11.24.2552

ปลากระทิงไฟ


ปลากระทิงไฟหน้าตาของมันเหมือนกับวัวกระทิงมั้ย หรือมันมีเขาเที่ยวไล่ขวิดปลาตัวอื่นๆ เหมือนที่วัวกระทิงไล่ขวิดคนที่ประเทศสเปนหรือเปล่า ถ้ามีคนสงสัยหรือตั้งคำถามเหล่านี้ขึ้นมาอย่าไปหัวเราะหรือไปว่าเขาเลยนะครับ เพราะเดี๋ยวนี้ส่วนใหญ่แล้วเราได้ยินแต่ชื่อหรือไม่ก็เห็นแต่ในภาพ ไม่บ่อยนักที่ได้เห็นตัวจริงๆของปลากระทิงไฟ ฉะนั้น คงไม่แปลกอะไรที่มีคนสงสัยจริงมั้ยครับ เพื่อคลายความสงสัยเรามาดูกันเลยครับว่ารูปร่างหน้าตา ลักษณะทั่วไปมันอยู่ที่ไหนทำไมถึงได้ยินแต่ชื่อ
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Mastacembelus erythrotania
ชื่อสามัญ : RED SPINY EEL,FIRE SPINY EEL,FIRE EEL
ในบรรดาปลาไทยที่มีรูปร่างแปลกประหลาด ปลากระทิงไฟจัดว่าเป็นปลาไทยอีกชนิดที่อยู่ในข่ายปลาประหลาด คือ รูปร่างจะไม่เหมือนกับปลาทั่วไป แต่จะไปเหมือนกับงูมากกว่าโดยลำตัวของปลากระทิงไฟมีลักษณะเรียวยาวจนเกือบเป็นทรงกระบอกเช่นเดียวกับงู แต่ท้ายลำตัวส่วนที่อยู่ค่อนไปทางหางจะมีลักษณะแบนข้าง และส่วนหัวหรือปลายปากจะยื่นยาวและแหลมกว่างู
ปลากระทิงไฟเป็นปลาไทยอีกชนิดหนึ่งที่ได้รับความนิยมจากนักเลี้ยงปลาทั่วทุกมุมโลก จนอาจกล่าวได้ว่าเป็นสินค้าส่งออกที่ติดอันดับของวงการปลาสวยงามของเมืองไทย เนื่องจากเป็นปลาที่มีรูปร่างแปลกประหลาดและมีสีสันสวยสดงดงาม โดยพื้นลำตัวมีสีน้ำตาลเข้มจนถึงดำสนิทและประแต้มด้วยแถบสีแดงสดเป็นเส้นๆ และเป็นจุดๆ ลักษณะคล้ายกับเส้นประ โดยลายนี้จะคาดตามความยาวจากหัวจรดหาง ลำตัวไม่มีเกล็ดปกคลุม (เป็นปลาหนัง) ส่วนหัวค่อนข้างแหลม ปากมีขนาดเล็กและปลายยื่นแหลม จะงอยปากมีลักษณะคล้ายกับงวงช้าง โดยจะงอยปากด้านบนจะยื่นยาวกว่าด้านล่าง ซึ่งช่วยทำหน้าที่คุ้ยเขี่ยหาอาหารตามพื้นและส่งอาหารเข้าสู่ปาก สำหรับครีบหลัง ครีบทวาร และหางจะเชื่อมต่อติดกันเป็นครีบเดียว โดยครีบหลังตอนหน้าจะมีขนาดเล็กมากและลักษณะเป็นหยักคล้ายกับฟันเลื่อย หากไม่สังเกตจะมองไม่เห็น โดยปลายหางมีลักษณะมนโค้ง ปลายค่อนข้างแหลม ซึ่งสีของครีบจะกลมกลืนกับสีพื้นลำตัวและบริเวณขอบครีบด้านนอกเป็นสีแดงหรือสีส้ม บริเวณแนวโคนครีบมีจุดกลมสีแดงประแต้มตลอดแนวซึ่งจุดและลายแถบสีแดงเหล่านี้ขณะที่ปลายังเล็กจะเป็นสีน้ำตาลอมส้มหรือเหลือง เมื่อปลาโตขึ้นจุดและแถบลายเหล่านี้สีก็จะเข้มขึ้นเรื่อยๆ จนกลายเป็นสีแดงหรือสีแดงอมส้มในที่สุด แต่ปลาส่วนใหญ่สีแดงสดจะเข้มขัดเฉพาะบริเวณลำตัวส่วนที่อยู่ค่อนไปทางหัว ส่วนลายที่อยู่ค่อนไปทางหางโดยมากจะเป็นสีแดงส้มหรือสีน้ำตาล พบน้อยตัวมากที่มีลายสีแดงเพลิงทั้งตัว
ลักษณะการว่ายน้ำของปลากระทิงไฟจะไม่เหมือนกับปลาทั่วไป คือจะว่ายเลื้อยลักษณะเหมือนกับงูและปลาไหลมากกว่า ปกติมักกบดานซ่อนตัวอยู่ตามก้นน้ำที่มีไม้น้ำ ซอกหินหรือตามซากปรักหักพังต่างๆ โดยจะอยู่รวมเป็นฝูงและรอดักจับกินเหยื่อที่พลัดหลงเข้ามาในถิ่น ในธรรมชาติมักออกหากินยามค่ำคืน ในขณะที่ปลาหรือเหยื่อกำลังเผลอก็จะค่อยๆ ว่ายเลื้อยเข้าไปหาอย่างช้าๆ ลักษณะเช่นกับงูที่เลื้อยเข้าหาเหยื่อ หรือบางครั้งก็ซุ่มรอให้เหยื่อว่ายเข้ามาใกล้ พอได้จังหวะก็จะฉกกัดอย่างรวดเร็ว ซึ่งส่วนใหญ่การล่าเหยื่อมักไม่ค่อยพลาด จัดว่าเป็นปลาที่มีนิสัยก้าวร้าว หวงถิ่นและชอบกินปลาเล็กเป็นอาหาร ดังนั้นจึงไม่ควรนำไปเลี้ยงรวมกับปลาอื่น ควรเลือกปลาที่หากินต่างระดับกัน เช่น เลี้ยงรวมกับปลาที่หากินตามบริเวณผิวน้ำหรือระดับกลางน้ำที่มีความว่องไวปราดเปรียวพอสมควร และควรเป็นปลาที่ขนาดใหญ่กว่าปลากระทิงไฟด้วย สำหรับปลาในตระกูลแคทฟิชหรือปลาที่มีหนวดไม่ควรนำมาเลี้ยงรวม เพราะส่วนใหญ่จะเป็นปลาที่หากินตามพื้นก้นน้ำ จึงไม่แน่ว่าใครจะกินใคร แต่โดยมากปลาเล็กก็มักจะตกเป็นเหยื่อของปลาใหญ่
ในกรณีที่ต้องการเลี้ยงปลากระทิงไฟรวมเป็นฝูง ควรเลือกปลาขนาดใหญ่พอๆกันเพื่อความปลอดภัย และควรจัดซอกมุมหลายๆแห่งเพื่อให้ปลาใช้เป็นที่หลบซ่อนกำบังตัว โดยซอกมุมที่ว่าควรจัดให้มีเพียงพอกับจำนวนปลาที่เลี้ยงเพื่อปลาจะได้ไม่ต้องต่อสู้ชิงที่อยู่กัน โดยโพรงหรือซอกรูที่ว่าอาจใช้หลอดแก้วโปร่งใสมาตั้งวางไว้เฉยๆ เพื่อให้ปลามุดลอด เพื่อเวลาที่ปลาว่ายเข้าไปหลบในโพรงเราจะได้มองเห็นชัดๆ หรือถ้าไม่สนใจเรื่องทัศนียภาพก็อาจใช้ท่อพีวีซี ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางตั้งแต่ 1 นิ้วขึ้นไปมาฝังลงในชั้นกรวดเพื่อสร้างเป็นโพรงก็ไม่เลว แต่ไม่ควรใช้ท่อขนาดเล็กกว่านี้เพราะอาจทำให้ปลาถอยกลับตัวออกมาไม่ได้ โดยใช้หินกรวดตกแต่งปิดทับ บริเวณปากทางเข้าไม่ให้เห็นปากท่อก็จะดูเป็นธรรมชาติและประหยัดเงินดีด้วย สำหรับกรวดที่ใช้ควรเป็นกรวดขนาดใหญ่เพื่อป้องกันไม่ให้ปลากระทิงไฟขุดมุดลอดลงไปเป็นขอมดำดินจนทำให้ระบบกรองใต้พื้นกรวดเสียหาย ขณะเดียวกันท่ออ๊อกซิเจนควรเลือกชนิดที่มีตะแกรงปิดเพื่อกันปลาว่ายลอดเข้าไปหลบในท่อจนทำให้ถอยกลับตัวออกมาไม่ได้จนเป็นเหตุให้ปลาตายเพราะอดอาหารในที่สุด
นอกจากนี้ตู้ควรมีฝาครอบปิดมิดชิดเพื่อกันปลาไถลออกมานอกตู้ หากใช้ตะแกรงหรือมุ้งลวดครอบก็ควรหาของหนักๆ มาวางทับอีกชั้นหนึ่ง เพราะปลากระทิงไฟสามารถใช้ตัวดันตะแกรงและเลื้อยหนีออกมาได้ แต่ก็อยู่ได้ไม่นานก็จะตายเนื่องจากขาดน้ำขาดอากาศหายใจ และหากต้องการให้ภายในตู้ดูมีชีวิตชีวาขึ้นก็ควรปลูกประดับด้วยพืชน้ำ แต่ควรฝังรากให้ลึกๆ หน่อย เพราะมิฉะนั้นอาจถูกปลากระทิงไฟขุดทำลายได้ ยิ่งปลากระทิงไฟเป็นปลาที่ขี้อายและขี้ตกใจอยู่แล้ว โดยมากถ้าไม่หิวจริงๆก็จะไม่ยอมปรากฏตัวให้ใครเห็น สำหรับประเภทของอาหารที่ปลากระทิงไฟชอบกินก็ได้แก่ อาหารประเภทเนื้อสัตว์ เช่น เนื้อสัตว์หั่นเป็นชิ้นเล็กๆ ลูกปลา กุ้งฝอย หนอนแดง ไรทะเล ไส้เดือนน้ำ เป็นต้น จัดว่าเป็นปลาที่เลี้ยงง่ายเพราะมีความอดทนและสามารถปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมได้ดีอีกชนิดหนึ่ง
ในปัจจุบันปลาที่นำมาขายในท้องตลาดเป็นปลาที่รวบรวมได้จากแหล่งน้ำธรรมชาติซึ่งสามารถพบได้เกือบทุกภาคของประเทศ นอกจากนี้ยังพบในมาเลเซียและอินโดนีเซีย แต่ยังไม่มีรายงานว่าผู้ใดสามารถเพาะพันธุ์ปลากระทิงไฟในที่เลี้ยงได้สำเร็จ เป็นไงบ้างครับสาธยายมาพอสมควร พอจะนึกออกแล้วหรือยังว่ารูปร่างหน้าตาของปลากระทิงไฟมันไม่เหมือนกันเลยใช่มั้ยกับวัวกระทิง แต่ตอนนี้ปลาชนิดนี้เริ่มหายากแล้วนะครับ สามารถพบได้เกือบทุกภาคของประเทศ แต่เอ๊ะน่าสงสัยมั้ยครับในเมื่อพบเกือบทุกภาคของประเทศในแหล่งน้ำธรรมชาติ แต่ทำไมปลากระทิงไฟถึงหายาก แสดงว่าใกล้สูญพันธุ์แน่เลย แต่ก่อนคลองเล็กๆใกล้บ้าน ผมยังจับปลากระทิงไฟมาใส่ขวดเล่นอยู่เลย แต่เดี๋ยวนี้ต่อให้ชักน้ำคลองให้แห้งขอดแล้วพลิกแผ่นดินหา ทำอย่างไรก็หาไม่เจอ อย่าว่าแต่คลองเล็กๆเลยครับ แหล่งน้ำขนาดใหญ่อย่างทะเลสาบสงขลา ที่อุดมไปด้วยสัตว์น้ำนานาชนิด กว่าจะได้เจอปลากระทิงสักตัวหายากยิ่งกว่าน้องเคอิโงะตามหาพ่อเสียอีก 555 (เอ๊ะ มันเกี่ยวกันมั้ยนี่)
แต่อย่าเพิ่งเชื่อผมนะครับ ผมก็แค่ได้ยินคนอื่นเล่าให้ฟังว่าปลากระทิงไฟมันหายาก เอาอย่างนี้ดีกว่ามั้ยเพื่อความมั่นใจว่าจริงหรือเปล่าเราลงพื้นที่จริง ไปสอบถามข้อมูลจากชาวประมงกับทีมงาน nicaonline.com กันดีกว่านะครับที่ทะเลสาบสงขลาตอนบนบริเวณที่เป็นน้ำจืด ตามผมกับทีมงานไปเลยครับ เวียนหาอยู่ตั้งนานเล่นเอาน้ำมันหมดไปหลายลิตร เพราะเจอแต่คนส่ายหน้า....มันหายากลูกบ่าวเอ้ย... ลุงหาไม่ได้มาหลายเดือนแล้ว... ปลากระทิงไฟรึ อ๋อมันคืออดีต เจอแต่คำพูดเหล่านี้แหละครับ แต่ยังไม่สิ้นหวังทีมงานของเราไปเจอคุณลุงท่านหนึ่ง คุณลุงสมนึก โชติมณี ที่ ม.4 บ้านเกาะโคบ ต.เกาะหมาก อ.ปากพะยูน จ.พัทลุง คนนี้เลยรู้จริงเรื่องกระทิงไฟในทะเลสาบสงขลา
ลุงสมนึกเล่าให้ฟังว่า เมื่อ 20 ปีกว่ามาแล้ว(โอ๊ยนานมากแล้วนะลุง) ปลากระทิงไฟหาไม่ยากเลยจับได้วันหนึ่ง 10-20 ตัว สบายๆ ตอนนั้น ไม่รู้จะเอาไปทำอะไรจะกินก็ไม่นิยมจะขายก็ไม่ได้ราคา แต่ปัจจุบันนี้ปลากระทิงไฟเริ่มเป็นที่น่าสนใจสามารถนำไปขายให้กับพ่อค้าปลาสวยงามหรือบางคนซื้อไปทำยารักษาโรคก็มี แต่เสียดายที่มันมักจะตรงกันข้ามเสมอ ขายได้ราคาดีแต่ปลากลับหายาก ปลาขนาด 1-2 ขีด ขายตัวละ 100 บาท ถ้าโตกว่านี้ก็แพงไปอีกในปีนี้ลุงจับปลากระทิงไฟได้ประมาณ 20 ตัว ถ้าพูดกันในมุมมองของการอนุรักษ์ก็พอยิ้มออกแหละครับ อย่างน้อยทะเลสาบสงขลาก็ยังมีปลากระทิงไฟให้เห็นอยู่บ้าง แต่คงแค่ยิ้มออกเพียงนิดๆ มองผิวเผินไม่รู้เสียด้วยซ้ำว่ายิ้มจะให้ยิ้มเฉ่งได้อย่างไร 20 ปีที่แล้วจับได้ 10-20 ตัวต่อวัน ปัจจุบันจับได้ 20 ตัว/ปี และอีก 20 ปี คงจะจับได้ 1 ตัว/ปี หรือไม่ก็จับได้ 1 ตัวต่อ 20 ปี อะไรประมาณนี้แค่คิดก็ใจหาย ปลาสวยงามกับแหล่งน้ำที่ได้ชื่อว่ากว้างใหญ่อย่างทะเลสาบสงขลา มันมีแต่ชื่อที่เคยอยู่ในทำเนียบสัตว์น้ำของทะเลสาบแล้วหรือ ผมเชื่อว่าแหล่งน้ำจากที่อื่นๆก็คงไม่แตกต่างกับแหล่งน้ำจากทะเลสาบสงขลาก็คือ ปลากระทิงไฟใกล้สูญพันธุ์
ขอขอบคุณลุงสมนึก โชติมณี มากเลยครับที่ได้ให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์เกี่ยวกับเรื่องปลากระทิงไฟกับทีมงาน nicaonline.com ผมมั่นใจว่าถ้าเราช่วยกันดูแลช่วยกันอนุรักษ์ไม่เฉพาะที่ทะเลสาบสงขลาที่อื่นๆก็เช่นกันครับ ปลากระทิงไฟต้องไม่มีเพียงแค่ชื่ออย่างแน่นอน

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

Custom Search

บทความที่ได้รับความนิยม