2.24.2554


ชื่อวิทยาศาสตร์ Catlocarpio siamensis
ชื่อสามัญ Saimese giant carp
ชื่อไทย ปลากระโห้
ถิ่นกำเนิด ตามแม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำแม่กลอง แม่น้ำป่าสัก นอกจากนี้ยังมีในภาคเหนือและภาคอีสาน
ขนาด มีขนาด 1-2 ม. ใหญ่สุดพบ 3 ม. น้ำหนัก 250 กก.
อาหาร แพลงตอน อาหารจำพวกพืช และ แป้ง อาหารสำเร็จรูป
การวางไข่ วางไข่ ไข่จะฟุ้งกระจายไปติดกับวัตถุใต้น้ำ
รูปร่างลักษณะ ปลากะโห้ เป็นปลามีเกล็ดที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย และอยู่อันดับต้นๆ ของโลก มีพละกำลังมาก ในช่วงวัยขนาดตัวสัก 20 - 50 cm. จะเป็นช่วงที่สวยที่สุดเพราะ ผิวจะไม่คล้ำมาก ครีบในบางตัวจะเป็นสีแดงสดใสเห็นได้ชัดเจน
ปลากะโห้มีสัดส่วนของส่วนหัว 1/4 ของความยาวทั้งหมด หัวมีความกว้างพอๆกับความกว้างของลำตัว ปากกว้างอ้าได้กว้าง พังผืดปากยืดหดได้ดี เพราะมีการกินอาหารโดยการใช้ปากสูบน้ำเข้าไปมากๆแล้วกรองด้วยเหงือก มีตาขนาดเล็กใกล้มุมปาก ลำตัวกลม ค่อยข้างสั้นมีเกล็ดนับตามเส้นข้างลำตัวได้ 90-110 เกล็ด ลำตัวสีเทาเงินในขนาดเล็กสีจะคล้ำขึ้นเรื่อยๆ ตามอายุ ครีบทุกครีบ มีขนาดใหญ่ ในปลาขนาดเล็กจะมีสีเทาอมแดง ถึงแดงสดใส และจะคล้ำขึ้นเรื่อยๆตามอายุ มีริมฝีปากหนา แก้มใหญ่ ลำตัวด้านหลังมีสีเข้มกว่าด้านท้อง ไม่มีหนวด ไม่มีฟันอยู่ในปากแต่มีฟันอยู่ที่ลำคอ ตัวผู้มีขนาดเล็กกว่าตัวเมีย ตัวเมียมีสีขาวนวลหรือชมพูอ่อน ตัวผู้มีสีเทา
นิสัย เป็นปลารักสงบ ไม่ดุร้าย สามารถเลี้ยงรวมกับปลาที่มีขนาดใหญ่กว่าปากได้ เมื่อถึงฤดูน้ำหลาก จะขึ้นไปกับน้ำแล้วหากินกับแหล่งน้ำตื้น เมื่อถึงคราวจับคู่วางไข่ ตัวเมียจะว่ายน้ำนำหน้าตัวผู้แล้วจะหงายท้องขึ้น ตัวผู้จะเข้าประกบแล้วฉีดน้ำเชื้อมาผสมกับไข่
การให้อาหาร ในขนาดเล็กจะพบว่าปลากะโห้กินทุกอย่าง ลูกน้ำ ไรทะเล หนอนแดง ไส้เดือนน้ำ รำข้าว อาหารสำเร็จรูป เมื่อโตขึ้นปลากะโห้จึงจะกินอาหารมังสวิรัติ ในปลาขนาดใหญ่สามารถให้อาหารสำเร็จรูปสำหรับปลากินพืชได้ เป็นปลาที่กินอาหารได้ตลอดเวลา จากประสบการณ์ที่เลี้ยง จะนำอาหารสำเร็จรูปผสมสาหร่าย 10% มาแช่น้ำให้พองแล้วนำมาบีบปล่อยจมลงก้นตู้ ปลาจะชอบกินมากกว่า เม็ดแข็งๆ ลอยน้ำ
การเลี้ยงดูในตู้ การจัดตู้ ควรจัดให้มีพื้นที่โล่งสักหน่อย ถึงแม่ว่าประกะโห้จะไม่ค่อยว่ายพลุกพล่าน แต่ปลากะโห้เป็นปลาที่มีแรงมากเวลาตกใจอาจว่ายพุ่งชนอย่างรุนแรง ปลากะโห้เป็นปลาที่ไม่ก้าวร้าว จึงเลี้ยงรวมกับปลาอื่นๆได้ดีมาก โดยอาจเลี้ยงกับปลากินพืชด้วยกันเพื่อความสะดวกในการให้อาหาร ปลากะโห้เป็นปลาที่ชอบน้ำสะอาด มีอ๊อกซิเจนสูง และควรเป็นน้ำที่มีการไหลเวียนตลอดเวลา ในบางครั้งพบว่าปลามีความอดทนต่อสภาพเน่าเสียของน้ำได้พอใช้เลยทีเดียว แต่ปลาจะเป็นโรคเหงือกพลิก ในเวลาต่อมา ซึ่งการรักษาจะลำบากมาก เพราะฝาปิดเหงือกปลากะโห้จะอ่อนและเยื่อหุ้มเหงือกจะใหญ่มาก ถึงรักษาหายปลาก็จะไม่สวยปกติดังเดิม ดั้งนั้นควรถ่ายน้ำอย่างสม่ำเสมอ ในปลาขนาดเล็กการถ่ายน้ำบ่อยๆทำให้ปลาโตเร็วมากและมีสีสันสดใสสวยงาม


ปลากะพงขาวมีชื่อวิทยาศาสตร์ (Scientific name) ว่า Lates calcarifer ซึ่งลักษณะโดยทั่ว ๆ ไปของปลากะพงขาว มีลักษณะลำตัวค่อนข้างยาวและหนาแบนข้างเล็กน้อย บริเวณไหล่จะโค้งมน ส่วนตัวจะลาดชันและเว้า ส่วนของขากรรไกรล่างยื่นยาวกว่าขากรรไกรบนเล็กน้อย ปากกว้าง ขอบปากบนเป็นแผ่นใหญ่ แยกเป็นแนวตอนต้น และตอนท้ายอย่างชัดเจน บริเวณส่วนปากจะยืดหดได้บ้าง ช่องปากเฉียงลงด้านล่างเล็กน้อย มีฟันเล็กละเอียดบนขากรรไกรบนและล่างและที่เพดานปาก ตาของปลาชนิดนี้มีขนาดกลาง ไม่มีเยื่อที่เป็นไขมันหุ้ม แผ่นปิดเหงือกมีขนาดใหญ่ มีขอบหลังเป็นหนามแหลม 4 ซี่ และเรียงต่อด้วยซี่เล็ก ๆ จัดตามแนวหลัง ด้านบนส่วนหัว และบนแผ่นเหงือก มีเกล็ดขนาดต่าง ๆ กัน เกล็ดบริเวณลำตัวค่อนข้างใหญ่ ด้านหลังมีสีเทาเงินหรือเขียวปนเทา ส่วนท้องมีสีเงินแกมเหลือง บริเวณด้านข้างของลำตัวมีสีเงิน ครีบหลัง ครีบก้น ครีบหาง จะมีสีเทาปนดำบาง ๆ มีครีบหลัง 2 ตอน ตอนแรกอยู่ตรงตำแหน่งของครีบท้อง มีก้านครีบแข็ง ที่แหลมคมขนาดใหญ่ 7-8 ก้าน เชื่อมต่อกันด้วยเยื่อบาง ๆ ครีบหลังตอนที่ 2 แยกจากตอนแรกอย่างเห็นได้ชัด มีก้านครีบแข็ง 1 ก้าน ก้านครีบอ่อนมีปลายแตกแขนงมี 10-11 ก้าน ครีบหูและครีบอกยาว ไม่ถึงรูก้น ครีบก้นมีตำแหน่งใกล้เคียงกับครีมหลังตอนที่ 2 ซึ่งประกอบด้วยก้านครีบแข็ง 3 ก้าน ก้านครีบอ่อน 7-8 ก้าน ข้อหางสั้น ครีบหางค่อนข้างกลมเส้นข้างตัวโค้งไปตามแนวสันหลัง มีเกล็ดบนเส้นข้างตัว 52-61 เกล็ด
การแพร่กระจาย

ปลากะพงขาวเป็นปลาน้ำกร่อยขนาดใหญ่ที่สุด เจริญเติบโตได้ดีในน้ำกร่อยและน้ำจืด จัดได้ว่าเป็นปลาประเภท 2 น้ำ คือในช่วงชีวิตของปลากะพงขาวจะมีการเคลื่อนย้ายไปมาระหว่างแหล่งน้ำจืด และน้ำเค็ม ปลากะพงขาวขนาดใหญ่จะอาศัยอยู่ในแหล่งน้ำที่ไม่ห่างไกลออกไปจากฝั่งมากนัก พบมากบริเวณปากแม่น้ำลำคลอง ปากทะเลสาบและปากอ่าวบริเวณที่เป็นป่าชายเลน ที่มีน้ำเค็มท่วมถึง โดยจะพบอยู่ทั่ว ๆ ไปในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ นับตั้งแต่พม่า ไทย มาเลเซีย เวียดนาม และแถบชายฝั่งทะเลของจีน ก็พบปลาชนิดนี้เช่นเดียวกัน สำหรับประเทศไทยเรานั้นสามารถพบปลากะพงขาว ตามชายฝั่งทะเลโดยเฉพาะบริเวณปากแม่น้ำใหญ่ ๆ ที่มีทางออกติดต่อกับทะลที่มีป่าชายเลนขึ้นปกคลุมทางจังหวัดตราด จันทบุรี ฉะเชิงเทรา สมุทรปราการ สมุทรสงคราม เป็นต้น
ปลากะพงขาวจะผสมพันธุ์และวางไข่ในน้ำทะเลที่มีความเค็มประมาณ 28-32 ppt ในทะเลที่มีความลึก หลังจากนั้นไข่จะถูกพัดพาเข้าสู่บริเวณชายฝั่ง และฟักออกเป็นตัว ลูกปลากะพงขาวที่ฟักออกเป็นตัว จะดำรงชีวิตในน้ำกร่อยและในน้ำจืด จนมีอายุได้ 2-3 ปี มีขนาด 3-5 กิโลกรัม จะเคลื่อนตัวออกสู่ทะเล เพื่อทำการผสมพันธุ์และวางไข่ต่อไป
การแยกเพศ

ปลากะพงขาวเป็นปลาที่สังเกตเพศได้ยาก แต่ก็สามารถสังเกตเพศได้จากลักษณะภายนอกของตัวปลา โดยปลาเพศผู้จะมีลักษณะลำตัวยาวเรียวกว่าเพศเมีย ลำตัวมีส่วนลึกที่น้อยกว่าปลาเพศเมีย และมีน้ำหนักตัวน้อยกว่าปลาเพศเมียที่มีขนาดลำตัวยาวเท่ากัน ในปลาเพศเมียนั้น เมื่อถึงฤดูวางไข่ในช่วงเดือนพฤษภาคม-กันยายน ส่วนท้องจะอวบเปล่ง สังเกตได้ชัดเจน เมื่อเวลาเอามือคลำที่ท้องจะมีไข่ไหลออกมา
แหล่งพันธุ์ปลา

การรวบรวมลูกพันธุ์ปลาจากแหล่งน้ำธรรมชาตินั้น การรวบรวมลูกปลาในแต่ละครั้งพบว่ามีปัญหาหลาย ๆ ด้าน อาทิเช่น ลูกปลาที่รวบรวมได้ในแต่ละครั้งมีจำนวนที่ไม่แน่นอน ปริมาณลูกปลาที่รวบรวมได้มีปริมาณที่ไม่มากพอกับความต้องการเลี้ยง ดังนั้นแหล่งลูกพันธุ์ที่สำคัญได้แก่ พันธุ์ลูกปลาจากโรงเพาะฟักปลากะพงขาวของสถานีเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่ง หรือศูนย์พัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่งของกรมประมง หรือโรงเพาะฟักปลากะพงขาวของเอกชน
การเลือกสถานที่สร้างบ่อ

การเลี้ยงปลากะพงขาว ผู้เลี้ยงจะต้องพิจารณาถึงสถานที่ในการสร้างบ่อ เพื่อให้ความเหมาะสมกับสภาพของปลาที่เลี้ยง สิ่งสำคัญที่ผู้เลี้ยงควรพิจารณามีดังนี้
ดิน คุณสมบัติของดินที่ความเหมาะสมที่จะใช้ในการสร้างบ่อเลี้ยง ควรจะเป็นบ่อดินเหนียวหรือดินเหนียวปนทราย เนื่องจากดินทั้งสองประเภทนี้สามารถกักน้ำได้ตามต้องการ
แหล่งน้ำ สถานที่ดีและเหมาะสมควรอยู่ใกล้แหล่งน้ำเป็นสำคัญ เพราะในการเลี้ยงปลาจะต้องมีการถ่ายเปลี่ยนน้ำอยู่เสมอ ๆ ต้องมีน้ำใช้ตลอดปี คุณภาพของน้ำจะต้องดีและมีความเหมาะสม
แหล่งชุมชน สถานที่เลี้ยงปลากะพงขาวที่ดีควรอยู่ใกล้แหล่งชุมชนพอสมควร แต่จะอยู่ห่างไกลจากโรงงานอุตสาหกรรมที่มีการปล่อยน้ำเสียลงในแม่น้ำลำคลอง เนื่องจากมลพิษต่าง ๆ มีผลต่อการเลี้ยงปลากะพงขาว
การคมนาคม สถานที่เลี้ยงปลากะพงขาวที่ดี ควรมีการคมนาคมขนส่งที่สะดวก เพราะสามารถที่จะช่วยให้การดำเนินการติดต่อต่าง ๆ เป็นไปได้ด้วยดี
สภาพสังคม สภาพของสังคมในบริเวณที่เลี้ยงปลากะพงขาวมีความจำเป็นอย่างยิ่ง สภาพสังคมที่ดีนั้น มีความเหมาะสม ไม่มีโจรผู้ร้ายชุกชุม จะทำให้การดำเนินงานต่าง ๆ เป็นไปด้วยความสะดวก
การเตรียมบ่อ

- บ่อใหม่ หมายถึงบ่อที่เพิ่งทำการขุดเสร็จใหม่ ๆ ยังไม่ได้มีการเลี้ยงสัตว์น้ำชนิดใด ๆ มาก่อน ในการเตรียมบ่อโดยวิธีนี้ จะต้องกระทำตามขั้นตอนที่ควรพิจารณาถึงความเหมาะสมดังนี้
1. การปรับค่าเป็นกรด-ด่าง ให้มีความเหมาะสม
2. การตากบ่อ ซึ่งจะใช้ระยะเวลาประมาณ 1 เดือนขึ้นไป
- บ่อเก่า ในการเตรียมบ่อที่เคยเลี้ยงสัตว์น้ำมาแล้ว จะเริ่มจากการสูบน้ำจากบ่อให้หมด ขุดลอกเลนและกำจัดเศษวัชพืช และศัตรูของปลาออก ตามบ่อทิ้งไว้ให้แห้ง ในกรณีที่ไม่สามารถจะสูบน้ำออกจากบ่อให้หมดได้ ให้ใช้โล่ติ๊นในอัตราส่วน 10 กิโลกรัมต่อพื้นที่บ่อ 1 ไร่ ระดับน้ำ 30-50 เซนติเมตร ทุบโล่ติ๊นแล้วราดน้ำยาให้ทั่วบ่อปลาที่ไม่ต้องการจะตายในที่สุดจับปลาเหล่านั้นให้หมดไปจากบ่อ สูบน้ำเข้าให้ได้ระดับแล้วปล่อยทิ้งไว้เป็นระยะเวลา 1 สัปดาห์จึงระบายน้ำออก แล้วใส่น้ำใหม่จะได้น้ำที่ใช้งานได้ทันที
อัตราการปล่อยลูกปลากะพงขาว

การปล่อยลูกปลากะพงขาวนั้น มีหลักการเดียวกับการปล่อยสัตว์น้ำชนิดอื่น ๆ กล่าวคือ ควรปล่อยปลาในอัตราความหนาแน่นที่มีความเหมาะสม ในการเลี้ยงปลาแบบผสมผสาน ถ้าจะปล่อยปลากะพงขาว ควรได้คำนึงถึงจำนวนปลาชนิดอื่น ๆ ที่มีในบ่ออัตราการปล่อยลงเลี้ยงรวมประมาณ 10-50 ตัวต่อพื้นที่ 1 ไร่ ส่วนการเลี้ยงปลากะพงขาวเพียงชนิดเดียว อัตราการปล่อยปลาลงเลี้ยงจะปล่อยปลาได้ประมาณ 5-20 ตัวต่อตารางเมตร

อาหารและการให้อาหาร อาหารที่ใช้เลี้ยงปลากะพงขาวในปัจจุบันได้แก่ ปลาเป็ดอย่างเดียวกับการเลี้ยงในกระชัง ขนาดของอาหารมีความสำคัญมาก เพราะปลากะพงขาวจะกินอาหารที่มีขนาดพอดีกับปาก โดยวิธีการฮุบอาหารบนผิวน้ำเมื่ออาหารตกลงสู่พื้นบ่อ ปลากะพงขาวจะไม่กินอาหารเหล่านั้น ทำให้น้ำเน่าเสียได้ หลักการให้อาหารปลากะพงขาว จึงพอจะสรุปได้ดังนี้
1. ให้อาหารวันละ 1-2 ครั้ง ตรงตามเวลา
2. ให้อาหารให้เป็นที่ เช่น บริเวณที่ใกล้กับประตูน้ำบริเวณท่อที่ระบายน้ำเข้า
3. หลีกเลี่ยงการให้อาหารบริเวณมุมบ่อทั้งสี่ เพราะจะทำให้เกิดการหมักหมมของอาหารที่เหลือได้ง่าย
4. โยนอาหารให้ปลาครั้งละน้อย ๆ รอจนอาหารหมดก่อนจึงให้ต่ออีกเช่นนี้เรื่อยไป
5. ปริมาณอาหารที่ให้จะสังเกตได้จากปลาจะไม่ขึ้นมาฮุบอาหารกินอีก จึงหยุดให้อาหาร
นอกจากปลาเป็ดแล้ว ปลาเล็ก ๆ หรือกุ้งที่มีอยู่ในบ่อก็สามารถที่จะเป็นอาหารให้กับปลากะพงขาวได้ดี ถ้าปลาอดอาหารพบว่า ปลากะพงขาวจะกินกันเองด้วย
ปลาเป็ด ปลาสด ปลาหมึก สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้เมื่อปลากินหมด จะเหลือลงสู่พื้นบ่อ ทำให้เกิดการเน่าเสีย เมื่อมีจำนวนมากขึ้นจะมีผลทำให้น้ำเน่าเสีย ซึ่งเป็นเหตุให้ปลาเกิดโรคได้โดยง่าย การถ่ายเปลี่ยนน้ำโดยสม่ำเสมอ จึงช่วยรักษาคุณภาพท้องน้ำให้มีความเหมาะสมได้ การถ่ายเปลี่ยนน้ำที่นิยมใช้มี 2 วิธีด้วยกันคือ
1. การเติมน้ำเข้าทุก ๆ วัน
2. การถ่ายน้ำเก่าออกประมาณ 50-75 เปอร์เซ็นต์ แล้วระบายน้ำใหม่เข้าสู่บ่อ ซึ่งนิยมมากเมื่อน้ำเริ่มเสีย
ปลากะพงขาวชอบน้ำที่สะอาด หากน้ำเน่าเสียหรือเก่าแล้ว พบว่าปลาจะไม่กินอาหาร ส่งผลให้มีการเจริญเติบโตช้ากว่าปกติ และปลาจะอ่อนแอลง เป็นสาเหตุของการเกิดโรคได้ง่ายทำให้ปลาตายในที่สุด ในการเปลี่ยน้ำที่มีความเค็มนั้น ควรจะให้มีความเค็มใกล้เคียงกันกับความเค็มของน้ำในบ่อเลี้ยง ปลากะพงขาวขนาดน้ำหนักตั้งแต่ 200 กรัมขึ้นไป มีความไวต่อการขาดออกซิเจน ถ้าปริมาณออกซิเจนในน้ำต่ำกว่า 3 ส่วนในล้าน อาจทำให้ปลากระทบกระเทือน ลอยหัวและไม่กินอาหาร ถ้ายังคงลงต่ำอีก จะถึงตายได้ สิ่งนี้ต้องระวังมากเมื่อเลี้ยงปลากะพงขาวหนาแน่น วิธีป้องกันคือ การถ่ายเทน้ำเป็นประจำ โดยเฉลี่ยอย่างน้อย 10 เปอร์เซ็นต์ของน้ำในบ่อต่อวัน
การจับปลากะพงขาว อวนเป็นอุปกรณ์จับสัตว์น้ำที่นิยมใช้กันมากที่สุด การจับปลากะพงขาวในบ่อดิน เมื่อระยะเวลาในการเลี้ยงเข้าสู่เดือนที่ 4 เป็นต้นไป จะสามารถใช้อวนลากตามความยาวของบ่อได้
ผลผลิตของปลากะพงขาวในบ่อดิน ผลผลิตโดยทั่วไปในระยะเวลาการเลี้ยง 6 เดือนจะให้ผลผลิตประมาณ 400 กิโลกรัมต่อพื้นที่ของบ่อ 1 ไร่ และจากการศึกษาทดลองของสถานีประมงน้ำกร่อยจังหวัดระยอง เริ่มจากการปล่อยปลากะพงขาวที่มีขนาด 5-8 เซนติเมตร ลงในบ่อเลี้ยงนั้น จะปล่อยปลา 2 ตัวต่อพื้นที่ 1 ตารางเมตร เลี้ยงด้วยอาหารพวกปลาเป็ดในระยะเวลาการเลี้ยง 6 เดือน พบว่ามีอัตราการรอดตายสูงถึง 92.87 เปอร์เซ็นต์ ให้ผลผลิต 1,467.22 กิโลกรัมต่อพื้นที่ของบ่อ 1 ไร่
แนวโน้มการตลาดของปลากะพงขาว

สภาพตลาดปลากะพงขาวในปัจจุบัน โดยปกติราคาปลากะพงขาวที่รับซื้อปากบ่อเลี้ยงเปลี่ยนแปลงอยู่ระหว่าง 70-130 บาท ผู้เลี้ยงควรนำเรื่องเวลาในการเลี้ยงมาพิจารณาก่อนปล่อยปลาลงเลี้ยงด้วย เพราะจะทำให้มีกำไรมากน้อยต่างกัน อย่างไรก็ตามกลไกตลาดย่อมมีการเปลี่ยนแปลงผู้เลี้ยงที่คาดการณ์ล่วงหน้าได้ย่อมได้เปรียบ ผู้เลี้ยงที่ต้องการความสำเร็จคือกำไรจกาการเลี้ยงดี จะต้องเข้าใจในการลงทุนและคิดตามการเคลื่อนไหวของตลาดอย่างสม่ำเสมอ สิ่งนี้จะช่วยในการวางแผนได้ดี ปลาที่ใช้เป็นอาหารของปลากะพงขาวก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่สำคัญมากในการเลี้ยงปลากะพงขาว หากผู้เลี้ยงหาซื้อปลาเหยื่อได้ง่ายและราคาถูก ก็จะมีผลให้ได้กำไรสูงขึ้น โดยเฉลี่ยต้นทุนในการเลี้ยงปลากะพงขาวทั้งต้นทุนผันแปร (ค่าอาหาร ค่าพันธุ์ปลา ค่าแรง ค่าวัสดุต่าง ๆ) และต้นทุนคงที่ (ค่าเสื่อมราคาของทรัพย์สิน ค่าเสียโอกาสในการลงทุน) อยู่ระหว่าง 50-60 บาทต่อปลา 1 กิโลกรัม ดังนั้นจะมีกำไรเฉลี่ยกิโลกรัมละ 10-85 บาท หรือถ้าคิดกำไรต่อไร่โดยคิดอัตรารอดประมาณ 60-80 % อัตราปล่อยอยู่ที่ 2-3 ตัวต่อตารางเมตร จะได้ผลผลิตประมาณ 1,500-2,000 กิโลกรัมต่อไร่ ซึ่งจะได้กำไรประมาณ 20,000-170,000 บาทต่อไร่

;;
Custom Search

บทความที่ได้รับความนิยม