วงศ์ปลาดุกไฟฟ้า (วงศ์: Malapteruridae, อังกฤษ: Electric catfish) วงศ์ปลาหนังน้ำจืดจำพวกหนึ่ง พบเฉพาะในทวีปแอฟริกาตอนเหนือและตะวันออกบริเวณแม่น้ำไนล์ มีทั้งหมด 2 สกุล พบทั้งหมด 25 ชนิด
มีลำตัวมีรูปร่างกลมป้อม หัวหนา ตามีขนาดเล็ก มีครีบ 7 ครีบ แต่ไม่มีครีบหลัง มีเพียงครีบไขมัน ขนาดใหญ่ อยู่ด้านหลังใกล้โคนหาง ครีบอก 1 คู่ ไม่มีเงี่ยง ครีบท้อง 1 คู่มีขนาดเล็ก ครีบก้นอยู่ตรงข้ามกับครีบไขมัน หางมีขนาดใหญ่เป็นรูปพัด มีหนวด 3 คู่ รอบริมฝีปากมีหนังหนา มีอวัยวะสร้างไฟฟ้า 1 คู่โดยฝังอยู่ใต้ ผิวหนังที่หนาบริเวณลำตัวข้างละอันการปล่อยกระแสไฟฟ้าอยู่ภายใต้การควบคุมของระบบประสาท โดยปกติจะปล่อยกระแสไฟฟ้าเวลาหาอาหารหรือป้องกันตัวเท่านั้น ปลาที่มีขนาดใหญ่สามารถสร้างกระแสไฟฟ้าขนาด 1 แอมแปร์ และแรงคลื่นกว่า 100 โวลท์ได้ ซึ่งกระแสไฟฟ้าขนาดนี้ในน้ำสามารถ ทำอันตรายต่อศัตรู หรือแม้กระทั่งมนุษย์ได้ แต่แม้กระนั้นกระแสไฟฟ้าของปลาดุกไฟฟ้าเมื่อเทียบกับ ปลาไหลไฟฟ้า (Electrophorus electricus) ก็ยังจัดว่ามีกำลังอ่อนกว่ามาก เพราะปลาไหลไฟฟ้าขนาดใหญ่บางตัวสามารถสร้างไฟฟ้าที่มีแรงคลื่นสูงถึง 600 โวลท์ ซึ่ง เป็นอันตรายร้ายแรงต่อสัตว์ทุกชนิด สีตัวของปลาดุกไฟฟฟ้า ด้านหลังเป็นสีน้ำตาลลอมเทา ส่วนด้านท้องมีสีจางกว่า ตามตัว มีปละสีดำกระจายทั่วตัวจะมากหรือน้อยไม่แน่นอน ตามครีบมีสีอ่อน โคนครีบหางมีสีดำจางพาดลงมา โดยเฉพาะในตัวที่มีขนาดเล็ก ปลาดุกไฟฟ้าเป็นปลาที่รู้จักของมนุษย์มาตั้งแต่สมัยอียิปต์โบราณไม่ต่ำ กว่า 6,000 ปี ทั้งนี้โดยมีหลักฐานจากภาพแกะสลักบนแผ่นดินที่พบในปิรามิดของอียิปต์ นิยมใช้เนื้อบริโภคในท้องถิ่น
เป็นปลากินเนื้อ มักซุกซ่อนตัวอยู่นิ่ง ๆ ตามวัสดุใต้น้ำ เช่น โพรงไม้, สาหร่าย หาเหยื่อในเวลากลางคืนด้วยการสร้างกระแสไฟฟ้าเพื่อสลบเหยื่อ การขยายพันธุ์เชื่อกันว่าเป็นปลาที่ฟักไข่ในปาก
ปลาดุกไฟฟ้า ชนิดที่ใหญ่ที่สุดโตเต็มได้ราว 1.22 เมตร คือ ชนิด Malapterurus microstoma ปัจจุบันนิยมเลี้ยงเป็นปลาสวยงาม ซึ่งต้องเลี้ยงเดี่ยว ๆ เพียงตัวเดียวเนื่องจากเป็นปลาที่ก้าวร้าว ซ้ำยังสามารถปล่อยไฟฟ้าใส่ปลาชนิดอื่นได้อีก
ซึ่งคำว่า Malapteruridae ที่ใช้เป็นชื่อวงศ์ทางวิทยาศาสตร์นั้น มาจากภาษากรีกคำว่า Mala หมายถึง นุ่มนิ่ม, pteron หมายถึง ครีบ และ oura หมายถึง หาง
0 ความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น