เป็นปลาหนัง (ปลาไม่มีเกล็ด) รูปร่างเพรียวยาว ลำตัวแบนข้างมากส่วนหัวมักแบนราบหรือแบนข้างในบางชนิด ปากกว้าง มีฟันซี่เล็กและแหลมขึ้นบนขากรรไกรและเป็นแผ่นบนเพดาน มีหนวด 2-3 คู่ครีบก้นยาวมากกว่าครึ่งหนึ่งของความยาวลำตัว ไม่มีครีบไขมัน ครีบหลังเล็กมาก ไม่มีก้านครีบแข็งแหลมที่ครีบอกและครีบหลัง ครีบหางเว้าตื้นหรือเป็นแฉก ครีบอกมีขนาดใหญ่ ครีบท้องเล็ก กินเนื้อ ได้แก่ แมลงขนาดเล็ก, ปลาขนาดเล็ก, กุ้งฝอย สัตว์หน้าดินต่างๆ วางไข่แบบจมติดกับวัสดุใต้น้ำ กระจายพันธุ์ไกล พบตั้งแต่ยุโรป, เอเชียตอนบน, อินเดียไปจนถึงอินโดนีเชีย เป็นปลาเศรษฐกิจสำคัญชนิดหนึ่งของประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เช่น ประเทศไทย, กัมพูชา เฉพาะที่พบในประเทศไทยมีราว 30 ชนิด ชนิดที่เล็กสุดคือ ก้างพระร่วง (Krytopterus bicirrhis) ที่มีความยาวราว 10 ซม. นิยมเลี้ยงเป็นปลาสวยงาม และชนิดใหญ่ที่สุดคือ เค้าขาว (Wallago attu) ใหญ่ได้ถึง 2 เมตร
•1.ก้างพระร่วง
เป็นชื่อปลาน้ำจืดชนิดหนึ่ง มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Krytopterus bicirrhis อยู่ในวงศ์ปลาเนื้ออ่อน Siluridae มีลักษณะลำตัวเพรียวยาวและแบนข้างมาก ตัวโปร่งใส จนสามารถมองเห็นอวัยวะภายในได้ชัดเจน อาจกล่าวได้ว่าเป็น " ปลาที่ตัวใสที่สุดในโลก " ก็ว่าได้ มีหนวดคู่ 2 คู่อยู่ที่ขากรรไกรบนและล่าง โดยหนวดคู่บนจะยาวกว่าคู่ล่างมาก ครีบหลังมีขนาดเล็กและสั้นมากจนแทบมองไม่เห็น ครีบทวารเป็นแนวยาวจรดโคนหาง หางมีลักษณะเว้าลึก อาศัยอยู่ตามแม่น้ำและลำธารที่มีกระแสน้ำไหลแรงในภาคกลาง ภาคตะวันออกและภาคใต้ของ ประเทศ โดยปลาที่พบในแม่น้ำลำคลองตัวจะมีสีขุ่นกว่าที่พบในแหล่งน้ำบริเวณเชิงเขา เชื่อว่าสาเหตุเพราะปลาต้องปรับตัวให้กลมกลืนกับสภาพแวดล้อมเพื่อหลีกเลี่ยง ศัตรู ขนาดโดยเฉลี่ยประมาณ 10 ซ.ม. พบใหญ่ที่สุดราว 15 ซ.ม.
อาศัยอยู่เป็นฝูงใหญ่จำนวน 100 ตัวขึ้นไป ชอบเกาะกลุ่มในแหล่งน้ำไหล โดยจะลอยตัวอยู่นิ่ง ๆ และหันหน้าสู้กระแสน้ำไปในทิศทางเดียวกันหมด เป็นปลาขี้ตื่นตกใจมาก เมื่อตกใจจะว่ายกระจัดกระจายไปคนละทิศละทาง จากนั้นก็จะกลับมาเกาะกลุ่มตามเดิม อาหารได้แก่ แมลงน้ำขนาดเล็กและแพลงก์ตอนสัตว์
ก้างพระร่วง เป็นปลาเนื้ออ่อนที่นิยมเลี้ยงเป็นปลาสวยงามมากกว่าจะนำมาบริโภค และขึ้นชื่อมานาน โดยเป็นปลาส่งออกด้วย มีปรัมปราเล่ากันว่า พระร่วงได้ เสวยปลาชนิดนี้จนเหลือแต่ก้าง จึงทิ้งลงน้ำและกล่าววาจาสัจว่าขอให้ปลาตัวนี้ฟื้นคืนชีพขึ้นมา จึงได้ชื่อว่า " ก้างพระร่วง " นับแต่นั้นมา นอกจากชื่อก้างพระร่วงแล้ว ยังมีชื่อเรียกอื่น ๆ อีกว่า ผี, ก้าง, กระจก, เพียว เป็นต้น
นอกจากก้างพระร่วงชนิด Krytopterus bicirrhis แล้วยังมีก้างพระร่วงอีกชนิดหนึ่งที่มีความใกล้เคียงกัน มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Krytopterus macrocephalus โดยก้างพระร่วงชนิดนี้จะมีขนาดลำตัวที่ใหญ่กว่า หนวดยาวกว่า อาศัยอยู่เฉพาะป่าพรุโต๊ะแดง ที่จังหวัดนราธิวาส เท่านั้น มีลำตัวที่ขุ่นทึบกว่า โดยมีอุปนิสัยและพฤติกรรมเหมือนกัน ปลาก้างพระร่วงชนิดนี้มีชื่อเรียกว่า ก้างพระร่วงป่าพรุ หรือ เพียวขุ่น
0 ความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น