ปลากดหัวผาน (อังกฤษ: Shovelnose sea catfish) ปลาน้ำจืดและน้ำกร่อยชนิดหนึ่ง มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Hemiarius verrucosus อยู่ในวงศ์ปลากดทะเล (Ariidae)มีรูปร่างคล้ายปลากดคัง (Hemibagrus wyckioides) ซึ่งเป็นปลาต่างวงศ์กัน แต่จะมีส่วนหัวที่ยาวและปลายจะงอยปากยื่นแหลมกว่า พื้นลำตัวเป็นสีดำอมน้ำตาล ท้องสีขาว และมีหนวดที่ไม่ยาวเก่าปลากดคัง มีครีบทั้งหมด 8 ครีบ โดยครีบหลังจะยาวใหญ่กว่า เงี่ยงแหลมที่ก้านครีบหลังใหญ่และแหลมคมกว่า ครีบอกมีเงี่ยงขนาดใหญ่แหลมคม ก้านครีบอก ครีบหลัง ครีบท้องสีซีดจาง ครีบไขมันค่อนข้างเล็ก เส้นประสาทข้างลำตัวเล็กมากจนแทบมองไม่เห็น มีขนาดประมาณ 40 เซนติเมตร ใหญ่สุด 80 เซนติเมตร น้ำหนักเต็มที่ประมาณ 6 กิโลกรัม
พบอาศัยอยู่อย่างชุกชุมในอดีตในเขตน้ำกร่อยตอนใต้ถึงน้ำจืดในแม่น้ำบางปะกง แต่พบน้อยมากที่แม่น้ำเจ้าพระยา ในเขตอำเภอเมือง จังหวัดฉะเชิงเทรา จะพบได้บ่อยในอดีตในช่วงที่มีน้ำทะเลหนุน ที่สภาพน้ำมีความเค็มมาก ปลามักจะว่ายน้ำขึ้นทวนน้ำเพื่อหนีความเค็ม
ปัจจุบัน เป็นปลาที่พบได้น้อยมาก จนมีสภาพล่อแหลมต่อการใกล้สูญพันธุ์ (VN) ตามบัญชีแดง ของสหภาพนานาชาติเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติและทรัพยากรธรรมชาติ (IUCN) ในแม่น้ำเจ้าพระยา ในเขตจังหวัดพระนครศรีอยุธยา พบซากฟอสซิลเพียงไม่กี่ชิ้นที่ก้นแม่น้ำ และในแม่น้ำบางปะกงได้หายไปหลังปี พ.ศ. 2535 ซึ่งก่อนหน้านั้นสามารถจับได้ปีละหลายสิบตัว และมีทุกขนาดตั้งแต่น้ำหนัก 3-5 กิโลกรัม สันนิษฐานว่าเป็นเพราะการสร้างเขื่อนทดน้ำบางปะกง ทำให้ปลาไม่สามารถว่ายทวนน้ำหนีความเค็มได้เหมือนเช่นในอดีต
ปลากดหัวผานยังสามารถพบได้อีกที่ลุ่มแม่น้ำโขง ที่นั่นจัดว่าเป็นปลาที่หาได้ไม่ยาก นิยมนำมาบริโภคมีขายกันในตลาดสดในประเทศลาว โดยพบได้ตั้งแต่ตอนใต้ของน้ำตกหลี่ผี และคอนพะเพ็ง จนถึงจังหวัดกระแจะ ในประเทศกัมพูชา บริเวณปากแม่น้ำโขง แต่ในประเทศไทยไม่มีรายงานพบมานานแล้วกว่า 20 ปี จึงสันนิษฐานว่าอาจสูญพันธุ์ไปแล้วจากธรรมชาติ[1]
0 ความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น