11.10.2554

อาหารของไรน้ำนางฟ้า

อาหารของไรน้ำนางฟ้า
อาหารของไรน้ำนางฟ้านั้นส่วนมากจะเป็นพวกสาหร่ายขนาดเล็ก ที่สำคัญที่สุดคือ คลอเรลล่า พวกแบคทีเรีย ซากสารอินทรีย์ รวมถึงแพลงค์ตอนขนาดเล็กอื่นๆ ที่มีขนาดเล็กกว่า 60 ไมโครเมตร (เนื่องจากปากของไรน้ำนางฟ้ามีขนาดประมาณ 60 ไมโครเมตร) ที่อาศัยอยู่ในธรรมชาติ สำหรับการเพาะเลี้ยงในโรงเพาะฟักจะใช้คลอเรลล่าเป็นอาหารหลัก นอกจากนี้ยังมีการให้อาหารอื่น ทดแทนเมื่อสาหร่ายไม่เพียงพอ เช่น ยีสต์ โดยมีสัดส่วนการใช้ยีสต์ 0.8-1.0 มิลลิกรัมต่อตัวต่อวัน ผสมกับกากน้ำตาล 1.0 มิลลิลิตร สำหรับการให้น้ำหมักชีวภาพใช้น้ำหมักชีวภาพ 1.0 มิลลิลิตร ผสมกับกากน้ำตาล 1.0 มิลลิลิตรให้กินต่อตัวต่อวัน แต่ไม่ควรให้ติดต่อกันนานเกินไปจะทำให้คุณภาพน้ำเสียได้ และไรน้ำนางฟ้ามีสีซีด เพราะทั้งยีสต์และน้ำหมักชีวภาพไม่มีสารสีพวกคลอโรฟิวส์ ดังนั้นจึงควรให้สลับกับสาหร่าย

ช่วงของอุณหภูมิและช่วงแสงมีผลต่อไรน้ำนางฟ้าอย่างไรบ้าง
ช่วงแสงมีผลต่อการเพาะเลี้ยงไรน้ำนางฟ้า เพราะถ้าไรน้ำนางฟ้าได้รับแสงน้อยเกินไป อากาศไม่ปลอดโปร่ง จะทำให้การเจริญเติบโตของไรน้ำนางฟ้าโตช้าและอัตราการรอดต่ำ แต่ถ้าแสงมากเกินไปจะมีผลต่อการกินอาหารและการว่ายน้ำ นอกจากนี้ความเข้มข้นแสงยังมีผลต่อการผลิตอาหารไรน้ำนางฟ้า ได้แก่ สาหร่ายสีเขียวคลอเรลล่า เพราะเป็นพืชจึงต้องการแสงเพื่อการสังเคราะห์แสง หากได้รับแสงน้อยต่อวันอาจทำให้สาหร่ายสีเขียวคลอเรลล่าตายได้ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการเลี้ยงไรน้ำนางฟ้าด้วย

สำหรับการเปิดไฟในช่วงกลางคืนให้กับไรน้ำนางฟ้ามีความจำเป็นหรือไม่ ไม่จำเป็น ส่วนสาหร่ายสีเขียวอาจมีความจำเป็นในกรณีที่แสงไม่เพียงพอในช่วงกลางวันแต่โดยหลักการแล้วควรเปิดในช่วงค่ำ และช่วงเช้ามืดเสริมเพื่อให้ได้รับแสงในช่วงแสงที่เพียงพอเท่านั้น เพราะสาหร่ายสีเขียวก็ต้องการเวลาพักในช่วงมืดเช่นกันประมาณ 8 ชั่วโมงต่อวัน (อัตราส่วนระหว่างความมืดและแสงสว่างที่เหมาะสมคือ สว่าง : มืด = 16 : 8) ส่วนในช่วงดูหนาวที่แสงแดดน้อย มีปริมาณแสงไม่เพียงพอจำเป็นต้องเปิดไฟในช่วงเช้ามืดและช่วงเย็น และหากสาหร่ายยังได้รับแสงไม่เพียงพออาจจำเป็นต้องเปิดไฟมากกว่า 16 ชั่วโมง

ศัตรูของไรน้ำนางฟ้าและวิธีป้องกัน
ไรน้ำนางฟ้าเป็นสัตว์ที่ไม่มีอวัยวะสำหรับป้องกันตัวเอง และมีเปลือกนิ่มจึงตกเป็นอาหารของสัตว์กินเนื้อได้ง่าย ระหว่างการเลี้ยงถ้าไม่มีวิธีป้องกันที่ดีก็อาจจะต้องสูญเสียไรน้ำนางฟ้าจำนวนมาก ศัตรูที่พบได้บ่อยในการเลี้ยงในโรงเพาะเลี้ยงคือ ลูกน้ำยุง ในระยะตัวโม่ง บางครั้งถึงแม้จะมีขนาดเล็กกว่าไรน้ำนางฟ้าแต่ลูกน้ำจะกัดติดแน่นบริเวณส่วนหัวหรือลำตัวจนกว่าไรน้ำนางฟ้าจะตาย ซึ่งบางครั้งอาจจะไม่กินและกัดกินแค่บางส่วน

ศัตรูชนิดที่พบได้เสมอในบ่อดินคือ ตัวอ่อนแมลงปอ ตัวอ่อนแมลงปีกแข็งเกือบทุกชนิด รวมทั้งสัตว์กินเนื้อที่อยู่ในน้ำทุกชนิด มีรายงานว่าตัวอ่อนของแมลงปีกแข็งสามารถกินไรน้ำนางฟ้าตัวเต็มวัยได้ ส่วนวิธีการป้องกันในบ่อซีเมนต์หรือโรงเพาะฟักขนาดเล็กจะใช้มุ้งอวนในส่วนสีฟ้าล้อมป้องกันไม่ให้ยุงเข้ามาวางไข่ได้ แต่กรณีในบ่อดินซึ่งเป็นการเลี้ยงระบบเปิดจะป้องกันได้ยากแต่ก็สามารถปราบศัตรูได้โดยการกรองน้ำเข้าบ่อและหลังการเตรียมบ่อใสปุ๋ย และเติมน้ำควรรีบปล่อยไรน้ำนางฟ้าทันทีเพื่อให้เจริญเติบโตก่อนที่แมลงปอจะลงไปไข่และฟักเป็นตัวอ่อน จากการสังเกตพบว่าลูกน้ำในระยะตัวโม่งสามารถกินลูกไรน้ำนางฟ้าได้ 1 ตัวทุกๆ 2 ชั่วโมง ซึ่งถ้าบ่อตั้งอยู่กลางแจ้งหรือโรงเพาะฟักขนาดใหญ่ที่ไม่มีการปกปิดยุงและแมลงต่างๆ สามารถบินมาวางไข่ได้ตลอดเวลาซึ่งป้องกันได้ยาก แต่อย่างไรก็ตามแต่ละพื้นที่มักจะพบปัญหาที่แตกต่างกัน คงต้องสังเกตและแก้ปัญหาเป็นกรณีๆ ไป

โรคที่เกิดกับไรน้ำนางฟ้าและแนวทางป้องกันแก้ไข
โรคที่พบว่าเกิดกับไรน้ำนางฟ้ามีเพียงชนิดเดียว คือโรคสีดำ (Black disease) ซึ่งเกิดจากเชื้อแบคทีเรีย มีลักษณะเป็นแผ่นหรือแถบสีดำเกิดขึ้นบริเวณขาว่ายน้ำ หนวด และอาจลามไปยังส่วนอื่นๆ ของร่างกาย โรคนี้มักเกิดกับไรน้ำนางฟ้าตัวเต็มวัยที่เลี้ยงในน้ำที่มีคุณภาพไม่เหมาะสม เช่น มีค่าแอมโมเนียทั้งหมด เกิน 1.5 มิลลิกรัมต่อลิตร และค่าไนไตรท์-ไนโตรเจน เกิน 0.3 มิลลิกรัมต่อลิตร ต่อเนื่องกันเป็นเวลานาน หรือไรน้ำนางฟ้าที่อ่อนแอก็มักติดโรคนี้ได้ง่าย เมื่อไรน้ำนางฟ้าเป็นโรคสีดำจะไม่ตายในทันทีแต่จะทยอยตายในภายหลังที่เป็นโรค 2-5 วัน วิธีการรักษายังไม่มีการศึกษาว่าควรรักษาอย่างไร ฉะนั้นการเลี้ยงควรดูแลให้ไรน้ำนางฟ้ามีสุขภาพที่ดีอยู่เสมอ เพื่อเป็นการป้องกันไม่ให้เกิดโรคนี้กับไรน้ำนางฟ้าที่เลี้ยง และควรมีการป้องกันเรื่องคุณภาพน้ำที่ไม่ดีต่อเนื่องกันเป็นเวลาหลายชั่วโมง โดยการเปลี่ยนถ่ายน้ำให้มากขึ้นในช่วงไรน้ำนางฟ้าอายุมากขึ้นหรือเริ่มมีการวางไข่และควรใช้จุลินทรีย์ที่มีประโยชน์ เช่นในกลุ่มน้ำหมักชีวภาพต่างๆ ใส่ในบ่อเลี้ยงเพื่อย่อยสลายของเสียในบ่อและควบคุมเชื้อโรคที่จะเกิดกับไรน้ำนางฟ้าด้วย


เมื่อพบไรน้ำนางฟ้าเป็นโรคเกิดขึ้นในบ่อเลี้ยง หรือเพื่อป้องกันการเกิดโรค ควรมีการทำความสะอาดเครื่องมือที่ใช้ด้วยฟอร์มาลิน 10 เปอร์เซ็นต์ นาน 10 ชั่วโมง ก่อนล้างและตากให้แห้ง และแช่บ่อเลี้ยงด้วยคลอรีน 10-20 กรัมต่อน้ำ 1 ลูกบาศก์เมตร หรือล้างบ่อและตากบ่อทิ้งไว้หลายๆ วัน แต่กรณีบ่อซีเมนต์ถ้าทาสีใหม่ทับปีละครั้งจะสามารถป้องกันได้เป็นอย่างดี

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

Custom Search

บทความที่ได้รับความนิยม