ปลาออสการ์เป็นพันธุ์พื้นเมืองของลุ่มแม่น้ำ Orinoco, อะเมซอน และ La Plata ในทวีป อเมริกาใต้ แต่เดิมพบในลำคลองแถบ ไมอามี่ และ Dade country ที่ฟลอริด้า มีการเลี้ยงในฟาร์มปลาเพื่อเป็นอาหารและกีฬา ต่อมาได้มีการนำเข้ามาเพื่อเลี้ยงเป็นปลาสวยงาม โดยกระจายอยู่ทั่วไปแถบทวีปอเมริกา แอฟริกา และเอเซีย ปลาออสการ์ (Astronotus ocellatus) เดิมมีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Lobotes ocellatus ชื่อสามัญว่า Oscar, Red Belvet, Velvet Cichlid, Marbled Cichlid, Peacock-Eyed Cichilld, Tiger Oscar, Peacock Cichilld อยู่ในครอบครัว Cichlidae มีนิสัยค่อนข้างดุ โตเต็มวัยมีความยาวขนาด 12 - 14 นิ้ว ชอบกินอาหารที่มีชีวิต สามารถฝึกให้กินอาหารเม็ดได้ มีผู้เคยทำการศึกษาโดยการตรวจดูอาหารที่อยู่ในท้องของปลาจากธรรมชาติพบว่ามี แมลง ปลา สัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำ พืชน้ำ และเมล็ดพืชอื่น ๆ เป็นปลาอาศัยอยู่ได้ทั้งบนผิวน้ำ กลางน้ำและท้องน้ำ เป็นที่นิยมเลี้ยงมาก และถ้าเลี้ยงดูอย่างดีสามารถมีชีวิตอยู่ได้เป็น 10 ปี ปลาออสการ์สามารถแบ่งออกเป็นประเภทต่าง ๆ ได้ 5 ชนิด ออสการ์สีพื้น ลายเสือ สีแดง สีเผือก หางยาว อาจจะพบประเภทอื่น ๆ อีก ได้แก่ เผือกตาแดง สีฟ้า (อาจจะมาจากการย้อม) และลายหินอ่อน นอกจากนั้นยังมี เผือกทอง เผือกเสือแดง หรือมีตั้งแต่สีขาว น้ำตาลจนกระทั่งสีดำ มีลายสีแถบแดงที่ด้านข้างลำตัว สีของปลาขนาดเล็กพบว่ามีสีแดงสลับกับสีดำ เมื่อโตขึ้นสีจะเปลี่ยนไปเป็นสีเทาและสีส้มแดง ส่วนครีบมีสีดำหรือทองมีรูปร่างแบนปากใหญ่ ปากล่างยาวกว่าปากบน เติบโตเร็วมาก ดังนั้นจึงต้องการตู้ขนาดใหญ่ เลี้ยงง่ายควรจะต้องมีที่กรองน้ำให้ด้วย มีนิสัยดุร้าย ดังนั้นควรที่จะเลือกปลาที่เลี้ยงในตู้เดียวกันให้มีขนาดไล่เลี่ยกันสามารถที่จะปล่อยร่วมกับปลาอื่น ๆ ได้เช่น หมอเท็กซัส หมอไฟร์เมาท์ เปกู ชอบขุดคุ้ยก้อนหิน ต้นไม้และกรวดทรายในตู้ บางครั้งทำลายอุปกรณ์ในตู้ปลาได้ ควรที่จะเลี้ยงในตู้ปลาที่มีขนาดใหญ่เพื่อให้ปลาสามารถเจริญเติบโตได้เต็มที่ แต่เพื่อให้ง่ายในการดูแลบางครั้งมักที่จะเลี้ยงในตู้ที่ไม่ใส่ทรายหรือกรวดเลย ขณะเดียวกันอุณหภูมิไม่เหมาะสม ให้อาหารมากเกินไป คุณภาพน้ำไม่ดีก็อาจทำให้ปลาตาย
* อาหาร
ปลาออสการ์เป็นปลาที่กินอาหารได้ทุกอย่างและตลอดเวลาไม่มีความจำเป็นที่จะต้องให้อาหารที่มีชีวิตอาจจะให้อาหารแช่แข็งที่ทำมาจาก ไรแดง หนอนแดง อาหารเม็ดปลาดุก ไม่ควรที่จะให้อาหารแห้งตลอดไปควรจะมีการสลับกันระหว่างอาหารสดหรืออาหารแห้ง เนื่องจากออสการ์เหมือนปลาอื่น ๆ มักจะเล่นอาหารที่กินโดยที่กินเข้าไปแล้วคายออกมาทำให้น้ำเน่าเสียได้ ดังนั้นควรที่จะให้อาหารกินพอดี ๆ จากสาเหตุนี้ทำให้จำเป็นที่จะต้องมีแผ่นกรองในตู้ปลาเพื่อกรองของเสีย และควรทำความสะอาดตู้ปลาเมื่อเห็นว่าตู้ปลาสกปรกมากแล้ว การให้อาหารที่เหมาะสมคือให้ทีละน้อยและให้กินจนหมด
* การผสมพันธุ์
การแยกเพศของปลาออสการ์คล้ายกับตระกูลปลาหมอทั่วไป คือ จะแยกค่อนข้างยากโดยที่เพศผู้นั้นตามปกติจะมีสีสันมากกว่าเพศเมีย มีตัวใหญ่มากกว่า ช่องเปิดของอวัยวะเพศจะยื่นออกมาส่วนเพศเมียจะกลม เพศผู้จะมีครีบหลังใหญ่กว่าเพศเมียในขณะที่เพศเมียครีบหลังค่อนข้างกลม เนื่องจากเพศที่แยกยากนี้ทำให้การเลี้ยงปลาออสการ์ส่วนใหญ่เมื่อถึงฤดูผสมพันธุ์มักจะปล่อยรวมกันหลาย ๆ ตัวบางครั้งอาจจะมากกว่า 6 ตัว ในบ่อที่มีขนาดใหญ่ มีการกั้นหินเป็นห้อง ๆ เพื่อที่จะให้พ่อแม่ปลาที่พร้อมจะวางไข่นั้นจับคู่กันเอง และเป็นการหลบภัยจากปลาตัวอื่นอีกด้วย ควรจะมีกระดานพาดอยู่ในรังด้วยเพื่อให้ปลาวางไข่ที่กระดาน เมื่อปลาพร้อมวางไข่ก็จะมีการสร้างรังปลาตัวอื่นที่ไม่ใช่คู่ของมันจะถูกไล่ออกไป คุณสมบัติน้ำที่เหมาะสมในช่วงฤดูผสมพันธุ์ สำหรับปลาตระกูล Cichlid ได้แก่ ปลาหมอสี ปลาปอมปาดัวร์ น้ำควรมีความเป็นกรด น้ำอ่อน ดังนั้นในช่วงนี้เมื่อรู้ว่าปลาพร้อมที่จะมีการปรับน้ำให้เหมาะสม โดยการเปลี่ยนคุณสมบัติของน้ำทีละเล็กทีละน้อย ความเป็นกรดและด่าง ควรให้ลดมาอยู่ที่ 6 - 7 ความกระด้างของน้ำควรให้ต่ำกว่า 160 พีพีเอ็ม อุณหภูมิของน้ำควรอยู่ที่ 30 องศาเซลเซียส
* ข้อควรระวัง เมื่ออุณหภูมิของน้ำสูงทำให้โอกาสเป็นโรคจากเชื้อราได้ง่าย และทำความสะอาดน้ำเพื่อให้สะอาด การเปลี่ยนถ่ายน้ำควรทำประมาณ 25% ต่อสัปดาห์ให้อาหารตามปกติ จะเห็นปลาเริ่มวางไข่ ลักษณะของไข่ออสการ์เป็นไข่ติด รูปร่างจะไม่เหมือนกับไข่ปลาอื่น ๆ กล่าวคือ จะมีลักษณะทรงกรวยหรือเหมือนขนาดโดนัท มีความยาวประมาณ 2.0 มิลลิเมตรและยาวมากกว่าความกว้าง จากนั้นก็ย้ายไข่ที่ติดที่กระดานออกมาฟักในภาชนะอื่นที่มีการถ่ายเทน้ำไข่ที่เสียจะเป็นไข่ที่มีสีขาวขุ่น ในขณะที่ไข่ที่ดีจะใสและเริ่มมีการแบ่งตัวของเซลล์ ลูกปลาจะฟักในระยะเวลา 2 - 3 วัน เจริญต่อไปจนได้ลูกปลาและว่ายน้ำขึ้นมาที่ผิวน้ำช้อนลูกปลาไปอนุบาล สำหรับการอนุบาลลูกปลานั้นส่วนใหญ่จะให้ไรแดงเป็นอาหารตลอด อาจจะมีการเสริมอาหารลูกปลาวัยอ่อนหรือไข่ตุ๋นก็ได้แต่ต้องระวังเรื่องน้ำเสีย
*โรคและการรักษา
โรคและการรักษา หลักการเลี้ยงปลาทั่ว ๆ ไปมีหลักการสำคัญอยู่อย่างหนึ่ง ควรที่จะป้องกันโรคดีกว่าที่ปล่อยให้เป็นโรคแล้วจึงมารักษา ดังนั้นการสังเกตการกินอาหารของปลา การเคลื่อนไหวในแต่ละวัน การสังเกตความผิดปกติของตา ครีบ ลำตัว อยู่สม่ำเสมอจะเป็นการดีที่สุด สำหรับโรคปลามีอยู่ 2 ประเภทคือ โรคที่เกิดจากการติดเชื้อสังเกตได้ง่าย เมื่อพบว่าปลาเป็นโรค 1 - 2 ตัวแล้วจะมีการลุกลามต่อไปยังปลาตัวอื่น ๆ ในช่วงระยะเวลาหนึ่ง โรคเหล่านี้ได้แก่ โรคเกิดจากเชื้อรา แบคทีเรียและปรสิต ส่วนใหญ่เกิดจากน้ำที่มีคุณสมบัติไม่ดี โรคที่ไม่เกิดจากการติดเชื้อมีสาเหตุของการเกิดโรคจากปัจจัยหลักได้แก่ คุณสมบัติน้ำไม่เหมาะสม สภาพสิ่งแวดล้อมไม่อำนวย การผสมพันธุ์ที่เกิดจากเลือดชิดกันมาก หรือการขาดธาตุอาหาร ซึ่งเมื่อเป็นโรคเหล่านี้แล้วสามารถที่จะแพร่ขยายต่อไปจนกระทั่งกลายเป็นโรคติดเชื้อได้
การป้องกัน ปลาที่เพิ่งได้มาใหม่ ควรจะแยกไว้ต่างหากเพื่อดูอาการผิดปกติประมาณ 2 สัปดาห์ เมื่อสังเกตว่าปลามีการกินอาหารที่ดีแล้วไม่มีอาการผิดปกติ จึงควรที่จะปล่อยรวมกันได้ในกรณีที่เห็นว่ามีอาการที่ผิดสังเกตจำเป็นต้องแยกอุปกรณ์ที่ใช้ร่วมกันออกต่างหาก
* โรคต่าง ๆที่พบได้แก่
- HITH (Hexamita)เป็นโรคโปรโตซัวที่พบทั่วไปในปลาออสการ์ ปอมปาดัวร์และหมอสี สังเกตเห็นได้ง่ายที่บริเวณรอบ ๆ หัวเป็นเหมือนแผลลึกลงไปและลามไปถึงส่วนด้านหน้าหัว หรือยาวขนาดไปกับเส้นข้างลำตัว สามารถทำให้ถึงตายได้ ปลาจะไม่ค่อยแสดงอาการเจ็บปวดหรือคัน และมักพบว่ามีโปรโตซัวที่มีชื่อ Hexamita อยู่ในแผล โดยปกติโปรโตซัวตัวนี้มักพบเป็นปกติในลำไส้แต่ไม่เป็นอันตรายจนกระทั่งปลามีอาการอ่อนแออันเนื่องมาจากสาเหตุของโรคนี้เกิดจากอาหารที่ขาดวิตามินซี น้ำมีไนเทรตสูงมาก เครียด และคุณสมบัติน้ำที่ไม่เหมาะสม โรคนี้สามารถติดต่อได้ง่ายจากการให้อาหารที่มีชีวิต เพราะเป็นแหล่งของพยาธิยาที่ใช้ในการรักษาเป็นยา Fiagyl หรือ Metronidazole
- โรคจุดขาว White Spot (Ich, Ichthyophthirius)
เป็นโรคที่เกิดจากปรสิต ซึ่งสามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่าได้ เป็นโรคที่พบทั่วไป พบเป็นจุดขาวตามลำตัว มีขนาด 1 มิลลิเมตรเกาะอยู่ตามผิวของตัว ปลาจะแสดงอาการคันมากและจะถูกกับก้อนหิน การรักษาเมื่อปรากฏเห็นเป็นจุดสีขาว ๆ โดยสังเกตได้จากจุดขาวเมื่อโตเต็มที่จะหลุดลงไปที่ก้นบ่อ โดยที่มีวุ้นหุ้มอยู่ เมื่อสภาวะแวดล้อมภายนอกเหมาะสมเกราะหุ้มจะแตกออกมาตัวอ่อนพยาธิจะว่ายออกมาเป็นอิสระเพื่อที่จะหาที่เกาะกับปลาอื่นต่อไปใหม่ วงจรชีวิตการเจริญเติบโตของโรคนี้เป็นระยะเวลา 5 วัน ดังนั้นการใช้ยาควรจะใช้อย่างต่อเนื่องเป็นระยะเวลา 10 วัน
ส่วนใหญ่ยาที่ใช้สามารถหาซื้อได้ตามท้องตลาด หรือใช้ฟอร์มาลิน 150 - 200 มิลลิลิตรต่อน้ำ 1,000 ลิตร สำหรับปลาขนาดใหญ่หรือ 25 - 50 มิลลิลิตรต่อน้ำ 1,000 ลิตร นาน 24 ชั่วโมงสำหรับปลาเล็ก
- โรคพยาธิเห็บระฆัง
พยาธิเกาะที่ผิวตัวและเหงือก มีการเคลื่อนไหวที่รวดเร็วมากจากที่หนึ่งไปยังอีกที่หนึ่ง สีปลาจะซีด หนังจะแดง คันจะเกาะอย่างรุนแรงใช้ฟอร์มาลิน 150 - 200 มิลลิลิตรต่อน้ำ 1,000 ลิตร แช่ไว้นาน 1 ชั่วโมง หรือ 25 - 50 มิลลิลิตร ต่อน้ำ 1,000 ลิตร นาน 24 ชั่วโมง
- โรคเกล็ดตั้ง
บางครั้งพบอาการตาโปนออกมาและเกล็ดตั้ง จากความผิดปกติของไต อาจจะเกิดจากที่มีการใช้ยามากเกินไปหรือโรคที่เกี่ยวข้องการรักษาควรแยกปลาออกมา ล้างบ่อ ฆ่าเชื้อในบ่อเลี้ยงโดยการตากบ่อให้แห้งและสาดสารละลายด่างทับทิม 1 กรัมต่อน้ำ 1 ลิตร
- โรคโอโอดิเนียม
อาการเหมือนกับผิวหนังถูกคลุมด้วยกระดาษทราย มีแผลตกเลือด รอยด่างสีน้ำตาล หรือเหลืองคล้ายสีน้ำตาลตามลำตัว โรคนี้แพร่หลายเร็วมาก ถ้าไม่ได้รับการรักษาทำให้ปลาตายเร็วมาก ในการรักษาควรจะคลุมถังให้มืด ใช้ฟอร์มาลิน 30 - 40 มิลลิลิตรต่อน้ำ 1,000 ลิตร นาน 24 ชั่วโมง ถ้ายังไม่ดีควรเปลี่ยนถ่ายน้ำแล้วให้ยาใหม่
- โรคตาโปน
อาการตาโปนยื่นออกมาจากกระบอกตา ใช้ยาฆ่าเชื้อราและกำจัดเชื้อรา จะช่วยรักษาได้และไม่เป็นอันตรายมากซึ่งไม่เป็นโรคแพร่หลายมาก
โรคเกิดจากเชื้อรา
โรคที่เกิดร่วมกับโรคอื่น ๆ หลังจากเป็นแผลเรื้อรัง มีเชื้อราเกิดเป็นปุยฝ้ายขาว ติดเชื้อจากกระชอนที่ใช้ร่วมกัน ควรจะมีการแช่กระชอนด้วยคลอรีน กำจัดด้วยยาฆ่าเชื้อราโดยใช้ยามาลาไคท์กรีนจำนวน 0.1-0.15 กรัมต่อน้ำ 1,000 ลิตร แช่นาน 24 ชั่วโมง
0 ความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น