11.10.2554

เพาะเลี้ยงไรแดง


ไรแดงเป็นอาหารธรรมชาติที่ดีในการอนุบาลลูกปลาสวยงามวัยอ่อน ในอดีตพบไรแดงเป็นจำนวนมากในแหล่งน้ำธรรมชาติทั่วไป ซึ่งมีปริมาณไม่แน่นอน ปัจจุบันไรแดงจากแหล่งน้ำธรรมชาติลดน้อยลงมากกับการต้องการไรแดงเพิ่มมากขึ้น ทำให้เกิดสภาวะขาดแคลนไรแดงขึ้นซึ่งเป็นผลโดยตรงต่อผู้เพาะเลี้ยงปลาสวยงาม การลดปัญหาการขาดแคลนไรแดงจึงจำเป็นต้องทำการเพาะไรแดงขึ้นเอง จากระยะเวลาที่ผ่านมากรมประมงได้ศึกษาวิจัยการเพาะเลี้ยงไรแดงจนเป็นผลสำเร็จ ซึ่งลดปัญหาการขาดแคลนไรแดง และช่วยส่งเสริมการพัฒนาอาชีพเพาะเลี้ยงไรแดง ในที่นี้จะขอกล่าวถึงสูตรการเพาะเลี้ยงไรแดงของกรมประมงเพื่อที่ทุกท่านจะได้นำไปปรับตามแต่สะดวก

ลักษณะของไรแดงไรแดงป็นสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลังจำพวกกุ้ง หรือที่เรียกกันว่า crustacean มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Moina macrocopa และมีชื่อสามัญว่า Water flea เป็นแพลงก์ตอนสัตว์ชนิดหนึ่งมีขนาด 0.4-1.8 มิลลิเมตร ลำตัวมีสีแดงเรื่อ ๆ ถ้าอยู่กันเป็นจำนวนมากจะมองเห็นไรแดงมีสีแดงเข้ม ไรแดงหนึ่งตัวหนักประมาณ 0.2 มิลลิกรัม ตัวเมียมีขนาด
(ไรแดงเพศเมียโตเต็มวัยและลูกอ่อนในตัว)

ใหญ่กว่าตัวผู้ ลำตัวไรแดงมีเปลือกคลุมเกือบหมดยกเว้นส่วนหัว หัวกลม มีตา 1 คู่ขนาดใหญ่เรียกว่าตาประกอบ บนส่วนหัวมีหนวด 2 คู่ คู่ที่หนึ่งอยู่ใต้หัว มีขนาดเล็ก คู่ที่สองอยู่ข้างส่วนหัว มีขนาดใหญ่และเป็นปล้อง ตรงข้อต่อของทุกปล้องมีแขนงซึ่งเป็นขนคล้ายขนนก หนวดคู่นี้มีหน้าที่ช่วยในการเคลื่อนที่ ไรแดงมีขา 5 คู่อยู่ที่อก ซึ่งมองเห็นไม่ชัดเพราะมีเปลือกหุ้มอยู่ ไรแดงเพศเมียมีถุงไข่อยู่บนหลังของลำตัว ถุงนี้เป็นที่เก็บไข่และให้ไข่เจริญเติบโตเป็นตัวอ่อนเมื่อมีสภาวะแวดล้อมที่เหมาะสม



(เพศเมียที่สืบพันธุ์แบบมีเพศ) (เพศเมียที่สืบพันธุ์แบบไม่อาศัยเพศ) (เพศผู้)

คือ อาหารที่สมบูรณ์ดี ไข่ในถุงไข่สามารถเติบโตเป็นตัวอ่อนได้โดยไม่ต้องได้รับการผสมจากเชื้อตัวผู้ เรียกว่าการสืบพันธุ์แบบไม่มีเพศ โดยทั่วไปไรแดงเพศเมียให้ลูกอ่อนด้วยวิธีนี้เกือบตลอดเวลา

ไรแดงเพศเมีย 1 ตัวให้ลูกอ่อนได้เฉลี่ย 15 ตัว ( 1-35 ตัว ) แต่ถ้าสภาวะแวดล้อมของน้ำไม่เหทาะสม เช่น คุณสมบัติของน้ำไม่ดี อาหารไม่เพียงพอ ไรแดงจะสร้างไข่ชนิดพิเศษขึ้นมา 2 ชนิด ชนิดแรกเป็นไข่ซึ่งเจริญเป็นเพศผู้ และอีกชนิดหนึ่งคือไข่ที่เจริญเป็นเพศเมียที่สืบพันธุ์แบบมีเพศ ซึ่งเมื่อโตเต็มวัยจะสร้างไข่เพียง 2 ฟองต่อตัวเท่านั้น ไข่ประเภทนี้มีลักษณะทึบแสงและต้องผสมพันธุ์กับเชื้อตัวผู้จึงจะเจริญเป็นตัวอ่อนได้ไข่เมื่อได้รับการผสมแล้วจะมีเปลือกหุ้มไข่รูปร่างคล้ายอานม้า เรียกว่าเอพิปเพียม ( ephippium ) หรือไข่ฟัก ซึ่งมีคุณสมบัติทนทานต่อสภาวะแวดล้อมที่ไม่เหมาะสม เอพิปเพียมเมื่อออกจากตัวแม่จะจมลงสู่พื้น รอจนกว่าสภาวะแวดล้อมเหมาะสมอีกครั้งจึงเจริญเป็นไรแดงเพศเมียที่สามารถให้ลูกอ่อนได้โดยไม่ต้องอาศัยเพศ หรือเรียกว่าพาร์เธโนเจเนสิส ( ลัดดา วงศ์รัตน์, ประวิทย์ สุรนีรนาท และประจิตร วงศ์รัตน์ คณะประมง 2523 )

การเพาะไรแดง ปัจจัยที่สำคัญที่สุด คือ อาหาร จากการศึกษาวิจัยของนักวิชาการ พบว่า น้ำเขียว (ครอเรลล่า ) สาหร่ายเซลล์เดียวจำพวกแพลงก์ตอนพืช เป็นอาหารที่เหมาะสมในการเลี้ยงไรแดงโดยตรง เนื่องจากคงสภาพอยู่ได้นานไม่เน่าเสียง่าย มีขนาดเล็ก ( 2.5-3.5 ไมครอน ) ไรแดงกินง่ายและมีโปรตีนสูง ที่สำคัญ คือ เมื่อนำมาเพาะเลี้ยงด้วยปุ๋ยยังสามารถเจริญเติบโตได้ดี และมีต้นทุนต่ำอีกด้วย



(คลอเรลล่าเป็นสาหร่ายเซลล์เดียวจำพวกแพลงก์ตอนพืช)

การเพาะเลี้ยงไรแดงที่มีความสำคัญที่สุดคือ อาหาร ผู้เพาะเลี้ยงควรทำการตรวจสอบอยู่เสมอว่า ไรแดงมีอาหารเพียงพอแล้วหรือไม่ เนื่องจากไรแดงจะมีการสืบพันธุ์แบบไม่อาศัยเพศซึ่งเป็นไรแดงที่ให้ผลผลิตดีที่สุดนั้น จำเป็นต้องมีอาหารอย่างเพียงพอ เมื่อใดอาหารไม่เพียงพอไรแดงจะเปลี่ยนไปสืบพันธุ์แบบอาศัยเพศ จึงเป็นสาเหตุให้ผลผลิตไรแดงลดลง

วิธีการเพาะไรแดงแบ่งออกได้เป็น 2 วิธี วิธีแรกเป็นการเพาะไรแดงแบบเก็บเกี่ยวผลผลิตเพียงครั้งเดียว ซึ่งจะให้ผลผลิตที่แน่นอนและมีปริมาณมาก วิธีนี้ไม่ต้องคำนึงถึงศัตรูของไรแดงมากนักเพราะเป็นการเพาะในช่วงสั้น แต่การเพาะแบบเก็บเกี่ยวครั้งเดียวนี้จำเป็นต้องอาศัยบ่อเพาะจำนวนมาก เพื่อที่จะได้มีผลผลิตทุกวัน และเป็นการสิ้นเปลืองหัวเชื้อไรแดงในการเพาะอีกด้วย ส่วนวิธีที่สองเป็นการเพาะไรแดงแบบเก็บผลผลิตต่อเนื่อง ซึ่งได้ผลผลิตที่แน่นอนสามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้หลายวัน ส่วนดีของวิธีนี้คือ ไม่สิ้นเปลืองบ่อเพาะฟักและหัวเชื้อไรแดงในการเพาะ ข้อเสียของวิธีนี้คือ ต้องระวังศตรูของไรแดง เช่น โรติเฟอร์ จำเป็นต้องคำนึงถึงอาหาร น้ำเขียว อินทรีย์สารต่าง ๆ รวมถึงความสะอาดอีกด้วย การเพาะวิธีนี้จำเป็นต้องอาศัยความเอาใจใส่ ต้องเพิ่มน้ำสะอาดในบ่อเพาะ เพื่อลดความป็นพิษของแอมโมเนียและสารพิษอื่น ๆ ในบ่อ เราจึงเห็นข้อดีและข้อเสียของทั้งสองวิธี

การเพาะไรแดงโดยใช้น้ำเขียว ( คลอเรลล่า ) เป็นอาหาร ผู้เพาะเลี้ยงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีคลอเรลล่าจำนวนที่เพียงพอต่อการเพาะเลี้ยง จึงต้องมีการเพาะคลอเรลล่าขึ้นก่อนให้มีจำนวนที่เพียงพอกับไรแดง

วิธีเพาะเลี้ยงคลอเรลล่าในที่นี้จะกล่าวถึงการเพาะในบ่อซีเมนต์ขนาดเนื้อที่ 50 ตารางเมตร ( 10x5 เมตร สูง 60 เซนติเมตร ถ้าต้องการเพาะเลี้ยงในขนาดเนื้อที่ที่เล็กลง ให้ย่อส่วนของขนาดและปริมาณปุ๋ยที่ใช้ลงตามส่วน ) ทำความสะอาดบ่อและตากให้แห้งสนิท จากนั้นเติมน้ำที่กรองแล้วด้วยถุงกรองแพลงก์ตอน ควรกรองน้ำทุกครั้ง ไม่ว่าจะเป็นน้ำบาดาล น้ำคลอง น้ำประปา ควรกรองผ่านผ้ากรองขนาด 69 ไมครอน เติมน้ำลงระดับความลึก 20 เซนติเมตร ( น้ำที่ได้จากแหล่งน้ำธรรมชาติ เช่น แม่น้ำ ลำคลอง หนอง บึง จะให้ผลผลิตที่สูงกว่า น้ำประปา น้ำบาดาล และน้ำฝน แต่ควรกรองน้ำทุกครั้งเพราะแหล่งน้ำธรรมชาติมีศตรูของไรแดงจำนวนมาก )



(ล้างและตากบ่อเพาะให้แห้ง) (เติมน้ำที่ผ่านการกรองแล้วความลึก 20 เซนติเมตร)

เติมปุ๋ยที่ใช้เลี้ยงคลอเรลล่าตามสัดส่วนที่กำหนด แล้วเติมหัวเชื้อคลอเรลล่าน้ำจืด ปริมาณ 2 ตันต่อบ่อ



(เติมหัวเชื้อคลอเรลล่าลงในบ่อเพาะ) (เติมปุ๋ยที่ใช้เลี้ยงคลอเรลล่า)

ปุ๋ยที่ใช้เลี้ยงคลอเรลล่า

ปุ๋ย N-P-K ( ปุ๋ยนา 16-20-0 ) 0.5 กิโลกรัม , ยูเรีย ( 46-0-0 ) 1.5 กิโลกรัม , ซุปเปอร์ฟอสเฟต (0-46-0 ) 130.0 กรัม , ปูนขาว 3.0 กิโลกรัม , กากผงชูรส ( อามิ อามิ ) 20 ลิตร

อามิ อามิ เป็นกากของการทำผงชูรส หาซื้อได้ที่ บ.อายิโนโมโต๊ะ จก. ถนนสุขสวัสดิ์ ซ. 43 อ.พระประแดง จ.สมุทรปราการ หรือโทร. 0-2463-5536-8 , 0-2819-3259 , หัวเชื้อคลอเรลล่าเริ่มต้นติดต่อขอได้จากศูนย์วิจัยกองประมงน้ำจืด จ.ปทุมธานี หรือโทร. 0-2546-3184-5

หลังจากที่ได้ทำการเติมหัวเชื้อและปุ๋ยแล้วควรติดตั้งเครื่องเป่าลมไว้ในบ่อเพาะด้วย เพื่อให้เกิดการหมุนเวียนของน้ำในบ่อเพาะเป็นการป้องกันการตกตะกอนของน้ำเขียวอีกทั้งเป็การช่วยเพิ่มออกซิเจนและเร่งการเจริญเติบโตของน้ำเขียวและไรแดงให้ดีขึ้น รวมถึงการลดความเป็นพิษของน้ำที่มีต่อไรแดง น้ำเขียวเมื่อได้รับออกซิเจนที่เพียงพออีกทั้งปุ๋ยและแสงแดด ก็จะเพิ่มปริมาณมากขึ้น สังเกตุได้จากน้ำจะเริ่มมีสีเขียวคล้ำมากขึ้นต่างจากวันแรก เมื่อทำการเพาะน้ำเขียวจนมีสีเขียวเข้มจะใช้เวลาประมาณ 3 วัน ให้ทำการแบ่งหัวเชื้อน้ำเขียวไปเติมในบ่อใหม่ 2 ตัน และทำเช่นเดิมกับขั้นตอนที่ผ่านมาเพื่อเป็นสต๊อกน้ำเขียวเก็บไว้



(เครื่องเติมฟองอากาศ) (น้ำเริ่มมีสีเขียวเข้ม)

เมื่อทำการแบ่งหัวเชื้อน้ำเขียวแล้วให้เติมน้ำกลับลงไปในบ่อเพิ่มขึ้นจากเดิมอีก 10 เซนติเมตร รอถึงวันท่ 4 ใส่แม่พันธุ์ไรแดงหนัก 2 กิโลกรัมต่อบ่อเพาะทำการเลี้ยงไรแดงต่อไปอีก 4 วัน จึงเริ่มเก็บผลผลิตได้บางส่วนโดยกรองไรแดงออกจากบ่อเพาะเลี้ยง วันละประมาณ 5 กิโลกรัมพร้อมทั้งลดระดับน้ำลง 10 เซนติเมตร เติมน้ำเขียวและน้ำสะอาดลงในบ่อเพาะอย่างละ 5 เซนติเมตร ทำเช่นนี้ทุกวันจนกว่าสภาพแวดล้อมไม่เหมาะสม ( สังเกตุดูด้วยการเอากระชอนตักขึ้นดูว่ามีไรแดงตัวผู้มากขึ้น และจำนวนไรแดงลดน้อยลง ) ควรกรองไรแดงออก ล้างบ่อและเริ่มทำใหม่ตามขั้นตอนที่กล่าวมาแล้ว



(เติมหัวเชื้อไรแดงลงในบ่อเพาะ) (กรองไรแดง)

ข้อเสนอแนะในการเพาะไรแดง

การเตรียมน้ำลงในบ่อเพาะไรแดง ควรกรองน้ำก่อนด้วยผ้ากรองทุกครั้งเพื่อป้องกันสิ่งมีชีวิตเล็ก ๆ หรือศตรูของไรแดงจากแหล่งน้ำธรรมชาติที่อาจจะเข้ามาปะปนกับไรแดง น้ำเขียวที่จะนำลงบ่อเพาะไรแดง ควรกรองด้วยถุงกรองแพลงก์ตอน เพื่อป้องกันสิ่งมีชีวิตเล็ก ๆ ที่ติดมากับน้ำเขียว การเพาะไรแดงควรคำนึงถึงอาหารที่ใช้เลี้ยงไรแดง ( น้ำเขียว ) ซึ่งนับว่าเป็นอาหารที่เหมาะสมต่อการเลี้ยงไรแดง เพราะคงสภาพอยู่ได้นานไม่เน่าเสีย เจริญเติบโตได้อย่างรวดเร็วด้วยปุ๋ยชนิดต่าง ๆ การเพิ่มระดับน้ำและการเติมปุ๋ยก็เป็นปัจจัยในการเพิ่มผลผลิตไรแดง เนื่องจากการเพิ่มปุ๋ยจะเป็นการเพิ่มปริมาณน้ำเขียวให้มากขึ้นด้วย แต่การเพิ่มระดับน้ำสูงขึ้นจะทำให้การสังเคราะห์แสงของน้ำเขียวไม่ดีพอ อีกทั้งไรแดงขาดออกซิเจนจึงควรติดตั้งปั้มลมเพิ่มออกซิเจนในน้ำให้ทั่วถึง นอกจากจะช่วยให้ไรแดงขยายพันธุ์ได้รวดเร็วแล้ว ยังช่วยให้น้ำเขียวไม่ตกตะกอนและช่วยให้ปุ๋ยที่จมอยู่ฟุ้งกระจาย เพื่อเป็นปรโยชน์ต่อน้ำเขียวโดยตรง แสงแดดมีผลโดยตรงต่อความหนาแน่นของน้ำเขียว เมื่อน้ำเขียวได้รับแสงแดดการสังเคราะห์แสงดีขึ้นก็จะเพิ่มปริมาณความหนาแน่นของน้ำเขียว ไรแดงเมื่อได้รับอาหารอย่างเพียงพอก็จะมีการแพร่ขยายและเจริญเติบโตได้ดี เรื่องของการเพาะเลี้ยงไรแดงก็ขอจบลงเพียงเท่านี้ หวังว่าคงมีประโยชน์ต่อทุกท่านและเป็นแนวทางในการเพาะเลี้ยงไรแดง

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

Custom Search

บทความที่ได้รับความนิยม