเดินผ่านมันจะตามมาทันที

การเพาะพันธุ์

การสังเกตเพศของปลาหมอนกแก้ว ตัวผู้จะมีขนาดใหญ่กว่า ชายครีบยาวกว่า การเพาะพันธุ์ส่วนมากปลาหมอนกแก้วจะเป็นหมัน โดยเฉพาะตัวผู้อันเป็นผลมาจากการย้อมสีปลา ปลาจะจับคู่และวางไข่ติดกับก้อนหินแต่จะไม่ฟักเป็นตัวสำหรับปลาที่ไม่ย้อมสีจะสามารถให้ลูกได้

การจับคู่ผสมพันธุ์จะทำกันเองในตู้ เป็นปลาที่วางไข่ได้ง่ายและครั้งละปริมาณมากๆ ค่า pH ประมาณ 6.6-6.8 จะเหมาะแก่การฟักไข่ ถ้า pH สูงเกินไปจะทำให้ผิวของไข่เหนียวจนลูกปลาไม่สามารถเจาะทะลุออกมาได้และถ้าน้ำมี pH ต่ำเกินไปความเป็นกรดจะทำลายสเปิร์มของปลาตัวผู้ จนทำให้การปฏิสนธิ ลูกปลาฟักเป็นตัวใหม่ๆ ยังไม่กลมเหมือนพ่อแม่ ช่วงแรกปล่อยให้ครอบครัวดูแลตัวเองพ่อแม่ลูก จนลูกปลาว่ายน้ำและออกหากินเองได้ จึงค่อยแยกออกมาเลี้ยงต่างหาก ช่วงปลายังเล็กควรให้อาหารสด เช่น ไรแดง ใส้เดือนฝอยบ่อยๆแต่ไม่ควรให้ครั้งละมากเกินไป

อาหาร
อาหารของปลาหมอนกแก้วที่นิยมให้กันทั่วไปเป็นจำพวกอาหารเม็ด เพราะสะดวกการซื้อหาก็มีวางขายกันทั่วไป สิ่งที่ต้องระวังในการให้อาหารประเภทนี้คือ ต้องไม่มีส่วนผสมของสารกันบูด หรือยาฆ่าแมลงใดๆ ทั้งสิ้น เพราะจะเป็นอันตรายกับปลาที่คุณเลี้ยงได้ ปริมาณให้อาหารไม่ควรให้เกินวันละ 2 ครั้ง ครั้งละไม่มากจนเกินไป

โรค

โรคที่พบบ่อย ส่วนใหญ่จะเป็นโรคจุดขาวซึ่งเกิดจากการเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิอย่างกะทันหัน ประกอบกับปลามีภูมิต้านทานที่ลดลง ป้องกันได้โดยการควบคุมอุณหภูมิของน้ำไม่ให้มีการแกว่งตัวมากเกินไป หากอยู่ในช่วงอากาศเย็นควรติดฮีทเตอร์ช่วยควบคุมอุณหภูมิน้ำ
เป็นยังไงบ้างครับ เลี้ยงปลาหมอนกแก้วตัวเดียวหรือหลายๆตัวในตู้เสมือนคุณได้ทั้งเลี้ยงนกและเลี้ยงปลาอยู่ในตู้เดียวกัน อย่างนี้ถือว่าสุดคุ้ม ลองเลี้ยงดูนะครับความสวยและน่ารักของปลาชนิดนี้รับรองว่า ความสุขและความเพลิดเพลินเป็นของคุณอย่างแน่นอนเลี้ยงไม่ยาก ราคาก็พอหาซื้อกันได้
การเลี้ยงปลาถ้าเราเอาใจใส่เขาเป็นอย่างดี ปัญหาต่างๆอื่นโดยเฉพาะเรื่องโรคก็ไม่ต้องกังวลอีกเลย ปลาที่เรารักและสุดแสนสวยงามก็จะอยู่คู่กับเราไปอีกนาน


ปลากระทิงไฟหน้าตาของมันเหมือนกับวัวกระทิงมั้ย หรือมันมีเขาเที่ยวไล่ขวิดปลาตัวอื่นๆ เหมือนที่วัวกระทิงไล่ขวิดคนที่ประเทศสเปนหรือเปล่า ถ้ามีคนสงสัยหรือตั้งคำถามเหล่านี้ขึ้นมาอย่าไปหัวเราะหรือไปว่าเขาเลยนะครับ เพราะเดี๋ยวนี้ส่วนใหญ่แล้วเราได้ยินแต่ชื่อหรือไม่ก็เห็นแต่ในภาพ ไม่บ่อยนักที่ได้เห็นตัวจริงๆของปลากระทิงไฟ ฉะนั้น คงไม่แปลกอะไรที่มีคนสงสัยจริงมั้ยครับ เพื่อคลายความสงสัยเรามาดูกันเลยครับว่ารูปร่างหน้าตา ลักษณะทั่วไปมันอยู่ที่ไหนทำไมถึงได้ยินแต่ชื่อ
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Mastacembelus erythrotania
ชื่อสามัญ : RED SPINY EEL,FIRE SPINY EEL,FIRE EEL
ในบรรดาปลาไทยที่มีรูปร่างแปลกประหลาด ปลากระทิงไฟจัดว่าเป็นปลาไทยอีกชนิดที่อยู่ในข่ายปลาประหลาด คือ รูปร่างจะไม่เหมือนกับปลาทั่วไป แต่จะไปเหมือนกับงูมากกว่าโดยลำตัวของปลากระทิงไฟมีลักษณะเรียวยาวจนเกือบเป็นทรงกระบอกเช่นเดียวกับงู แต่ท้ายลำตัวส่วนที่อยู่ค่อนไปทางหางจะมีลักษณะแบนข้าง และส่วนหัวหรือปลายปากจะยื่นยาวและแหลมกว่างู
ปลากระทิงไฟเป็นปลาไทยอีกชนิดหนึ่งที่ได้รับความนิยมจากนักเลี้ยงปลาทั่วทุกมุมโลก จนอาจกล่าวได้ว่าเป็นสินค้าส่งออกที่ติดอันดับของวงการปลาสวยงามของเมืองไทย เนื่องจากเป็นปลาที่มีรูปร่างแปลกประหลาดและมีสีสันสวยสดงดงาม โดยพื้นลำตัวมีสีน้ำตาลเข้มจนถึงดำสนิทและประแต้มด้วยแถบสีแดงสดเป็นเส้นๆ และเป็นจุดๆ ลักษณะคล้ายกับเส้นประ โดยลายนี้จะคาดตามความยาวจากหัวจรดหาง ลำตัวไม่มีเกล็ดปกคลุม (เป็นปลาหนัง) ส่วนหัวค่อนข้างแหลม ปากมีขนาดเล็กและปลายยื่นแหลม จะงอยปากมีลักษณะคล้ายกับงวงช้าง โดยจะงอยปากด้านบนจะยื่นยาวกว่าด้านล่าง ซึ่งช่วยทำหน้าที่คุ้ยเขี่ยหาอาหารตามพื้นและส่งอาหารเข้าสู่ปาก สำหรับครีบหลัง ครีบทวาร และหางจะเชื่อมต่อติดกันเป็นครีบเดียว โดยครีบหลังตอนหน้าจะมีขนาดเล็กมากและลักษณะเป็นหยักคล้ายกับฟันเลื่อย หากไม่สังเกตจะมองไม่เห็น โดยปลายหางมีลักษณะมนโค้ง ปลายค่อนข้างแหลม ซึ่งสีของครีบจะกลมกลืนกับสีพื้นลำตัวและบริเวณขอบครีบด้านนอกเป็นสีแดงหรือสีส้ม บริเวณแนวโคนครีบมีจุดกลมสีแดงประแต้มตลอดแนวซึ่งจุดและลายแถบสีแดงเหล่านี้ขณะที่ปลายังเล็กจะเป็นสีน้ำตาลอมส้มหรือเหลือง เมื่อปลาโตขึ้นจุดและแถบลายเหล่านี้สีก็จะเข้มขึ้นเรื่อยๆ จนกลายเป็นสีแดงหรือสีแดงอมส้มในที่สุด แต่ปลาส่วนใหญ่สีแดงสดจะเข้มขัดเฉพาะบริเวณลำตัวส่วนที่อยู่ค่อนไปทางหัว ส่วนลายที่อยู่ค่อนไปทางหางโดยมากจะเป็นสีแดงส้มหรือสีน้ำตาล พบน้อยตัวมากที่มีลายสีแดงเพลิงทั้งตัว
ลักษณะการว่ายน้ำของปลากระทิงไฟจะไม่เหมือนกับปลาทั่วไป คือจะว่ายเลื้อยลักษณะเหมือนกับงูและปลาไหลมากกว่า ปกติมักกบดานซ่อนตัวอยู่ตามก้นน้ำที่มีไม้น้ำ ซอกหินหรือตามซากปรักหักพังต่างๆ โดยจะอยู่รวมเป็นฝูงและรอดักจับกินเหยื่อที่พลัดหลงเข้ามาในถิ่น ในธรรมชาติมักออกหากินยามค่ำคืน ในขณะที่ปลาหรือเหยื่อกำลังเผลอก็จะค่อยๆ ว่ายเลื้อยเข้าไปหาอย่างช้าๆ ลักษณะเช่นกับงูที่เลื้อยเข้าหาเหยื่อ หรือบางครั้งก็ซุ่มรอให้เหยื่อว่ายเข้ามาใกล้ พอได้จังหวะก็จะฉกกัดอย่างรวดเร็ว ซึ่งส่วนใหญ่การล่าเหยื่อมักไม่ค่อยพลาด จัดว่าเป็นปลาที่มีนิสัยก้าวร้าว หวงถิ่นและชอบกินปลาเล็กเป็นอาหาร ดังนั้นจึงไม่ควรนำไปเลี้ยงรวมกับปลาอื่น ควรเลือกปลาที่หากินต่างระดับกัน เช่น เลี้ยงรวมกับปลาที่หากินตามบริเวณผิวน้ำหรือระดับกลางน้ำที่มีความว่องไวปราดเปรียวพอสมควร และควรเป็นปลาที่ขนาดใหญ่กว่าปลากระทิงไฟด้วย สำหรับปลาในตระกูลแคทฟิชหรือปลาที่มีหนวดไม่ควรนำมาเลี้ยงรวม เพราะส่วนใหญ่จะเป็นปลาที่หากินตามพื้นก้นน้ำ จึงไม่แน่ว่าใครจะกินใคร แต่โดยมากปลาเล็กก็มักจะตกเป็นเหยื่อของปลาใหญ่
ในกรณีที่ต้องการเลี้ยงปลากระทิงไฟรวมเป็นฝูง ควรเลือกปลาขนาดใหญ่พอๆกันเพื่อความปลอดภัย และควรจัดซอกมุมหลายๆแห่งเพื่อให้ปลาใช้เป็นที่หลบซ่อนกำบังตัว โดยซอกมุมที่ว่าควรจัดให้มีเพียงพอกับจำนวนปลาที่เลี้ยงเพื่อปลาจะได้ไม่ต้องต่อสู้ชิงที่อยู่กัน โดยโพรงหรือซอกรูที่ว่าอาจใช้หลอดแก้วโปร่งใสมาตั้งวางไว้เฉยๆ เพื่อให้ปลามุดลอด เพื่อเวลาที่ปลาว่ายเข้าไปหลบในโพรงเราจะได้มองเห็นชัดๆ หรือถ้าไม่สนใจเรื่องทัศนียภาพก็อาจใช้ท่อพีวีซี ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางตั้งแต่ 1 นิ้วขึ้นไปมาฝังลงในชั้นกรวดเพื่อสร้างเป็นโพรงก็ไม่เลว แต่ไม่ควรใช้ท่อขนาดเล็กกว่านี้เพราะอาจทำให้ปลาถอยกลับตัวออกมาไม่ได้ โดยใช้หินกรวดตกแต่งปิดทับ บริเวณปากทางเข้าไม่ให้เห็นปากท่อก็จะดูเป็นธรรมชาติและประหยัดเงินดีด้วย สำหรับกรวดที่ใช้ควรเป็นกรวดขนาดใหญ่เพื่อป้องกันไม่ให้ปลากระทิงไฟขุดมุดลอดลงไปเป็นขอมดำดินจนทำให้ระบบกรองใต้พื้นกรวดเสียหาย ขณะเดียวกันท่ออ๊อกซิเจนควรเลือกชนิดที่มีตะแกรงปิดเพื่อกันปลาว่ายลอดเข้าไปหลบในท่อจนทำให้ถอยกลับตัวออกมาไม่ได้จนเป็นเหตุให้ปลาตายเพราะอดอาหารในที่สุด
นอกจากนี้ตู้ควรมีฝาครอบปิดมิดชิดเพื่อกันปลาไถลออกมานอกตู้ หากใช้ตะแกรงหรือมุ้งลวดครอบก็ควรหาของหนักๆ มาวางทับอีกชั้นหนึ่ง เพราะปลากระทิงไฟสามารถใช้ตัวดันตะแกรงและเลื้อยหนีออกมาได้ แต่ก็อยู่ได้ไม่นานก็จะตายเนื่องจากขาดน้ำขาดอากาศหายใจ และหากต้องการให้ภายในตู้ดูมีชีวิตชีวาขึ้นก็ควรปลูกประดับด้วยพืชน้ำ แต่ควรฝังรากให้ลึกๆ หน่อย เพราะมิฉะนั้นอาจถูกปลากระทิงไฟขุดทำลายได้ ยิ่งปลากระทิงไฟเป็นปลาที่ขี้อายและขี้ตกใจอยู่แล้ว โดยมากถ้าไม่หิวจริงๆก็จะไม่ยอมปรากฏตัวให้ใครเห็น สำหรับประเภทของอาหารที่ปลากระทิงไฟชอบกินก็ได้แก่ อาหารประเภทเนื้อสัตว์ เช่น เนื้อสัตว์หั่นเป็นชิ้นเล็กๆ ลูกปลา กุ้งฝอย หนอนแดง ไรทะเล ไส้เดือนน้ำ เป็นต้น จัดว่าเป็นปลาที่เลี้ยงง่ายเพราะมีความอดทนและสามารถปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมได้ดีอีกชนิดหนึ่ง
ในปัจจุบันปลาที่นำมาขายในท้องตลาดเป็นปลาที่รวบรวมได้จากแหล่งน้ำธรรมชาติซึ่งสามารถพบได้เกือบทุกภาคของประเทศ นอกจากนี้ยังพบในมาเลเซียและอินโดนีเซีย แต่ยังไม่มีรายงานว่าผู้ใดสามารถเพาะพันธุ์ปลากระทิงไฟในที่เลี้ยงได้สำเร็จ เป็นไงบ้างครับสาธยายมาพอสมควร พอจะนึกออกแล้วหรือยังว่ารูปร่างหน้าตาของปลากระทิงไฟมันไม่เหมือนกันเลยใช่มั้ยกับวัวกระทิง แต่ตอนนี้ปลาชนิดนี้เริ่มหายากแล้วนะครับ สามารถพบได้เกือบทุกภาคของประเทศ แต่เอ๊ะน่าสงสัยมั้ยครับในเมื่อพบเกือบทุกภาคของประเทศในแหล่งน้ำธรรมชาติ แต่ทำไมปลากระทิงไฟถึงหายาก แสดงว่าใกล้สูญพันธุ์แน่เลย แต่ก่อนคลองเล็กๆใกล้บ้าน ผมยังจับปลากระทิงไฟมาใส่ขวดเล่นอยู่เลย แต่เดี๋ยวนี้ต่อให้ชักน้ำคลองให้แห้งขอดแล้วพลิกแผ่นดินหา ทำอย่างไรก็หาไม่เจอ อย่าว่าแต่คลองเล็กๆเลยครับ แหล่งน้ำขนาดใหญ่อย่างทะเลสาบสงขลา ที่อุดมไปด้วยสัตว์น้ำนานาชนิด กว่าจะได้เจอปลากระทิงสักตัวหายากยิ่งกว่าน้องเคอิโงะตามหาพ่อเสียอีก 555 (เอ๊ะ มันเกี่ยวกันมั้ยนี่)
แต่อย่าเพิ่งเชื่อผมนะครับ ผมก็แค่ได้ยินคนอื่นเล่าให้ฟังว่าปลากระทิงไฟมันหายาก เอาอย่างนี้ดีกว่ามั้ยเพื่อความมั่นใจว่าจริงหรือเปล่าเราลงพื้นที่จริง ไปสอบถามข้อมูลจากชาวประมงกับทีมงาน nicaonline.com กันดีกว่านะครับที่ทะเลสาบสงขลาตอนบนบริเวณที่เป็นน้ำจืด ตามผมกับทีมงานไปเลยครับ เวียนหาอยู่ตั้งนานเล่นเอาน้ำมันหมดไปหลายลิตร เพราะเจอแต่คนส่ายหน้า....มันหายากลูกบ่าวเอ้ย... ลุงหาไม่ได้มาหลายเดือนแล้ว... ปลากระทิงไฟรึ อ๋อมันคืออดีต เจอแต่คำพูดเหล่านี้แหละครับ แต่ยังไม่สิ้นหวังทีมงานของเราไปเจอคุณลุงท่านหนึ่ง คุณลุงสมนึก โชติมณี ที่ ม.4 บ้านเกาะโคบ ต.เกาะหมาก อ.ปากพะยูน จ.พัทลุง คนนี้เลยรู้จริงเรื่องกระทิงไฟในทะเลสาบสงขลา
ลุงสมนึกเล่าให้ฟังว่า เมื่อ 20 ปีกว่ามาแล้ว(โอ๊ยนานมากแล้วนะลุง) ปลากระทิงไฟหาไม่ยากเลยจับได้วันหนึ่ง 10-20 ตัว สบายๆ ตอนนั้น ไม่รู้จะเอาไปทำอะไรจะกินก็ไม่นิยมจะขายก็ไม่ได้ราคา แต่ปัจจุบันนี้ปลากระทิงไฟเริ่มเป็นที่น่าสนใจสามารถนำไปขายให้กับพ่อค้าปลาสวยงามหรือบางคนซื้อไปทำยารักษาโรคก็มี แต่เสียดายที่มันมักจะตรงกันข้ามเสมอ ขายได้ราคาดีแต่ปลากลับหายาก ปลาขนาด 1-2 ขีด ขายตัวละ 100 บาท ถ้าโตกว่านี้ก็แพงไปอีกในปีนี้ลุงจับปลากระทิงไฟได้ประมาณ 20 ตัว ถ้าพูดกันในมุมมองของการอนุรักษ์ก็พอยิ้มออกแหละครับ อย่างน้อยทะเลสาบสงขลาก็ยังมีปลากระทิงไฟให้เห็นอยู่บ้าง แต่คงแค่ยิ้มออกเพียงนิดๆ มองผิวเผินไม่รู้เสียด้วยซ้ำว่ายิ้มจะให้ยิ้มเฉ่งได้อย่างไร 20 ปีที่แล้วจับได้ 10-20 ตัวต่อวัน ปัจจุบันจับได้ 20 ตัว/ปี และอีก 20 ปี คงจะจับได้ 1 ตัว/ปี หรือไม่ก็จับได้ 1 ตัวต่อ 20 ปี อะไรประมาณนี้แค่คิดก็ใจหาย ปลาสวยงามกับแหล่งน้ำที่ได้ชื่อว่ากว้างใหญ่อย่างทะเลสาบสงขลา มันมีแต่ชื่อที่เคยอยู่ในทำเนียบสัตว์น้ำของทะเลสาบแล้วหรือ ผมเชื่อว่าแหล่งน้ำจากที่อื่นๆก็คงไม่แตกต่างกับแหล่งน้ำจากทะเลสาบสงขลาก็คือ ปลากระทิงไฟใกล้สูญพันธุ์
ขอขอบคุณลุงสมนึก โชติมณี มากเลยครับที่ได้ให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์เกี่ยวกับเรื่องปลากระทิงไฟกับทีมงาน nicaonline.com ผมมั่นใจว่าถ้าเราช่วยกันดูแลช่วยกันอนุรักษ์ไม่เฉพาะที่ทะเลสาบสงขลาที่อื่นๆก็เช่นกันครับ ปลากระทิงไฟต้องไม่มีเพียงแค่ชื่ออย่างแน่นอน

;;
Custom Search

บทความที่ได้รับความนิยม