11.24.2552


ปลาปอมปาดัวร์ (Pompadour) หรือที่เรียกกันว่า Discus (ซึ่งหมายถึงทรงกลม อันมาจากลักษณะของรูปร่างปลานั่นเอง) ปอมปาดัวร์เป็นปลาในตระกูลปลาหมอสี (Cichlidae) มีถิ่นกำเนิดในลุ่มแม่น้ำอะเมซอนในทวีปอเมริกาใต้ ชอบอาศัยอยู่ตามบริเวณลุ่มน้ำลำธารที่มีกระแสน้ำไหลผ่านเอื่อยๆ และมีระดับความลึกของน้ำไม่มากนัก มักหลบอาศัยอยู่ตามรากไม้น้ำหรือใต้พุ่มไม้น้ำที่มีลักษณะรกทึบจนแสงแดดแทบส่องไม่ถึง ปลาชนิดนี้จัดได้ว่ามีความทนต่อสภาพน้ำต่างๆ ได้ดีพอสมควร

ลักษณะรูปร่างของปลาปอมปาดัวร์จะกลมคล้ายจาน ปากเล็ก มีการเคลื่อนไหวเนิบนาบ อ่อนช้อย ขนาดโตเต็มที่ประมาณ 15-20 ซม. หรือประมาณ 6-8 นิ้ว มีลวดลายและสีสันเข้มข้นใกล้เคียงกับปลาทะเล ดูสวยงามมาก จึงเป็นที่นิยมนำมาเลี้ยงเป็นปลาตู้ไว้เพื่อความสวยงาม จนได้รับฉายาว่า "ราชินีแห่งปลาตู้" ปัจจุบันเป็นที่ยอมรับกันในวงการตลาดปลาสวยงาม และจัดเป็นปลาราคาแพง

หากจะพูดถึงสายพันธุ์ของปอมปาดัวร์ที่อยู่ในความนิยมในปัจจุบันมีหลายชนิด ไม่ว่าจะเป็นพันธุ์สีเดียว (Solid color) อย่างพวกบลูไดมอนด์, พันธุ์สีฟ้าตาแดง, พันธุ์สโนว์ไวท์ หรือปอมปาดัวร์ขาว, สีอื่นๆ อย่างเรดเทอร์คอร์ยส์, เรดแอนด์ไวท์ (Red & White) ฯลฯ แต่กระแสที่มาแรงตอนนี้คงหนีไม่พ้นปลาจุดต่างๆ ซึ่งมีต้นสายมาจากการพัฒนาปอมปาดัวร์เขียวอย่างพวกเสน็คสกิน ซึ่งมีจุดเล็กๆ ถี่ละเอียดกระจายอยู่ทั่วลำตัว แต่เดี๋ยวนี้ได้พัฒนาจนกระทั่งเป็นจุดกลมใหม่ สวยงามกว่าที่เห็นในอดีตไปอีกแบบหนึ่ง บางตัวก็มีปรากฏให้เห็นเป็นวงแหวนคล้ายเสือดาว ซึ่งพันธุ์ต่างๆ นี้ล้วนถูกพัฒนามาจากบรรพบุรุษสายพันธุ์ "รอยัลบลู" (Royal Blue) และ "รอยัลกรีน" (Royal Green) ต้นกำเนิดของปอมปาดัวร์ที่เพาะเลี้ยงกันอย่างแพร่หลายในปัจจุบัน

ทั้งนี้ ในยุคเริ่มต้นของการพัฒนาสายพันธุ์ ปอมปาดัวร์ห้าสีและปอมปาดัวร์เจ็ดสี นับเป็นชนิดที่มีสีสันสวยงามที่สุด เป็นปลาราคาแพงที่เพิ่งเข้ามาในตลาดปลาสวยงามบ้านเรา โดยผ่านการสั่งจากต่างประเทศ การเลี้ยงดูเรียกว่าต้องเลี้ยงแบบประคบประหงมพอสมควร มิเช่นนั้นแล้วปลาจะตื่นตกใจและตายในที่สุด บุคคลกลุ่มสำคัญที่เลี้ยงปลาเหล่านี้คือ ชาวไทยเชื้อสายจีนที่มีฐานะดี ด้วยเหตุนี้เองที่ทำให้ปอมปาดัวร์ยังไม่แพร่หลายไปในวงกว้างเท่าใดนัก แต่ยังมีกลุ่มที่ชื่นชอบและเห็นว่าเป็นปลาเศรษฐกิจที่ดีตัวหนึ่ง บวกกับโชคดีที่สภาพภูมิอากาศของบ้านเราเหมาะสมกับปลาปอมปาดัวร์ ซึ่งเป็นปลาเขตร้อนมากกว่าประเทศเมืองหนาวอื่นๆ รวมถึงอาหารการกินของปลาที่จะชอบกินตัวอ่อนของแมลงน้ำต่างๆเป็นอาหาร ปัจจัยเหล่านี้นับเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ยังคงมีการเพาะพันธุ์ และในขณะเดียวกันก็พัฒนาสายพันธุ์ให้ดียิ่งๆ ขึ้นไปในเมืองไทย

สำหรับปลาปอมปาดัวร์ฝีมือไทยทำที่เรียกเสียงฮือฮาจากเวทีโลกได้มากที่สุดคงจะหนีไม่พ้น "ปอมปาดัวร์ฝุ่น" หรือ "ปอมฝุ่น" มีพื้นสีขาวอมฟ้าและมีลายสีส้ม บนพื้นลำตัวมีจุดเล็กๆ สีดำกระจายอยู่ทั่วไป ปอมฝุ่นเป็นปลาที่เกิดจากการผ่าเหล่าของปอมเจ็ดสี ถูกนำไปโชว์ตัวครั้งแรกบนเวทีอะควาราม่า ซึ่งเป็นงานปลาสวยงามที่ใหญ่เป็นลำดับต้นๆ ของโลกเมื่อปี พ.ศ.2534 ปอมปาดัวร์ชนิดนี้เป็นต้นธารที่ทำให้เกิดปอมปาดัวร์สีใหม่ๆ อีกหลายตัว

อุปนิสัย

ปอมปาดัวร์เป็นปลาที่มีนิสัยค่อนข้างรักสงบ ไม่เหมาะที่จะปล่อยรวมกันกับปลาอื่น หรือปล่อยเลี้ยงรวมกันในตู้ที่แน่นจนเกินไป ปกติแล้วจะไม่ค่อยก้าวร้าว ซึ่งผิดแผกแตกต่างไปจากปลาชนิดอื่นๆ ในตระกูลเดียวกันที่ส่วนใหญ่แล้วจะมีนิสัยค่อนข้างดุร้าย ก้าวร้าว เว้นเสียแต่ในช่วงฤดูผสมพันธุ์วางไข่เท่านั้น ทั้งนี้ ถ้าอาศัยอยู่ในถิ่นธรรมชาติก็มักหวงอาณาเขตหากิน และมีจ่าฝูงเที่ยวรังแก รังควานปลาตัวอื่นๆ ไปทั่ว โดยเฉพาะเมื่ออยู่ในตู้เลี้ยงแคบๆ จะไม่ชอบอาศัยอยู่รวมกับปลาตัวอื่นๆ มักจะกัดกันเองอยู่เสมอ

อาหารและการเลี้ยงดู

ด้วยความที่มีนิสัยชอบสันโดษ ตู้ที่ใช้เลี้ยงปลาชนิดนี้จึงควรวางในที่เงียบสงบ และต้องดูแลเอาใจใส่อย่างดี โดยเฉพาะเรื่องความสะอาด เนื่องจากปลาปอมปาดัวร์จัดเป็นปลาที่ต้องการความสะอาด มีความอ่อนไหวง่ายมากกับสภาพน้ำและสภาพอากาศจึงจัดเป็นปลาชนิดหนึ่งที่เลี้ยงยากมาก จำเป็นต้องใช้ฮีตเตอร์เพื่อควบคุมอุณหภูมิ

สำหรับน้ำที่ใช้เลี้ยงปลาตู้ได้ดีที่สุดแล้วก็คือ ประปาแต่ทว่ามิใช่เป็นน้ำที่ไขออกจากมาใส่ตู้ปลาเลย จำเป็นต้องเตรียมน้ำตามกรรมวิธีเสียก่อนจึงจะปลอดภัยสามารถนำมาใช้เลี้ยงปลาได้ ทั้งนี้ก็เนื่องจากว่าน้ำประปา เป็นน้ำที่มีคลอรีน อันเป็นสารที่ใช้ฆ่าเชื้อโรคปนอยู่มากเป็นอันตรายต่อปลาทุกชนิด เมื่อจะนำน้ำประปามาใช้เลี้ยงปลาตู้ จึงควรรองน้ำจากก๊อกมาตากแดดปล่อยทิ้งไว้อย่างน้อย 1-3 วัน

ในเรื่องอาหารของปลาปอมปาดัวร์ ตามธรรมชาติแล้ว ปลาปอมปาดัวร์จะกินอาหารหลายอย่าง เช่น แมลงเล็กๆ ตัวอ่อนของแมลง ลูกน้ำ และพืชต่างๆ แต่สำหรับการเลี้ยงในตู้อาหารที่ใช้เลี้ยง ได้แก่ ลูกน้ำ ไส้เดือน หนอนแดง ไข่กุ้ง ไรแดง เป็นต้น สิ่งสำคัญคือ ปริมาณอาหารและคุณค่าของอาหารที่ได้สัดส่วน จำนวนครั้งในการให้อาหารควรจะเป็นดังนี้ ปลาเล็กแล้ว ให้บ่อยๆ ได้ แต่ไม่ควรเกิน 7 – 8 ครั้งต่อวัน ปลาขนาดกลาง ควรจะให้ 5 – 6 ครั้งต่อวัน ส่วนปลาขนาดใหญ่ ให้อาหาร 3 – 4 ครั้งก็เพียงพอ

โรคที่มักพบในปลาปอมปาดัวร์

โดยส่วนมากปลาปอมปาดัวร์มักจะป่วยเป็นอยู่ 2 โรค คือ

1. โรคตกหมอก อาการของโรคตกหมอก มีเมือกคลุมลำตัว ไม่กินอาหาร รักษาโดย ถ่ายพยาธิ

2. โรคขี้ขาว อาการของโรคขี้ขาว อุจจาระสีขาว ซีด ไม่ค่อยกินอาหาร รักษาโดย การเติมเกลือ 0.1%

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

Custom Search

บทความที่ได้รับความนิยม