11.24.2552

ปลาเสือสุมาตรา


สวัสดีครับกลับมาพบกันอีกแล้ว แต่คราวนี้มาแปลกกว่าทุก ๆ ครั้ง ที่ว่าแปลกนั้นแปลกอย่างไรก็เพราะว่าทุกครั้งที่พบกับผม ผมก็จะนำความรู้เกี่ยวกับเรื่องโรคของสัตว์น้ำมาฝากกัน แต่คราวนี้ผมได้เลี่ยนมาเป็นเรื่องปลาสวยงามมาฝากกันบ้าง ซึ่งหากจะพูดถึงเรื่องปลาสวยงามแล้วนั้น ปัจจุบันในบ้านเรานั้นได้รับความนิยมอย่างแพร่หลาย ไม่ว่าจะเป็นปลาสวยงามในท้องถิ่นหรือปลาสวยงามที่นำเข้าจากต่างประเทศต่างก็ได้รับความนิยมจากผู้ที่ชื่นชอบปลาสวยงาม ปลาสวยงามมีอยู่หลายชนิดด้วยกันขึ้นอยู่กับว่าผู้เลี้ยงแต่ละท่านจะชอบปลาสวยงามชนิดไหน แต่ที่ผมจะพูดถึงนี้ก็คือ ปลาเสือสุมาตรา จัดเป็นปลาสวยงามชนิดหนึ่งที่มีอยู่ในท้องถิ่น ปลาเสือสุมาตราเป็นปลาที่มีนิสัยก้าวร้าว ขี้ตกใจ ไม่สามารถเลี้ยงรวมกับปลาที่มีหางสวยได้ ก่อนอื่นใดการที่ท่านจะทำการเลี้ยงปลาแต่ละชนิด ท่านผู้อ่านทุก ๆ ท่านควรจะศึกษาหาความรู้เกี่ยวกับปลาที่ท่านอยากจะเลี้ยงก่อนว่ามีพฤติกรรมเป็นอย่างไร การเลี้ยงจึงจะไปได้สวย
ถิ่นอาศัย
ปลาเสือสุมาตรามีถิ่นกำเนิดอยู่บริเวณทวีปเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เช่น ประเทศมาเลเซีย อินโดนีเซีย ส่วนในประเทศไทยจะพบบริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออกและภาคใต้ ส่วนใหญ่ปลาเสือสุมาตราจะอยู่แหล่งน้ำไหล อ่างเก็บน้ำ น้ำตกหรือบึงน้ำ เป็นต้น
ลักษณะ
ปลาเสือสุมาตราเป็นปลาในตระลปลาตะเพียนขนาดเล็ก เป็นปลาที่มีความสวยงาม ลำตัวมีลักษณะเรียวยาวและแบนข้าง ปลาเสือสุมาตรามีอยู่หลายชนิดเช่น เสือสุมาตราลายเสือ เสือสุมาตราลายเสือแก้มแดง เสือสุมาตราเขียว เป็นต้น โดยทั่วไปปลาเสือสุมาตราจะมีแถบสีดำพาดขวางลำตัว 5 แถบคือ สองแถบแรกพาดผ่านตาและหน้าครีบหลัง แถบที่สามพาดผ่านโคนครีบหลังและสันครีบ แถบที่สี่พาดผ่านโคนครีบก้นและลำตัว ส่วนแถบที่ห้าอยู่โคนหางครีบหลังและครีบก้นมีสีเหลือง มีหนวดที่มุมปากบนหนึ่งคู่



อุปนิสัย
ปลาเสือสุมาตราไม่เหมาะสมอย่างยิ่งที่จะเลี้ยงรวมกับปลาที่มีขนาดเล็กกว่าหรืออ่อนแอกว่า ปลาเสือสุมาตราจะชอบอยู่รวมกันเป็นฝูงไม่ต่ำกว่า 10 ตัว มีนิสัยดุ ขี้ตกใจ ไม่สามารถเลี้ยงรวมกับปลาชนิดอื่นได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งปลาที่มีครีบและหางสวยเช่น ปลาหางนกยูง เพราะปลาเสือสุมาตราจะกัดครีบและหางของปลาชนิดอื่น ๆ จนขาดวิ่นไปหมด ตามนิสัยของปลาขี้อิจฉา ปลาเสือสุมาตราเป็นปลาที่มีนิสัยปราดเปรียว ไม่ชอบอยู่นิ่ง ๆ ดังนั้นจึงชอบน้ำในตู้ปลาที่ค่อนข้างมีความเคลื่อนไหวและใสสะอาด ชอบแสงสว่างที่เจิดจ้าเป็นพิเศษ เมื่อโตเต็มที่แล้วปลาเสือสุมาตราจะมีความยาวประมาณ 5 เซนติเมตร แต่ส่วนใหญ่ที่พบจะมีขนาดประมาณ 3.0-3.7 เซนติเมตร
การเพาะขยายพันธุ์
ก่อนอื่นจะต้องทำการเลือกพ่อพันธุ์แม่พันธุ์ โดยตัวผู้จะมีสีสันสดสวย ปากแดง หางแดง ครีบแดง ส่วนตัวเมียจะมีสีซีดกว่า แต่มีขนาดลำตัวใหญ่กว่า ขนาดของปลาที่พร้อมจะนำมาผสมพันธุ์จะมีขนาดประมาณ 1 นิ้วครึ่งถึง 2 นิ้ว นำพ่อปลาและแม่ปลามาขุนในบ่อประมาณครึ่งเดือนโดยให้อาหารที่เป็นลูกน้ำหรือหนอนแดง ถ้าหากไม่มีก็สามารถใช้อาหารเม็ดสำหรับเลี้ยงลูกกบแทนได้ เมื่อครบกำหนดเวลาพ่อแม่ปลาก็จะอ้วนขึ้นอย่างเห็นได้ชัด จากนั้นให้นำพ่อ-แม่ปลาแยกเป็นคู่ไว้ในบ่อปูน ใส่น้ำลึกประมาณ 30 เซนติเมตร นำตะกร้าพลาสติกขนาดประมาณ 10-12 นิ้ว ทำเป็นคอกสำหรับปลา 1 คู่พร้อมกันนั้นจึงสร้างสาหร่ายเทียมให้ปลาวางไข่ สาหร่ายเทียมอาจจะทำมาจากเชือกฟางที่ฉีกเป็นฝอย ๆ นำไปมัดไว้กับก้อนหินถ่วงให้จม เท่านี้ปลาก็จะมีที่วางไข่แล้ว
การเพาะปลาเสือสุมาตรามีเทคนิคอยู่ว่า เมื่อเตรียมตะกร้าและสาหร่ายสำหรับวางไข่เรียบร้อยแล้วให้นำพ่อ-แม่ปลาใส่ลงไปตอน 5 โมงเย็น พอประมาณ 3 โมงเช้าก็ให้จับพ่อ-แม่ปลาออก ตอนนี้เราก็จะเห็นไข่เกาะอยู่ตามเชือกฟาง ทิ้งไว้ 2 วันไข่ก็จะฟักออกเป็นตัวแล้วจึงค่อยยกตะกร้าออก ปลาเสือสุมาตราจะวางไข่ครั้งละ 300-400 ฟอง ที่อุณหภูมิ 26-28 องศาเซลเซียส ในช่วงสองวันหลังจากฟักเป็นตัวแล้วยังไม่ต้องให้อาหาร รอให้ผ่านวันที่สี่จึงเริ่มให้ไข่แดงต้มสุกบดละเอียดละลายกับน้ำ ให้อาหารวันละ 4 ครั้ง จะมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับจำนวนของลูกปลา ทำเช่นนี้ไปเรื่อย ๆ เมื่อครบ 3 วันก็จะเริ่มเปลี่ยนมาให้ลูกไร และเมื่อครบ 1 เดือนก็จะเริ่มให้อาหารเม็ด
อาหาร
ปลาเสือสุมาตราชอบกินตัวหนอน ลูกกุ้งตัวเล็ก ๆ ลูกน้ำ ลูกไร แมลงน้ำและเศษซากพืชและสัตว์เน่าเปื่อย ตลอดจนอาหารสำเร็จรูป



การตลาด
ปลาเสือสุมาตราจะเริ่มขายได้เมื่ออายุประมาณ 3 เดือน ราคาอยู่ที่ตัวละ 1 บาท แต่ถ้าเลี้ยงไว้นานขึ้นก็จะยิ่งมีราคามากขึ้นโดยปลาที่มีขนาด 1 นิ้ว จะได้ราคาตัวละ 2 บาท ถ้า 1 นิ้วครึ่งถึง 2 นิ้ว ก็จะมีราคาตัวละ 4 บาท เรียกได้ว่ายิ่งโตยิ่งมีราคา หากจะเลี้ยงให้เป็นพ่อแม่พันธุ์ก็ต้องเลี้ยงจนอายุประมาณ 6 เดือน ถึงจะดีที่สุด

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

Custom Search

บทความที่ได้รับความนิยม