8.28.2555


สัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนมหลายชนิด จะมีการอพยพย้ายถิ่นฐานตามแต่ฤดูกาล โดยจะย้ายถิ่นฐานจากถิ่นเดิมที่เคยอยู่อาศัย เมื่อสภาพสิ่งแวดล้อมเปลี่ยนแปลงไป เช่นแหล่งอาหารที่เคยอุดมสมบูรณ์เริ่มขาดแคลน สภาพอากาศมีความหนาวเย็นเกินไปหรือร้อนจัดจนเกินไป ไม่สามารถดำรงชีวตอยู่ได้ หรืออาจอพยพย้ายถิ่นฐานเพื่อหาแหล่งที่อยู่อาศัยที่เหมาะสมสำหรับการผสมพันธุ์ การอพยพย้ายถิ่นฐานของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนมจะขึ้นอยู่กับสิ่งปลุกเร้าทางสรีระร่างกายด้วย ซึ่งเกิดจากการเปลี่ยนแปลงทางกายภาพ และเมื่อสภาพภูมิอากาศกลับคืนสู่สภาพเดิม ก็จะอพยพย้ายถิ่นฐานกลับมายังถิ่นเดิม และจะปฏิบัติเป็นประจำทุก ๆ ปี[11]

ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจนในเรื่องของการอพยพย้ายถิ่นฐานของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนม ได้แก่การอพยพของสัตว์ที่มีกีบเช่นกวางเรนเดียร์ที่อาศัยในแถบทวีปอเมริกาเหนือ ซึ่งนักชีววิทยาได้ทำการติดตาม ค้นคว้าและสำรวจถึงพฤติกรรมอันแปลกประหลาดของกวางเรนเดียร์ ที่จะต้องอพยพย้ายถิ่นฐานในทุก ๆ ปี ซึ่งพฤกติกรรมดังกล่าวมีระยะเวลามากกว่าร้อยปีขึ้นไป กวางเรนเดียร์จะอาศัยอยู่ในแถบเขตแดนที่ทุรกันดารทางตอนเหนือของอเมริกาในช่วงฤดูร้อน และอพยพลงทางตอนใต้ในช่วงเดือนกรกฎาคมของทุกปี โดยใช้เส้นทางเดิมที่อพยพจากทางตอนเหนือของอเมริกา และระหว่างการอพยพจะมีการผสมพันธุ์กันด้วย

เมื่อถึงช่วงฤดูหนาวกวางเรนเดียร์จะอยู่กับที่ ไม่เดินทางย้ายไปไหนจนกระทั่งย่างเข้าสู่ฤดูใบไม้ผลิ จึงจะเริ่มการอพยพย้ายกลับคืนถิ่นฐานในอเมริกาเหนืออีกครั้ง ระหว่างทางกวางเรนเดียร์ที่ได้รับการผสมพันธุ์จากการเดินทาง จะออกลูกในช่วงการอพยพย้ายกลับถิ่นฐานด้วย การอพยพของกวางเรนเดียร์จะเป็นการเนทางเป็นฝูงใหญ่ ด้วยปริมาณกวางจำนวนมากกว่าร้อยตัวขึ้นไป และมุ่งหน้าเดินทางเพียงอย่างเดียวโดยไม่หวั่นและเกรงกลัวต่ออุปสรรคตลอดการเดินทาง บางครั้งจากการติดตามการอพยพของกวางเรนเดียร์ นักชีววิทยาพบว่ามีกวางในฝูงจำนวนไม่น้อยกว่าร้อยตัว จมน้ำตายในขณะที่พยายามจะข้ามแม่น้ำที่เชี่ยวกราดหรือถูกสัตว์นักล่าโจมตีเป็นอาหารโดยที่ไม่ยอมเปลี่ยนทิศทางในการอพยพ

วาฬหลายชนิดในท้องทะเลและมหาสมุทร เช่นวาฬบาลีน วาฬอัมพ์แบค วาฬสีเทา จะมีการอพยพย้ายถิ่นฐานตามฤดูกาลเป็นประจำ ในระยะทางหลายพันกิโลเมตร แต่การอพยพของวาฬส่วนใหญ่ จะเป็นการอพยพเพื่อหาแหล่งที่เหมาะสมในการผสมพันธุ์และออกลูก ซึ่งการเดินทางด้วยระยะทางหลายพันกิโลเมตรทั้งการเดินทางไปและกลับโดยยึดเส้นทางเดินทางเดิมโดยไม่หลงทาง ยังเป็นสิ่งนักชีวิวิทยาและนักสัตววิทยา ยังไม่สามารถหาคำอธิบายได้อย่างชัดเจน[11]

ค้างคาวเป็นสัตว์ที่มีการอพยพย้ายถิ่นฐานเช่นเดียวกัน แต่การอพยพยของค้างคาวกลับมีไม่มากเหมือนกับสัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนมชนิดอื่น และมีเพียงไม่กี่ชนิดเท่านั้น โดยจะอพยพย้ายถิ่นฐานเพื่อหลบหนีอากาศที่หนาวเย็น ไปยังเขตพื้นที่ที่มีสภาพอากาศที่อบอุ่นกว่า

สัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนมและนก จัดเป็นสัตว์เพียง 2 กลุ่มเท่านั้นที่เรียกว่าสัตว์เลือดอุ่น (warm-blooded) ซึ่งมีความแตกต่างจากสัตว์ชนิดอื่น ๆ ที่เรียกว่าสัตว์เลือดเย็น (cold-blooded) โดยสัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนมนั้นจะมีอุณหภูมิร่างกายที่คงที่ อุณหภูมิภายในร่างกายจะอุ่นกว่าอุณหภูมิภายนอกร่างกายเสมอ แต่สัตว์เลือดเย็น ก็ไม่จำเป็นที่จะต้องมีเลือดที่เย็นเสมอไป ปลาที่อาศัยในเขตร้อน แมลงและสัตว์เลื้อยคลานต่างก็มีการพึ่งแสงแดดเพื่อเป็นการรักษาอุณหภูมิของร่างกายเช่นกัน และเป็นการช่วยรักษาอุณหภูมิของร่ายกายให้เท่าหรือเกือบเท่ากับสัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนมทั่วไป

แต่ในทางกลับกัน สัตว์เลือดอุ่นที่มีการจำศีลในตลอดช่วงระยะเวลาของฤดูหนาว จะมีอุณหภูมิของร่างกายที่ลดลงจนเกือบถึงจุดเยือกแข็งของน้ำ ซึ่งเป็นข้อโต้แย้งกันของนักสัตววิทยาที่ความหมายของสัตว์เลือดอุ่นและสัตว์เลือดเย็น ยังมีความหมายที่ไม่ชัดเจนมากนัก แต่ก็ยังเป็นคำเรียกที่นิยมใช้เรียกกันในปัจจุบัน[9]

สัตว์ที่จัดอยู่ในประเภทโฮมิโอเธอร์มิค (homeothermic) ได้แก่สัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนมและนก ซึ่งจะมีอุณหภูมิของร่างกายที่คงที่ ส่วนสัตว์ที่จัดอยู่ในประเภทพอยคิโลเธอร์มิค (poikilothermic) หมายถึงสัตว์ชนิดอื่น ๆ ซึ่งจะมีการปรับเปลี่ยนอุณหภูมิของร่างกายตามสภาพของภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม แต่ก็ยังมีความสับสนในเรื่องการปรับตัวตามสภาพภูมิอากาศ เช่น ปลาจัดเป็นสัตว์ประเภทพอยคิโลเธอร์มิค แต่สำหรับปลาที่อาศัยอยู่ในแถบท้องทะเลที่มีความลึกมาก ๆ จะอยู่ในสภาพภูมิอากาศที่ไม่มีการเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิมากนัก ทำให้ปลาในท้องทะเลลึกมีอุณหภูมิของร่างกายที่คงที่ หรืออาจจะเรียกได้ว่าเป็นสัตว์ที่จัดอยู่ในประเภทของโฮมิโอเธอร์มิคด้วยเช่นกัน

แต่สำหรับนกและสัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนมหลายชนิด ที่มีการเบี่ยงเบนของอุณหภูมิร่างกายในช่วงระยะเวลากลางวันและกลางคืน หรือตลอดฤดูการจำศีลก็อาจจะจัดให้อยู่ในประเภทพอยคิโลเธอร์มิคก็ได้ จากความสับสนในการจัดประเภทสัตว์นี้ ทำให้นักสัตววิทยาและนักชีววิทยานิยมเรียกสัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนมและนก ว่าเป็นสัตว์เลือดอุ่นหรือจัดอยู่ในประเภทโฮมิโอเธอร์มิค คือมีการรักษาอุณหภูมิของร่างกายให้คงที่ โดยการอาศัยความร้อนที่เกิดจากเมทาโบลิซึมภายในร่างกาย

สำหรับกระบวนการในการรักษาอุณหภูมิรางกายให้คงที่นั้น กระบวนการทางชีวเคมีและส่วนของระบบประสาท จะเข้ามามีบทบาทเกี่ยวข้องเป็นอย่างมาก กระบวนการนี้จะช่วยทำให้สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมมีความปราดเปรียว ว่องไวในฤดูหนาว รวมถึงมีพฤติกรรมที่สัตว์ชนิดอื่น ๆ ทำไม่ได้ ตามปกติอุณหภูมิร่างกายของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนมจะอยู่ระหว่าง 36 - 38 องศาเซลเซียส แต่สำหรับนกจะอยู่ที่ประมาณ 40 - 42 องศาเซลเซียส การรักษาอุณหภูมิร่างกายให้คงที่ เป็นการทำให้ความร้อนที่สร้างขึ้นภายในร่างกาย กับความร้อนที่สูญเสียไปอยู่ในสภาวะที่สมดุล[9]

ความร้อนภายในร่างกายของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนม เกิดจากเมทาโบลิซึมที่ประกอบไปด้วยออกซิไดร์อาหาร กระบวนการเมโทบาลิซึมภายในเซลล์จะมีการหดตัวของกล้ามเนื้อ ความร้อนจะสูญเสียไปโดยการถ่ายเทไปยังที่เย็นกว่า โดยการระเหยของน้ำ สัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนมสามารถควบคุมกระบวนการทั้ง 2 กระบวนการคือ สร้างและระบายความร้อน เมื่อร่างกายเริ่มเย็นก็จะเพิ่มความร้อนด้วยการทำงานของกล้ามเนื้อ และลดการสูญเสียความร้อนด้วยการเพิ่มฉนวนความร้อน เมื่อร่างกายเริ่มอุ่นหรือร้อนเกินไป ก็จะลดการสร้างความร้อนและเพิ่มการระบายความร้อนออกจากร่างกายแทน


ชะมดแปลงลายแถบ หรือ อีเห็นลายเมฆ (อังกฤษ: Banded linsang, ชื่อวิทยาศาสตร์: Prionodon linsang) เป็นชะมดชนิดหนึ่งที่มีการกระจายพันธุ์ในแถบคาบสมุทรมาเลย์, เกาะสุมาตรา, เกาะบอร์เนียว และชวาตะวันตก รวมทั้งในประเทศไทยตั้งแต่บริเวณคอคอดกระลงไป

ชะมดแปลงลายแถบ จัดเป็นชะมดชนิดหนึ่งที่ไม่มีต่อมกลิ่น มีลายเป็นแถบคดเคี้ยวขวางบริเวณหลังทั้งหมด 5 แถบ และตามด้านข้างของคอและลำตัว จุดจะติดกัน กลายเป็นแถบคดเคี้ยวมีอยู่ด้านละ 2 แถบ สีพื้นของตัวเป็นสีน้ำตาลแกมเหลืองซีด ๆ หางมีปล้องสีขาวสลับดำอยู่ 7 ปล้อง ไม่มีขนแผงคอหรือแผงหลัง มีขนาดตัวยาวจากหัวถึงหาง 74 เซนติเมตร อาศัยและหากินบนต้นไม้มากกว่าจะลงมาพื้นดิน กินอาหาร ได้แก่ กระรอก, หนู, นก และจิ้งจก

มีฤดูผสมพันธุ์อยู่ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์-สิงหาคม สร้างรังออกด้วยเรียวไม้และใบไม้อยู่ในโพรงดินโคนต้นไม้ใหญ่ ออกลูกครั้งละ 2–3 ตัว มีอายุยืนเกือบ 10 ปี

เป็นสัตว์ป่าคุ้มครองตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พุทธศักราช 2535


หมาจิ้งจอก หรือ สุนัขจิ้งจอก หรือ จิ้งจอก (อังกฤษ: Fox, Jackal) จัดอยู่ในไฟลัมสัตว์มีกระดูกสันหลัง ชั้นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม วงศ์ Canidae ในเผ่า Vulpini ลักษณะทั่วไปของหมาจิ้งจอกจะมีขนาดลำตัวที่เล็กกว่าสุนัขบ้านทั่วไป และคล้ายกับสุนัขไทยพื้นเมือง จมูกแหลมยาว หูใหญ่ชี้ตั้ง ฟันกรามแข็งแรงและแหลมคม หางยาวเป็นพวง ขนสีน้ำตาลแกมเหลือง และตัวมีกลิ่นเหม็นมาก หมาจิ้งจอกมีทั้งหมด 27 ชนิด ใน 5 สกุล พบได้ทั่วโลก แม้กระทั้งขั้วโลกเหนือ สามารถปรับตัวให้เข้ากับทุกสภาพแวดล้อมได้ สำหรับในประเทศไทย หมาจิ้งจอกจัดอยู่ในสัตว์ป่าคุ้มครอง ตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พุทธศักราช 2535[1]

หมาจิ้งจอก มักถูกใช้เป็นสัญลักษณ์ของความเจ้าเล่ห์ ในความเชื่อของชาวเอเชียตะวันออก จิ้งจอกที่มีอายุมาก ๆ จะเป็นปีศาจสามารถแปลงร่างเป็นมนุษย์ได้ แต่อย่างไรก็ตาม ธรรมชาติของหมาจิ้งจอกนั้นไม่ทำร้ายคนอย่างที่คนส่วนใหญ่เข้าใจ และในนิทานหลายเรื่อง เช่น นิทานอีสปก็จะมีอ้างอิงถึงหมาจิ้งจอกอยู่มากด้วยเช่นกัน เช่น องุ่นเปรี้ยว, หมาหางด้วน หรือ สิงโตกับหมาจิ้งจอก เป็นต้น
ชอบออกหากินในเวลากลางคืน ส่วนเวลากลางวันมักจะนอนในโพรงดิน หากมีหลายตัวอาจจะไล่จับกินสัตว์ที่มีขนาดใหญ่ เช่น กวาง หรือสัตว์ขนาดเล็กเช่น กิ้งก่า จิ้งเหลน แย้ หรือซากสัตว์และผลไม้ โดยมากหากินตัวเดียวหรือเป็นคู่ คือประมาณ 2-4 ตัว ไม่ค่อยอยู่เป็นฝูง จะดุเมื่อจวนตัว[1]

ส่วนการผสมพันธุ์ หมาจิ้งจอกเริ่มผสมพันธุ์ได้เมื่อมีอายุ 2 ปี ระยะตั้งท้องนาน 2 เดือน ออกลูกครั้งละ 4-5 ตัว หมาจิ้งจอกมีอายุประมาณ 12 ปี สำหรับในประเทศไทยจะพบหมาจิ้งจอกได้เพียงชนิดเดียว คือ หมาจิ้งจอกทอง หรือ หมาจิ้งจอกเอเชีย[3]ซึ่งเชื่อว่า เป็นบรรพบุรุษต้นสายพันธุ์ของ สุนัขพันธุ์ไทยบางแก้ว ด้วย

กระแต

กระแต (อังกฤษ: Treeshrew, Banxring[1], อันดับ: Scandentia) เป็นอันดับของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมขนาดเล็กอันดับหนึ่ง ใช้ชื่ออันดับว่า Scandentia

กระแต มีลักษณะโดยรวมคล้ายกับกระรอก ซึ่งเป็นสัตว์ที่อยู่ในอันดับสัตว์ฟันแทะ (Rodentia) รวมทั้งมีพฤติกรรมความเป็นอยู่ที่คล้ายกัน หากแต่กระแตมีปากยื่นยาวกว่ากระรอก มีฟันเล็กหลายซี่ ไม่ได้เป็นฟันแทะ แบ่งออกเป็นฟันตัด 4 ซี่ ที่ขากรรไกรบน และ 6 ซี่ที่ขากรรไกรล่าง จึงไม่สามารถที่จะกัดแทะผลไม้หรือไม้เปลือกแข็งอย่างกระรอกได้ และมีนิ้วที่ขาคู่หน้า 5 นิ้ว ที่เจริญและใช้ในการหยิบจับได้ดี เหมือนเช่นสัตว์ในอันดับไพรเมต (Primate) หรืออันดับวานร กระแตมีขนปกลุมลำตัวสีเขียวหรือสีน้ำตาลเหมือนกระรอก มีหางยาวประมาณ 12-19 เซนติเมตร

กระแต นั้นหากินทั้งบนพื้นดิน โคนต้นไม้ และบนต้นไม้ กินได้ทั้งพืช และสัตว์เล็ก ๆ อย่าง แมลง หรือหนอน เป็นอาหาร โดยมากจะหากินในเวลากลางคืน และอาศัยอยู่ตามลำพังเพียงตัวเดียว แต่บางครั้งก็พบอยู่ด้วยกัน 2-3 ตัว เป็นฝูงเล็ก ๆ ออกลูกครั้งละ 2-3 ตัว โดยที่ก็ตกเป็นอาหารของสัตว์กินเนื้อขนาดใหญ่กว่า เช่น ชะมด หรืออีเห็น, แมวป่า หรือนกล่าเหยื่อ อย่าง เหยี่ยว หรืออินทรี ด้วย

กระแต กระจายพันธุ์อยู่ทั่วไปในป่าทวีปเอเชียแถบเอเชียใต้และเอเชียอาคเนย์ มีทั้งหมด 19 ชนิด 5 สกุล แบ่งออกได้เป็น 2 วงศ์ พบในประเทศไทย 5 ชนิด คือ กระแตเหนือ (Tupaia belangeri) และกระแตใต้ หรือกระแตธรรมดา (T. glis), กระแตเล็ก (T. minor), กระแตหางขนนก (Ptilocercus lowii) และกระแตหางหนู (Dendrogale murina)

เดิม กระแตเคยถูกจัดรวมอยู่อันดับเดียวกับอันดับสัตว์กินแมลง (Insectivora) เช่น หนูผี แต่ปัจจุบันได้ถูกแบ่งออกเป็นอันดับต่างหาก และกระแตถูกสันนิษฐานว่ามีบรรพบุรุษร่วมกันกับอันดับไพรเมตด้วย ด้วยมีนิ้วที่เท้าหน้าคล้ายคลึงกัน โดยวิวัฒนาการแยกออกจากกันในยุคอีโอซีนตอนกลาง

กวาง


กวาง (ชื่อวิทยาศาสตร์: Cervidae; อังกฤษ: Deer) เป็นวงศ์ทางชีววิทยา ของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมในอันดับสัตว์กีบคู่ (อันดับย่อยสัตว์เคี้ยวเอื้อง) มีลักษณะ ขนยาวหยาบสีน้ำตาล ตัวผู้มีเขาเป็นแขนง ผลัดเขาปีละครั้ง ตัวเมียมีขนาดเล็กกว่าและไม่มีเขา ลักษณะเขาตัน ไม่กลวง เป็นเกลียว บางชนิดอาจแตกแขนงได้มากเหมือนกิ่งไม้ ไม่มีถุงน้ำดี ชอบอยู่ตามลำพังตัวเดียวยกเว้นฤดูผสมพันธุ์ กินใบไม้อ่อน หญ้าอ่อน

สัตว์เคี้ยวเอื้องอื่นบางชนิดเรียกว่ากวางตามชื่อสามัญ แต่ไม่ใช่กวางแท้ เช่น สัตว์ในวงศ์กวางชะมด (ชื่อสามัญ: Musk deer; ชื่อวิทยาศาสตร์: Moschidae) และกวางผา (ชื่อสามัญ: Himalayan goral; ชื่อวิทยาศาสตร์: Naemorhedus goral)


อันดับไฮแรกซ์ (อังกฤษ: Hyrax, Dassie) เป็นอันดับของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมขนาดเล็กอันดับหนึ่ง ที่เรียกชื่อสามัญว่า ไฮแรกซ์ หรือ ตัวไฮแรกซ์ ใช้ชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Hyracoidea (/ไฮ-รา-คอย-เดีย/)

ลักษณะโดยรวมของไฮแรกซ์ มีลำตัวอ้วนป้อม มีขนปกคลุมทั้งลำตัว แลดูคล้ายหนูตะเภา ซึ่งเป็นสัตว์ในอันดับสัตว์ฟันแทะ (Rodentia) แต่ไฮแรกซ์มีอันดับแยกออกมาชัดเจน โดยมีขาหน้าเป็นกีบคล้ายกับพวกสัตว์ในอันดับสัตว์กีบคู่ หรือสัตว์กีบคี่ ขาหน้ามี 4 นิ้ว หูและหางสั้น ไม่มีเขี้ยว มีขนาดลำตัวยาวประมาณ 30-70 เซนติเมตร น้ำหนักตัวราว 4-5 กิโลกรัม

ไฮแรกซ์เป็นสัตว์ที่มีสายวิวัฒนาการใกล้เคียงกับสัตว์ในอันดับช้าง (Proboscidea) หรือช้างในปัจจุบัน ตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์ ด้วยว่ามีลักษณะของฟันซี่หน้า 2 ซี่บนขากรรไกรบนเช่นเดียวกันที่ยาว แต่ทว่าฟันเขี้ยวจะไม่งอกยาวออกมาเป็นงาเหมือนช้าง และมีข้อต่อนิ้วที่มีลักษณะคล้ายคลึงกัน

ไฮแรกซ์ เป็นสัตว์กินพืช สามารถกินพืชได้หลากหลายประเภท ทั้งเมล็ดหรือหญ้า และยังกินพืชที่มีหนามและมีพิษได้อีกด้วย และเป็นสัตว์ที่สามารถปีนป่ายก้อนหินหรือโขดหินได้เป็นอย่างดี พบกระจายพันธุ์เฉพาะในทวีปแอฟริกาเท่านั้น มีพฤติกรรมอยู่รวมกันเป็นฝูง ชอบอาบแดดในเวลาเช้าแล้วจึงออกหาอาหาร โดยจะกินอย่างรวดเร็วและหันหลังชนกันและหันหน้าออกเพื่อจะคอยระวังสัตว์กินเนื้อ นอกจากนี้แล้วไฮแรกซ์ยังไม่เกรงกลัวมนุษย์ มักจะออกมาหาอาหารใกล้ ๆ กับชุมชนที่มีมนุษย์อาศัยอยู่เสมอ ๆ [2]

ไฮแรกซ์ แบ่งออกได้เป็น 5 วงศ์ (ดูในตาราง) แต่ได้สูญพันธุ์ไปแล้วตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์ 4 วงศ์ จึงเหลือเพียงวงศ์เดียว แบ่งออกได้เป็น 4 ชนิด

;;
Custom Search

บทความที่ได้รับความนิยม